นัดพบแพทย์

5 ขวบแล้ว ยังฉี่รดที่นอน

04 Dec 2016 เปิดอ่าน 1314

Q. ลูกอายุ 5 ขวบ ก่อนนอนตอนกลางคืนก็ปัสสาวะแล้ว แต่ก็ยังปัสสาวะรดที่นอนอยู่ ทั้งที่ไม่ได้กินนมขวดแล้ว ถือว่าผิดปกติไหมคะ แล้วปกติเด็กจะควบคุมตัวเองได้ตั้งแต่อายุเท่าไร คุณธรภัทร /จ.นครปฐม

A. ทราบข้อมูลเพียงเท่านี้ หมอยังให้คำตอบไม่ได้ค่ะว่าผิดปกติหรือไม่ เพราะสิ่งที่อยากรู้ให้แน่ชัดมีอีกหลายอย่าง เช่น น้องปัสสาวะรดที่นอนมาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน หรือเคยหยุดปัสสาวะรดที่นอนไปแล้วแต่กลับมาเป็นใหม่ ช่วงกลางวันน้องปัสสาวะราดด้วยหรือเปล่า และอาการผิดปกติอื่นๆ ของระบบการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ด เพราะสาเหตุของการปัสสาวะรดที่นอนนั้น มีได้หลายสาเหตุแตกต่างกันไปค่ะ

ปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการปัสสาวะรดที่นอน ได้แก่

พันธุกรรม จากการศึกษาประวัติครอบครัว พบว่าถ้าคุณพ่อหรือคุณแม่เคยมีปัสสาวะรดที่นอน ลูกมีโอกาสเกิดได้ 40-45% ถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่เคยมีปัสสาวะรดที่นอน พบการเกิดปัสสาวะรดที่นอนในลูกได้ถึง 70%

ความสามารถในการควบคุมการขับถ่ายล่าช้า หรือมีความผิดปกติ เพราะความสามารถในการควบคุมการปัสสาวะได้ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการปกติของเด็ก โดยทั่วไปเด็กควรจะคุมการปัสสาวะตอนกลางคืนได้เมื่ออายุ 5 ปี หากมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการที่ล่าช้า อาจทำให้เกิดการปัสสาวะรดที่นอนได้

ปริมาณปัสสาวะมากตอนกลางคืน อาจเกิดจากการดื่มน้ำหรือนมมากเกินไปก่อนนอน หรือมีความผิดปกติของการทำงานของไต หรือมีความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับปัสสาวะ

ความผิดปกติของระบบการขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย

ปัญหาด้านสังคมและจิตใจ มักพบบ่อยว่าเด็กเคยหยุดปัสสาวะรดที่นอนไปแล้วแต่กลับมาเป็นใหม่ มีสาเหตุจากความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการย้ายที่อยู่ ย้ายโรงเรียน มีน้องใหม่ เป็นต้น

หากเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือพัฒนาการล่าช้า สุดท้ายเด็กจะคุมการปัสสาวะได้เองในที่สุด แต่การรักษาอาจจะช่วยลดผลกระทบทางจิตใจ เช่น ความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง ความเครียดของครอบครัว

ดังนั้น แนะนำว่าคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอเด็กนะคะ เพื่อให้คุณหมอสอบถามประวัติเพิ่มเติม รวมทั้งตรวจร่างกายและส่งตรวจเพิ่มเติมตามความจำเป็น เพื่อที่จะได้หาสาเหตุและทำการรักษาตามสาเหตุต่อไป

สำหรับการรักษาจะมีทั้งในส่วนของการรักษาด้วยยาและไม่ใช้ยา หรือเรียกว่าพฤติกรรมบำบัด โดยคุณหมอจะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการรักษาค่ะ

พญ.พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://rakluke.com/article/6/28/614/5-%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7-%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%89%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99