นัดพบแพทย์

6 ปัจจัย ที่มาข้อสะโพกพัง

04 Sep 2016 เปิดอ่าน 6161

ข้อสะโพกเสื่อมอาจจะเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แม้แต่ในวัยเด็กอายุ 4-5 ขวบขึ้นไปก็สามารถพบโรคนี้ได้ สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมของข้อสะโพกนั้นมาจากหลายปัจจัยหลักๆ โดย นพ.วิโรจน์ ลาภไพบูลย์พงศ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี ดังต่อไปนี้

1. อายุ ข้อสะโพกที่เสื่อมไปตามกาลเวลา จะเป็นการเสื่อมชนิดที่เกิดขึ้นเองอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป พบว่ามีการสึกหรอของเซลล์กระดูกอ่อนที่คลุมอยู่บนหัวของกระดูกข้อสะโพก เกิดจากการที่ได้ใช้งานมาเป็นเวลานานๆ เมื่อเกิดภาวะข้อสะโพกเสื่อมขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีการปวด ขัด เคลื่อนไหวข้อสะโพกได้ลำบาก และอาจตามมาด้วยขาข้างนั้นสั้นลง เนื่องจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนบริเวณหัวข้อสะโพก ส่วนใหญ่จะพบในคนสูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น

 2. หัวกระดูกข้อสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยง ชนิดนี้เป็นชนิดที่พบได้บ่อยมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นภาวะที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด โดยการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่หัวข้อสะโพกไม่เพียงพอ จะทำให้กระดูกส่วนหัวข้อสะโพกค่อยๆ เสียไป และเกิดการทรุดตัวลงของส่วนหัวข้อสะโพก ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด ขาสั้นลง และเคลื่อนไหวได้น้อยลงเรื่อยๆ ภาวะนี้มักพบในผู้ชายอายุระหว่าง 20-50 ปี สาเหตุอาจจะเกิดขึ้นในภาวะที่แตกต่างกัน เช่น จากการรับทานยากลุ่มสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน หรือจากการรับทานยาบางอย่างโดยเฉพาะยาแก้ปวด ซึ่งจะพบสาเหตุนี้ค่อนข้างมากเนื่องจากชอบซื้อยารับประทานเอง หรือในนักดำน้ำที่ชอบดำน้ำลึก ๆ เป็นเวลานาน ๆ พบว่า มีอุบัติการณ์ในการเกิดหัวกระดูกข้อสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยงได้ เนื่องจากในขณะที่ดำน้ำลงไปลึกๆ แรงดันใต้น้ำจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำทำให้เกิดเป็นฟองแก๊สไนโตรเจนขึ้นเองในกระแสเลือดของนัก ดำน้ำ และไปอุดทางเดินของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวกระดูกข้อสะโพกอย่างรวดเร็ว

3. ความผิดปกติเกี่ยวกับรูปร่างของตัวข้อสะโพกมาแต่กำเนิด มีการเจริญเติบโตของกระดูกผิดที่ ทำให้การเคลื่อนไหวของตัวข้อสะโพกไม่สมดุล จึงเกิดความเสื่อมได้ง่ายตั้งแต่อายุยังน้อย

4. อุบัติเหตุที่ทำให้ข้อสะโพกแตกหักหรือหลุด เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อย เพราะเมื่อข้อสะโพกหลุดหรือแตกหัก จะทำให้บริเวณหัวกระดูกข้อสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยง ถ้าไม่รีบทำการรักษาโดยเร็วอาจจะเกิดข้อสะโพกขาดเลือดได้

5. เกิดจากโรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ โรคข้อกระดูกเชื่อมกันในคนอายุน้อย (Ankylosis Spondylitis)

6. มีการติดเชื้อในข้อสะโพกมาก่อน เช่น แบคทีเรีย วัณโรค

 


สังเกตอย่างไรว่าข้อสะโพกเริ่มมีปัญหา

การวินิจฉัย โรคข้อสะโพกเสื่อม ในระยะที่เกิดพยาธิสภาพแล้วค่อนข้างง่ายที่จะวินิจฉัย เนื่องจากสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากการตรวจด้วยการเอกซเรย์ธรรมดา แต่ในระยะแรกของโรคนั้นอาจจะยากกว่า แม้ว่าการตรวจร่างกายจะบ่งชี้ว่าตัวโรคอยู่ที่ข้อสะโพกแล้วก็ตาม ซึ่งการตรวจร่างกายที่บ่งชี้ว่าโรคเกิดกับข้อสะโพก คืออาการเจ็บปวดในขณะขยับหมุนข้อสะโพก ปวดขาหนีบ จนอาจร้าวไปที่ต้นขา นั่งขัดสมาธิไม่ได้ การเคลื่อนไหวของข้อสะโพกลดลงกว่าเดิม ขาสั้นลงไปมากกว่าเดิม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุมักต้องระวังภาวะกระดูกข้อสะโพกหัก แม้ผู้ป่วยไม่ได้ประสบอุบัติเหตุ แต่ถ้ามีอาการปวดเสียวบริเวณข้อสะโพก หรือมีภาวะขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ร่วมกับอาการปวดบริเวณข้อสะโพก ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจและเอกซเรย์บริเวณข้อสะโพกให้แน่ใจ

อย่างไรก็ ตาม อาการเจ็บปวดใดๆ ที่เกิดขึ้นกับข้อสะโพก ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องเกิดพยาธิสภาพกับตัวข้อสะโพก แต่อาจจะเป็นกับเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ข้อสะโพกได้ และที่สำคัญอาการเจ็บปวดบริเวณรอบๆ ข้อสะโพกอาจจะมีสาเหตุมาจากโรคกระดูกสันหลังก็เป็นได้เช่นกัน ดังนั้น หากสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับข้อสะโพก ก็ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้รู้แน่ชัดว่าสาเหตุมาจากอะไร เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที และตรงกับโรคที่เป็น.

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.9sabuy.com/article