นัดพบแพทย์

การเตรียมพร้อมสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ของผู้หญิงอายุ 30 ปี

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 2564

การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญที่หลายๆ คู่มองข้ามโดยเฉพาะในวัยที่เข้าสู่เลข 3 แล้วด้วย ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะอายุที่มากขึ้น อาจตามด้วยปัญหาต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น ดังนั้นควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการตั้งครรภ์ดังคำที่ว่าเตรียมพร้อมให้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง 

 

  1. การตรวจความพร้อมของร่างกาย ก่อนการมีบุตร หลายๆโรงพยาบาลมีโปรแกรม เตรียมความพร้อมก่อนสมรส หรือบางโรงพยาบาลเรียกว่า โปรแกรมก่อนมีบุตร หรือก่อนตั้งครรภ์ เป็นการตรวจความพร้อมก่อนการมีบุตร ควรตรวจทั้งสามีและภรรยา เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด รวมถึงหมู่เลือด การตรวจโรคโลหิตจางที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือ ทาลัสซีเมีย การตรวจโรคของการติดเชื้อต่างๆ เช่น ไวรัสเอดส์ ตับอักเสบชนิดบี ซิฟิลิส รวมถึงการตรวจภูมิคุ้มกันของหัดเยอรมัน (ตรวจเฉพาะในผู้หญิง) และการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ในกรณีที่มีโรคประจำตัวที่เป็นมาก่อน เช่น เบาหวาน หรือไทรอยด์ เป็นต้น

ตัวอย่างโปรแกรมการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

รายการตรวจ

หญิง

ชาย

ตรวจร่างกาย 

Physical Examination

*

*

ตรวจการเป็นพาหะนำโรคธาลัสซีเมีย

Hemoglobin Typing

*

*

ตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

CBC

*

*

ตรวจหมู่เลือด

ABO, Rh

*

*


ตรวจไวรัสตับอักเสบ B (ตรวจหาการติดเชื้อ)

ตรวจไวรัสตับอักเสบ B (ตรวจหาหาภูมิคุ้มกันโรค)

ตรวจไวรัสตับอักเสบ (ตรวจดูว่ามีภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน หรือ การติดเชื้อ)


HbsAg

Anti-HBs

Anti-HBc


*

*

*


*

*

*

ตรวจซิฟิลิส

VDRL

*

*

ตรวจไวรัสเอดส์

Anti- HIV

*

*

ตรวจภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหัดเยอรมัน

Rubella  Ig G

*

 

นอกจากนี้การตรวจภายใน เพื่อตรวจมะเร็งปากมดลูก ดูความผิดปกติชองอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก รังไข่ เพื่อให้ทราบว่ามีความผิดปกติอยู่ก่อนหรือไม่ ก็เป็นการดี เพราะเมื่อตั้งครรภ์แล้วมาตรวจพบที่หลังอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ก็เป็นได้ เช่น เนื้องอกมดลูก หรือถุงน้ำรังไข่ที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงการตรวจช่องปากและฟัน เพื่อดูว่ามีฟันที่ต้องควรได้รับการรักษาก่อนตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดปกติในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ เช่น อาการปวดฟัน ฟันผุ เป็นต้น

ถ้าผลการตรวจพบว่า ผิดปกติ เช่น พบการติดเชื้อของโรค ซิฟิลิส ตับอักเสบชนิดบี  ควรรักษาให้หายจากโรคนั้นๆ ก่อน เพื่อลดการถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูก

ถ้าพบว่าผลการตรวจปกติ แต่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันบางโรคที่มีวัคซีนฉีดป้องกัน เช่น ตับอักเสบชนิดบี หรือหัดเยอรมัน  แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันในช่วงก่อนตั้งครรภ์ เพราะถ้าเกิดการติดเชื้อในช่วงขณะตั้งครรภ์ โอกาสการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกจะสูง และควรเว้นการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน สำหรับคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อที่มีชีวิต (สมัยก่อนให้คุม 3เดือน ปัจจุบันตาม ACOG : American collage of Obstetricians and Gynecologists แนะนำให้คุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน 1 เดือนก็เพียงพอแล้ว)  ส่วนวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบชนิดบี ทำจากเชื้อที่ตายแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดหลังฉีดแต่อย่างใด

