นัดพบแพทย์

ใช้นิทานปราบเจ้าตัวเล็กอารมณ์ร้าย

04 Dec 2016 เปิดอ่าน 1734

เด็กวัย 3-5 ขวบ เป็นวัยที่เห็นได้ชัดมากเรื่องการพัฒนาทางอารมณ์  คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับใจเพื่อเข้าใจ ห้ามโมโหตามเด็ดขาดเลยนะคะ เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่โมโหและอารมณ์ไม่มั่นคงไปตามลูก เด็กๆ จะได้รับอิทธิพลนี้มาและติดตัวไปจนโต

เด็กเจ้าอารมณ์ในวัยนี้จะแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ออกมาอย่างเปิดเผยและมีอิสระเต็มที่ สาเหตุมาจากความกลัวและความอิจฉา ดูเหมือนจะไร้เหตุผลแต่อันที่จริงแล้ว เป็นเพราะเด็กๆ ช่วงวัยนี้จะเป็นวัยที่เริ่มเผชิญกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมภายในบ้านหรือนอกบ้าน ซึ่งคนภายนอกไม่เอาใจใส่เขาเท่าพ่อแม่ ในความรู้สึกเขาตอนก่อนหน้านี้เขาคือคนที่พ่อและแม่เอาใจใส่ที่สุด ดังนั้น เด็กๆ จะรู้สึกขัดใจ เด็กๆ จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนเองเป็นที่รักและยอมรับของบุคคลอื่นตามวิธีของเขา

วิธีแก้ไขปัญหานี้คือ การสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกๆ เติบโตขึ้นด้วยความสงบเงียบและได้รับความรักเอาใจใส่ พ่อแม่ที่มีอารมณ์มั่นคง จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีอารมณ์มั่นคงกว่าเด็กที่โตมากับสภาพแวดล้อมที่ตรงกันข้าม

ฟี้ขอแนะนำนิทานหลายๆ เล่มที่คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ จะใช้อ่านร่วมไปกับลูกๆ เพื่อสอดแทรกเนื้อหาให้เขาซึมซับและปรับภาวะทางอารมณ์เสริมเพิ่มเติมจากคำแนะนำที่เรียบเรียงจากบทความของคุณหมอพรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ค่ะ

  • ฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย และ รู้จักอดทนรอคอย
    เป็นเรื่องที่ฝึกได้ตั้งแต่เล็ก โดยพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องตอบสนองลูกทันทีทันใดทุกครั้ง เช่นคุณแม่เตรียมอาหารอยู่ แล้วลูกร้องหา อาจจะส่งเสียงไปก่อนเดินเข้าไปหา หรือเด็กจะให้แม่ทำอะไรให้ แต่คุณแม่ไม่ว่าง ก็บอกลูกว่าให้นั่งรอแม่เสร็จธุระและหาของให้เด็กเล่นรอไปก่อน รวมทั้งสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ควร ไม่ควร โดยใช้คำพูดที่ชัดเจน สั้น กระชับควบคู่ไปกับการปฏิบัติ เช่นเมื่อถึงเวลาทานอาหาร ก็ต้องบอกว่า “ตอนนี้เป็นเวลาทานอาหารนะจ๊ะ ถ้าหนูทานเสร็จแล้วจะเล่านิทานให้ฟัง(หรือสิ่งที่เด็กๆ ชื่นชอบ)” พร้อมทั้งพาเด็กมาที่โต๊ะอาหารทันที หากเขายังงอแงก็ปล่อยให้ร้องได้และใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ
  • วิธีจัดการเมื่อเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว เจ้าอารมณ์
    การที่เด็กๆ ร้องไห้เมื่อถูกขัดใจในการปรับพฤติกรรมนั้น เป็นเรื่องปกติ ไม่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตใดๆ ตรงกันข้าม ถ้าเราปล่อยให้ปัญหาพฤติกรรมที่เกิดต่อเนื่องไปจนโต เด็กอาจกลายเป็นเด็กใช้ความรุนแรง ดื้อ ต่อต้าน เข้าสังคมได้ยาก
  • หยุดพฤติกรรมทันทีเมื่อเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว
    ความก้าวร้าวในเด็กที่เราไม่ยอมให้เกิดขึ้น คือทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น และทำลายข้าวของ หากเด็กเริ่มมีพฤติกรรมเหล่านี้ให้จับตัวเด็กไว้ แล้วพูดด้วยเสียงหนักแน่นจริงจัง (แต่ไม่รุนแรง) ว่า “หนูไม่ชอบ ไม่พอใจได้ แต่หนูจะขว้างของแบบนี้ไม่ได้นะ” แล้วพาลูกไปเก็บของที่เขาปา หากมีของที่แตกหักเสียหาย และยังคงซ่อมแซมได้ ก็ให้เด็กมีส่วนร่วมในการซ่อมแซม หากเป็นในกรณีอื่นๆ “หนูกัดตัวเองไม่ได้นะ” “แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ แต่หนูตีน้องไม่ได้” เป็นต้น ถ้าเด็กอาละวาดมากอาจต้องหาผ้าผืนใหญ่ห่อตัวแล้วกอดไว้จนกว่าเด็กจะสงบ
  • อนุญาตให้เด็กร้องไห้ได้ เพราะเป็นเรื่องปกติที่เด็กจะโกรธเมื่อถูกขัดใจ
    ผู้ใหญ่ควรอยู่ในความสงบ ดูแลให้เด็กอยู่ในสายตาและดูแลความปลอดภัย หรืออาจจะพูดสั้นๆ ว่า “หนูร้องแบบนี้ เราคุยกันไม่รู้เรื่อง เงียบแล้วค่อยมาคุยกันนะจ๊ะ” การใช้เหตุผลเป็นเรื่องที่ดี แต่เนื่องจากเด็กวัยนี้ (3-5 ขวบ) มีข้อจำกัดด้านภาษา จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายยาวค่ะ

 

* ขอบคุณบทความจาก : https://zzzmagazine.com/2014/11/18/%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87/