นัดพบแพทย์

คุณแม่ตั้งครรภ์ทานยาได้มั้ย

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 91877

ยามีผลสำคัญต่อลูกน้อยในครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกและช่วงใกล้คลอด โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกอาจมีผลทำให้ทารกพิการหรือแท้งได้ เพราะเป็นช่วงที่ลูกกำลังสร้างอวัยวะ ถ้าเป็นช่วงใกล้คลอด อาจมีผลในลักษณะต่าง ๆ ต่อลูกหลังจากคลอดระยะแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยา รวมถึงยาที่ผ่านทางน้ำนมคุณแม่ด้วย จึงต้องระมัดระวังการใช้ยาอย่างมาก
 
ซึ่งเราสามารถแบ่งกลุ่มยาออกได้ดังนี้ค่ะ 
 
กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้
 
   Acetaminophen หรือ พาราเซ็ทตามอล ใช้สำหรับแก้ปวดต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ เป็นไข้ มีมากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด เช่น ไทลินอล ซาร่า ถ้าไม่มีการใส่ส่วนผสมของ โคดิอีน (Codeine) เข้าไป สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยทุกระยะของการตั้งครรภ์ ไม่มีรายงานการเกิดความผิดปกติ หรือพิการของทารกในครรภ์ จากการใช้ยานี้ ขนาดที่ใช้ สำหรับผู้ใหญ่ คือ ขนาดเม็ด 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
 
   Nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เป็นยากลุ่มต้านการอักเสบ เช่น บูเฟ่น ไอบูโปรเฟ่น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดไข้ได้ดี แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ มีรายงานการใช้ยาสัมพันธ์กับการแท้งบุตรในครรภ์ (spontaneous abortion)โดยเฉพาะการใช้ยาในไตรมาสที่สาม จะมีผลทำให้ลิ้นหัวใจทารกในครรภ์ปิดก่อนกำหนด (premature closure of the ductus arteriosus)
 
 กลุ่มยาลดน้ำมูก
 
          คลอร์เฟนนิรามีน (Chlorpheniramine)  หรือ CPM เป็นยาแก้คัดจมูก ลดน้ำมูก ไม่มีผลต่อความพิการของทารกในครรภ์ แต่มีผลข้างเคียง คือ ทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ในระหว่างใช้ยา
 
       ซูโดเอฟิดีน (Pseudoephedrine) มีรายงานวิจัยทั้งที่มีผลเสีย และไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงในกรณีที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะในไตรมาสแรก และคนที่มีความดันโลหิตสูงไม่ควรใช้ยานี้
 
 กลุ่มยาแก้ไอ
 
          เด็กซ์โตรเมทโทรเฟน (Dextromethorphan) , บอมเฮ็กซีน (Bromhexine) หรือไบโซลวอน (Bisolvon) ยาน้ำจิบแก้ไอ หรือยาแก้ไอน้ำดำต่างๆ เป็นยาลดอาการไอ ละลายเสมหะ ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยต้องเป็นชนิดที่ไม่มี แอมโมเนีย หรือ แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ส่วนใหญ่แพทย์มักแนะนำว่า การดื่มน้ำอุ่นคือยาแก้ไอ ละลายเสมหะที่ดีที่สุด และไม่มีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ เพราะเสมหะมีคุณสมบัติคล้ายๆ วุ้น ซึ่งเมื่อถูกความร้อนจะเหลวใส และถูกขับออกได้งาย แต่ถ้าถูกความเย็นก็จะเหนียวข้น ดังนั้นยิ่งกินน้ำเย็นเสมหะก็จะยิ่งเหนียวติดแน่น คันในคอ จะยิ่งไอมากขึ้นอีกต่างหาก 
 
          กลุ่มยาอม ยาพ่น คอต่างๆ  ใช้สำหรับทำให้ชุ่มคอ และแก้อาการคอแห้ง ระคายคอ จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ และลดอาการไอจากการระคายคอด้วย ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ จึงใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ เช่น ยาอม มายบาซิน สเตร็ปซิล หรือยาพ่นคอ คาร์มิโลซาน
 
 
กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)  
 
          ยาแก้อักเสบหากใช้ยากลุ่มเพนนิซิลลิน เช่น แอมพิซิลลิน (Ampillin) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ไอเบียม็อก (Ibiamox) ยากลุ่มนี้สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่มีประวัติแพ้ยาเหล่านี้มาก่อน ถ้ามีประวัติแพ้เพนนิซิลลิน ควรเปลี่ยนเป็นยากลุ่มอื่น เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) หรือ แมคโครไลด์ (Macrolide) เช่น อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)หรือ อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracycline) เพราะจะทำให้เกิดฟันสีเหลืองดำในเด็ก
 
          ดังนั้นการใช้ยากับคุณแม่ตั้งครรภ์มีหลักง่าย ๆ คือ ไม่ใช้ยาอะไรเลยดีที่สุด ไม่ว่ายากิน ยาทา ยาฉีด ยกเว้นยาบำรุงโลหิตหรือยาที่แพทย์สั่งเพื่อรักษาโรคเฉพาะเท่านั้น ถ้าเป็นยาจากต่างประเทศต้องอ่านเอกสารกำกับยาเสมอ เพราะเป็นข้อบังคับขององค์การอาหารและยาในบ้านเรานะคะ ที่่ต้องแปลเอกสารกำกับยาเป็นภาษาไทยว่า ใช้ในในสตรีมีครรภ์ได้หรือไม่ และในช่วงที่วางแผนว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ได้คุมกำเนิด ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเป็นดีที่สุด และหากเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์และแจ้งให้ทราบว่าอาจตั้งครรภ์ แพทย์จะได้หลีกเลี่ยงจ่ายยาที่เป็นอันตรายนะคะ 
      
โดย นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
 
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bonnykids.com/