สิ่งที่ควรทานก่อนการตั้งครรภ์ ถ้าผลการตรวจพบว่าปกติดีทุกอย่าง แนะนำให้เริ่ม ทานยาโฟลิก หรือโฟแลต เพื่อป้องกันโรคระบบสมอง และไขสันหลัง ที่เรียกว่า NTD (Neural tube defects) เป็นโรคที่มีความผิดปกติที่เด็กอาจไม่มีกระโหลกศีรษะมาปิดเนื้อสมอง หรือมีรูเปิดของกระดูกไขสันหลัง หรือมีลักษณะเป็นถุงน้ำยื่นออกมาจากช่องสันหลัง การทานยาโฟลิก จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้มากกว่าร้อยละ 70

สิ่งที่ไม่ควรทานก่อนการตั้งครรภ์ ลด ละ เลิก สิ่งเสพติดทั้งหลาย เช่น เหล้า บุหรี่ ชา กาแฟ ต่างๆ ที่อาจงผลต่อการตั้งครรภ์ ยาทุกชนิด (ยกว้นโฟลิก) ควรงดใช้ วิตามินต่างๆถึงแม้จะช่วยบำรุงร่างกายแต่บางชนิดถ้ามากเกินไป อาจส่งผลต่อความพิการของลูกได้ เช่น วิตามิน เอ การใช้ยาเพื่อรักษาโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ หรือความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นยาที่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์

    1. การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความพร้อมทางร่างกาย เพราะจิตใจที่พร้อมที่ต้องการจะเป็นแม่ จะมีความตั้งใจ เอาใจใส่ในขณะตั้งครรภ์ และดูแลครรภ์ได้ตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด ผิดกับรายที่ตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม เช่นในกลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยความผิดพลาด ที่มักไม่สนใจ ปล่อยปะละเลยการดูแลครรภ์ ทำให้เกิดปัญหา หรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆในขณะตั้งครรภ์ได้สูง เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น นอกจากนี้ถ้าคุณแม่ตั้งท้องในขณะที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ และสุขภาพจิตดี ย่อมสงผลของทารกในครรภ์ให้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วยเช่นกัน

    2. การเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ เช่น

      1. ช่วงเวลาที่เหมาะสม บางคนคำนึงถึงปีราศีเกิดว่าเข้าได้กับพ่อแม่หรือเปล่า บางคนคำนึงถึงเดือนที่ตั้งท้อง และคลอด ที่มีผลต่อการเข้าเรียนของลูก เช่น การคลอดหลังเดือนพฤษภาคม อาจต้องเข้าเรียนช้าอีก 1 ปี เป็นต้น

      2. การเงิน ที่จะใช้ในช่วงของการฝากครรภ์ และการคลอด ปัจจุบัน หลายๆโรงพยาบาล มีแพ็คเกจสำหรับการคลอด ทำให้ทราบค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ (ในกรณีการคลอดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ) แต่ควรสำรองไว้จำนวนหนึ่ง เผื่อมีเหตุการณืที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น การคลอดก่อนกำหนดที่เด็กตัวเด็กอาจต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากกว่าปกติ

      3. โรงพยาบาล และคุณหมอที่จะดูแลช่วงการฝากครรภ์ และการคลอด ต้องมองหาข้อมูล ค่าใช้จ่ายความเหมาะสมในการเดินทาง และความสะดวกในการไปตรวจครรภ์ หรือไปคลอด กับคุณหมอที่โรงพยาบาลนั้นๆ

      4. การเตรียมคนที่จะมาช่วยดูแลลูกหลังคลอด เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง หรือการจ้างพี่เลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวที่คุณแม่ต้องกลับไปทำงานหลังคลอด

 

 นอกจากนี้ในรายที่อายุมารดามากกว่า 35 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High risk pregnancy) มีความเสี่ยงต่อการมีบุตรที่มีความผิดปกติของโครโมโซมได้สูงขึ้น ที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มอาการดาวน์ ซินโดรม (Down Syndrome) ซึ่งเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบมาฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้รับปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์เกี่ยวกับการตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ (เช่น การเจาะตรวจน้ำคร่ำ) จากแพทย์เฉพาะทาง และ ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมในการดูแลครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อไป

โดย นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข

* ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารบันทึกคุณแม่