นัดพบแพทย์

นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

16 Apr 2017 เปิดอ่าน 1811

ก่อนหน้านี้ถ้าแพทย์แจ้งผู้ป่วยว่าเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ(Coronary artery disease) ผู้ป่วยมักมีความกังวลเนื่องจากการรักษาอาจต้องถึงกับผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (coronary bypass graft surgery) แต่ประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ได้มีการรักษาภาวะนี้ด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ(Percutaneous coronary intervention)ซึ่งไม่ใช่การผ่าตัด ข้อดีของวิธีนี้คือแผลเล็กต่างจากการผ่าตัด ใช้เวลาในการพักฟื้นหรืออยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า นวัตกรรมนี้ทำให้ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเข้าถึงการรักษามากขึ้น และไม่กลัวมากเหมือนแต่ก่อน

บางท่านคงสงสัยว่าการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจมีขั้นตอนการทำอย่างไร น่ากลัวหรือไม่ สามารถอธิบายง่ายๆ โดยรูปภาพ(1)ดังนี้ครับ

ผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด เมื่อมีการสะสมของไขมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการตีบของหลอดเลือดซึ่งเป็นทางผ่านของเลือดเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ หัวใจ มีผลให้เกิดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ(Myocardial ischemia) ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก(Angina pectoris) บางรายมีอาการเหนื่อยง่าย(Dyspnea on exertion) หรือน้ำท่วมปอด(Pulmonary edema)

การทำบอลลูนขยายหลอดเลือด คือการสอดใส่ลูกโป่งชนิดพิเศษ( Coronary balloon) ขนาดเล็กๆ( เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0-4.0 mm) เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจตรงบริเวณที่มีการตีบ หลังจากนั้นก็ทำการกางบอลลูน เพื่อขยายหลอดเลือดส่วนนั้น ดังรูป(2) แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการขยายหลอดเลือดโดยบอลลูนเพียงอย่างเดียวนั้น หลอดเลือดสามารถกลับมาตีบซ้ำขึ้นใหม่(Restenosis) โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการหดกลับของหลอดเลือด( Elastic recoil)

New innovation 3

ต่อมาจึงมีการใช้ ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด(Coronary stent)(ภาพที่ 3)โดยจะใส่ในผู้ป่วยที่ทำการขยายหลอดเลือดโดยบอลลูนทุกราย ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดทำจากโลหะชนิดพิเศษเช่น stainless steel,cobaltchromium, platinum  ขดลวดรุ่นแรกๆเป็นขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดไม่เคลือบยา    (Bare metal stent) พบว่าหลังจากรักษาไป ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเกิดการตีบซ้ำขึ้นมาใหม่ได้(Instent restenosis) แต่ก็ยังน้อยกว่าการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดเพียงอย่างเดียว โดยกลไกเกิดจาก มีการสร้างพื้นผิวมาปกคลุมขดลวดภายในหลอดเลือดหัวใจมากผิดปกติ(Neointimal hyperplasia,Negative remodeling) โดยปกติแล้วอัตราการตีบซ้ำหลังการใส่ขดลวดชนิดไม่เคลือบยาจะอยู่ที่ประมาณ 15-20%, ต่อมาจึงมีการคิดค้นขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดเคลือบยาขึ้นมา(Drug eluting stent) โดยตัวยาที่นำมาเคลือบจะลดการตีบซ้ำ(Instent restenosis) ลงได้เหลือประมาณ 3-8% ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเลือกใส่ในผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดการตีบซ้ำในขดลวด สูงกว่าประชากรทั่วไปเช่น ผู้ป่วยเบาหวาน

New innovation 2

ล่าสุดมีการคิดค้น โครงค้ำยันหลอดเลือดชีวภาพเคลือบยาชนิดย่อยสลายได้(The Bioresorbable Vascular Scaffold: BVS) ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยมีลักษณะเหมือนกับขดลวดถ่างขยายขดลวดชนิดเคลือบยา แต่สามารถสลายไปได้ โดยทำจากวัสดุโพลีแลคไตล์ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในอุปกรณ์การแพทย์เช่นไหมละลาย ซึ่งมีข้อดีหลายประการเช่น ผู้ป่วยไม่ต้องกินยาต้านเกร็ดเลือดหลังจากทำการรักษาเป็นเวลานาน เนื่องจากหลังจากการขยายหลอดเลือดด้วยโครงค้ำยันหลอดเลือดชีวภาพ ภายใน 3 ปีก็จะสลายไป จึงไม่ต้องกังวลหลังจากหยุดยาต้านเกร็ดเลือดแล้วจะเกิดปัญหาการเกิดลิ่ม เลือดอุดตันภายในขดลวด(Stent thrombosis)

New innovation 4

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้มีอุปกรณ์ชนิดใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลหรือช่วยในการทำการรักษา อยู่หลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น สายวัดแรงดันในหลอดเลือดหัวใจ   (Fractional Flow Reserve: FFR)ซึ่งจะช่วยในการพิสูจน์ว่าหลอดเลือดมีการตีบจริงหรือไม่ซึ่งช่วยลดการทำ บอลลูนขยายหลอดเลือดที่ไม่จำเป็นลง, OCT (Optical Coherence Tomography) ซึ่งจะช่วยในการวัดขนาดหลอดเลือด,ระดับการตีบของหลอดเลือด,ใช้ตรวจหลอดเลือด หลังจากได้รับการใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดแล้วว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือไม่

New innovation 5

ที่กล่าวมาเป็นวิวัฒนาการของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงวิทยาการล่าสุดในการรักษาแต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นหัตถการใดทางการ แพทย์ล้วนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน(Complication)ได้เสมอ ดังนั้นห้องทำบอลลูนขยายหลอดเลือด(Catheterization Laboratory Coronary and Endovascular intervention) ของแต่ละสภาบันจึงต้องมีการพัฒนาให้มีมาตรฐานและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิผลสูงสุดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย

โดย : นพ. สราวุธ ลิ้มตั้งตุระกูล

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88/