นัดพบแพทย์

Microscope กับ Endoscope การผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้องที่ให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน!

11 Mar 2025 เปิดอ่าน 37

หลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่าการผ่าตัดหมอนรองกระดูกแบบ Microscope กับ Endoscope นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ในเมื่อเป็นการผ่าตัดแผลเล็กเหมือนกัน แต่รู้หรือไม่ การผ่าตัด 2 ประเภทนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นแผลเล็กเช่นกัน แต่ขนาดแผลและผลลัพธ์ที่ได้นั้นแตกต่างกัน!

จากผ่าตัดแบบดั้งเดิม…สู่การผ่าตัดผ่านกล้อง ทางเลือกการรักษาที่เจ็บน้อยกว่า

หากพูดถึงการผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกหรือโรคกระดูกกดทับเส้นประสาท ในอดีตนั้นถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่  เพราะการผ่าตัดแบบดั้งเดิมต้องทำการเปิดแผลผ่าตัดเป็นบริเวณกว้าง ต้องมีการตัดเลาะกล้ามเนื้อและกระดูกในบริเวณนั้นเพื่อให้เห็นตำแหน่งของการกดทับและเส้นประสาทได้อย่างชัดเจน ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้ทำให้เกิดความเสียหายบอบช้ำต่อกระดูกและกล้ามเนื้อโดยรอบ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุทำให้เสียเลือดในระหว่างผ่าตัดเป็นจำนวนมาก ทำให้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการปวดแผลผ่าตัดมาก ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดได้ง่าย รวมถึงต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นทั้งในโรงพยาบาลและหลังจากออกโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

การผ่าตัดผ่านกล้องจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง กล้ามเนื้อได้รับความบอบช้ำน้อยลงและลดการสูญเสียเลือดระหว่างผ่าตัด ส่งผลให้หลังผ่าตัด ผู้ป่วยมีจะมีอาการปวดแผลเพียงเล็กน้อย ใช้ระยะเวลาการพักฟื้นลดลง ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น อีกทั้งการผ่าตัดผ่านกล้องยังทำให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างที่กดทับเส้นประสาทรวมทั้งเส้นประสาทได้อย่างละเอียดชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทำให้การผ่าตัดสามารถทำได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย

Microscope กับ Endoscope สองเทคนิคผ่าตัดผ่านกล้อง…ที่แตกต่างกัน

สำหรับการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้องในปัจจุบันนั้นสามารถแบ่งออกได้หลักๆ เป็น  2 ประเภทคือ

  • การผ่าตัดผ่านกล้อง Microscope หรือ กล้องจุลทรรศน์  การผ่าตัดวิธีนี้ตัวกล้องจะอยู่นอกตัวของผู้ป่วยแต่จะทำหน้าที่ช่วยขยายภาพในบริเวณที่เราจะทำการผ่าตัดให้ใหญ่ขึ้น โดยการผ่าตัดวิธีนี้ยังคงเป็นการผ่าแบบเปิด และถึงแม้ว่าแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กลง  แต่ยังคงมีการตัดเลาะกล้ามเนื้อและกระดูกออกบางส่วนเพื่อให้เห็นบริเวณที่ต้องการผ่าตัดชัดเจนขึ้น  ซึ่งอาจทำให้มีการเสียเลือดและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนบริเวณแผลหลังการผ่าตัดได้
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope  การผ่าตัดวิธีนี้ถือเป็นเป็นวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องที่ทันสมัยที่สุดวิธีหนึ่งในปัจจุบัน  โดยกล้องนั้นมีขนาดเล็กเพียงแค่ขนาดของปากกา  และมีความแตกต่างจากการผ่าตัดผ่านกล้อง Microscope อย่างชัดเจน นั่นคือ กล้อง Endoscope สามารถสอดเข้าไปในตัวผู้ป่วยได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลขนาดใหญ่  และสามารถเข้าไปถึงบริเวณตำแหน่งที่เป็นปัญหาโดยไม่จำเป็นต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อ ทำให้ลดโอกาสการเสียเลือดจากการผ่าตัดรวมทั้งการบอบช้ำของเนื้อเยื่อโดยรอบ  ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดน้อยลง ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง โดยปกติผู้ป่วยส่วนมากสามารถลุกเดินได้ทันทีในไม่กี่ชั่วโมงหลังได้รับการผ่าตัด  และจากการที่ตัวกล้อง Endoscope นั้นสามารถเข้าไปถึงบริเวณที่เป็นปัญหาได้โดยตรง  ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างและปัญหาได้อย่างชัดเจน โดยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะมองผ่านจากจอมอนิเตอร์ที่ฉายภาพมาจากกล้องที่สอดไว้ในตัวผู้ป่วยสามารถทำการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแม่นยำมากขึ้น

การผ่าตัดผ่านกล้องเหมาะกับใครบ้าง

  • ผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท
  • ผู้ที่มีภาวะโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบทับเส้นประสาท (Spinal canal stenosis)
  • ผู้ที่มีภาวะถุงน้ำจากข้อต่อกระดูกทับเส้นประสาท

ข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องได้

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งหรือติดเชื้อในกระดูกสันหลัง
  • ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในเส้นประสาทหรือไขประสาท

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope

  • แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก
  • เจ็บน้อยและเสียเลือดเพียงเล็กน้อย
  • ลดระยะเวลาการพักฟื้น
  • ลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยสามารถลงเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีอื่นๆ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุด  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการรักษา รวมถึงความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์เฉพาะทาง และการดูแลตนเองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และถึงแม้ว่าเทคโนโลยีในการผ่าตัดจะพัฒนาให้ล้ำสมัยเพียงใด แต่ผลการรักษานั้นยังคงขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นการป้องกันการเกิดโรคจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน ปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการนั่งท่าเดิมๆ เป็นระยะเวลานาน ไม่ยกของหนัก และหลีกเลี่ยงการไอหรือจามแรงๆ  รวมทั้งควรออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง

 

 

นพ. นันทวัฒน์ อุตตโม

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิคส์

ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2