นัดพบแพทย์

ใช้คอนแท็คเลนส์ปลอดภัย / โดย ผศ.พญ.ภัทนี สามเสน

07 Aug 2016 เปิดอ่าน 1970

คอนแท็คเลนส์เป็นเลนส์ขนาดเล็กที่ผลิตมาเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาสายตาทดแทนการใช้แว่นตา มีการนำมาใช้หลายสิบปีแล้ว

คอนแท็คเลนส์แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 2 ชนิด คือ แบบแข็ง และแบบนิ่ม โดยที่แบบแข็งนั้นไม่เป็นที่นิยมใช้ เนื่องจากมีความระคายเคืองตาในช่วงแรกที่เริ่มใช้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ การสั่งใช้ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญพอสมควรเพื่อให้ได้เลนส์ที่เหมาะสม ตรงกันข้ามกับแบบนิ่มที่ใส่สบายตั้งแต่แรกใช้ ในการสั่งใช้ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ทำให้คอนแท็คเลนส์แบบนิ่มครองตลาด

คอนแท็คเลนส์ต่างจากแว่นตาตรงที่วางอยู่บนตาดำ (กระจกตา) ตลอดเวลา ทำให้เกิดปัญหากับกระจกตาได้โดยง่าย อันตรายที่จักษุแพทย์กลัวมากที่สุดคือการติดเชื้อของกระจกตา เพราะรักษายาก มีโอกาสลุกลามไปติดเชื้อทั่วลูกตาได้ และถึงแม้จะรักษาหาย แต่ผู้ป่วยก็อาจเสียการมองเห็น เนื่องจากเกิดแผลเป็นฝ้าขาวขึ้น ทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปสู่ลูกตาได้ ผลคือไม่สามารถมองเห็นได้เช่นเดิมอีกต่อไป

การที่จะใช้คอนแท็คเลนส์แบบนิ่มได้อย่างปลอดภัยนั้น ประการแรก คอนแท็คเลนส์ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งาน ประการที่สอง การเลือกใช้ให้เหมาะสม (ขนาดสายตา ความโค้ง) สำหรับคอนแท็คเลนส์ชนิดนิ่มนั้นความโค้งไม่ค่อยสำคัญนัก ลักษณะจะคล้ายกับ free size คือขนาดเดียวใช้ได้กับทุกคน ดังนั้น เพียงเลือกขนาดสายตาให้ถูกต้องเท่านั้นก็พอ ซึ่งขนาดสายตาอาจจะไม่เท่ากับขนาดแว่น แต่ถ้าขนาดไม่ตรงก็ไม่ส่งผลเสียมากมาย เพียงแค่มองเห็นไม่ชัดเท่านั้น ประการสุดท้าย การใช้และการดูแลรักษาคอนแท็คเลนส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

การใช้งาน ไม่ควรใส่คอนแท็คเลนส์นอน เนื่องจากจะทำให้กระจกตาขาดอากาศ เกิดการบวม ง่ายต่อการติดเชื้อ ไม่ควรใช้เกินอายุของเลนส์ที่ระบุโดยผู้ผลิต การใส่และถอดเลนส์ควรได้รับการสอนอย่างถูกต้อง ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสเลนส์ทุกครั้ง ไม่ควรไว้เล็บยาว เนื่องจากจะทำให้เกิดบาดแผลที่กระจกตาได้ ไม่ควรใช้คอนแท็คเลนส์ร่วมกับผู้อื่น (ผลัดกันใส่) เนื่องจากจะทำให้มีการนำความสกปรกและเชื้อโรคข้ามไปมาได้

การดูแลรักษา แบ่งเป็นการทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อโรค ทุกครั้งที่ถอดเลนส์จากตาต้องทำความสะอาด ถูด้วยน้ำยา แล้วจึงเก็บแช่ค้างคืนในน้ำยาฆ่าเชื้อ และล้างอีกครั้งก่อนใส่ เปลี่ยนน้ำยาแช่ทุกครั้ง ร่วมกับการล้างทำความสะอาดตลับแช่เลนส์ทั้งด้านนอกและด้านในด้วยน้ำสะอาดและสบู่แล้วจึงปล่อยให้แห้ง ไม่ควรแช่เลนส์ทันทีหลังถอดโดยไม่ได้ทำความสะอาดก่อน เพราะนอกจากเลนส์สกปรกแล้วประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อจะไม่ดีอีกด้วย

ดังนั้น การที่จะใช้คอนแท็คเลนส์ได้อย่างปลอดภัยได้นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวเลนส์ได้มาตรฐานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบกับการให้คำแนะนำ ความรู้แก่ผู้ใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อที่กระจกตาที่เกิดจากคอนแท็คเลนส์มีจำนวนมากขึ้น และพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยลง เช่น เด็กมัธยมต้น ซึ่งปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครอง ในการติดตามดูแลความปลอดภัยของลูกหลานที่รักของท่าน

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : ผศ.พญ.ภัทนี สามเสน

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.lokwannee.com/web2013/?p=227490