นัดพบแพทย์

ปวดหลัง...อย่านิ่งนอนใจ

15 Sep 2016 เปิดอ่าน 3980

รคกระดูกสันหลังเป็นโรคที่พบบ่อย และพบได้ทุกเพศทุกวัย เป็นโรคใกล้ตัวที่เรา ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดเป็นรุนแรงจะอันตรายต่อร่างกายเลยทีเดียว

เพราะว่ากระดูกสันหลังมีหน้าที่ที่สำคัญมาก ในการช่วยเป็นแกนโครงสร้างของร่างกาย ทำให้คนเรา ยืนตัวตั้งตรงได้ รวมถึงช่วยทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวอิริยาบถต่าง ๆ และยังช่วยเป็นเกราะป้องกันระบบประสาทไม่ให้ได้รับบาดเจ็บโดยง่ายด้วย

น.พ.อาทิตย์ หงส์วานิช ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ให้ข้อมูลว่า อาการของโรคกระดูกสันหลังแบ่งออกได้เป็น 3 อาการ

ได้แก่ 1.อาการ ปวดหลัง ถ้ามีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ อาจบ่งชี้ว่า การรับน้ำหนักของข้อต่อกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังไม่ดี พบได้บ่อยในกลุ่มโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม หรือร้ายแรงกว่านั้น เช่น โรคติดเชื้อ หรือเนื้องอกในกระดูกสันหลัง

2.อาการปวดร้าวลงขา ถ้ามีอาการปวดสะโพกและปวดร้าวลงขาอาจบ่งชี้ว่า มีการรบกวนเส้นประสาทหรือ ช่องโพรงไขสันหลัง เช่น โรคช่องโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท

3.อาการปวดหลังร่วมกับปวดขา บ่งชี้ว่า การรับน้ำหนักของข้อต่อกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังไม่ดี ร่วมกับตัวโรคมีการรบกวนเส้นประสาทด้วย

เมื่อไปพบแพทย์จะทำการซักประวัติ, ตรวจร่างกายและส่งตรวจ ต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุ โชคดีที่ปัจจุบันมีเครื่องมือในการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น เช่น เครื่องเอ็มอาร์ไอสแกน (MRI : Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเป็นการถ่ายภาพโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะได้ภาพที่คมชัดกว่าและวินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่าการเอกซเรย์ธรรมดามาก ซึ่งการส่งตรวจก็ขึ้นกับประวัติ อาการ และดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา

แนวทางในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังนั้นก็ขึ้นกับการวินิจฉัยโรค ว่าเป็นโรคอะไร วิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดหลังจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังแบ่งได้ง่าย ๆ เป็น 4 วิธี

วิธีที่ 1 สังเกตอาการ ไม่มีการรักษา ส่วนใหญ่อาการปวดหลังทั่ว ๆ ไป ที่เกิดขึ้นมาเอง จะอาการดีขึ้นหรือหายไปได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ บางครั้งถ้าปวดไม่มาก เพียงสังเกตอาการ ถ้าอาการมีแนวโน้มดีขึ้น และสุดท้ายหายไปก็ไม่ต้องทำอะไร 


วิธีที่ 2 กินยาและการกายภาพบำบัด ถ้าผู้ป่วยรู้สึกปวดหลังมากขึ้น และรู้สึกว่ารบกวนชีวิตประจำวันก็สามารถเริ่มการรักษาวิธีที่ 2 ได้ การทานยาก็ได้แก่ ทานยาแก้ปวดธรรมดา พาราเซตามอลหรือทานยาแก้ปวดที่แรงขึ้น เช่น ยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDS) ซึ่งมีหลายตัว หลายกลุ่ม สามารถลดอาการปวดและการอักเสบได้ดี แต่ควรระวังเนื่องจากยากลุ่มนี้อาจระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ จึงควรใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ 1-2 สัปดาห์ เมื่อมีอาการดีขึ้นแล้วควรหยุดยา

สำหรับการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อก็สามารถใช้ลดอาการปวดได้ในกรณีที่มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อร่วมด้วย

การทำกายภาพ ได้แก่ การใช้เครื่องอัลตราซาวนด์หรือกระตุ้นไฟฟ้า สามารถลดการเกร็งของกล้ามเนื้อและทำให้อาการปวดดีขึ้นได้

เครื่องดึงคอหรือหลัง จะช่วยยืดข้อกระดูกและหมอนรองกระดูก ช่วยลดความดันที่กดลงบนเส้นประสาท และทำให้อาการปวดดีขึ้นได้

Chiropractic เป็นวิธีการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกวิธีหนึ่ง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าสามารถลดอาการปวดหลังในระยะเฉียบพลันได้ แต่ในกลุ่มที่ปวดเรื้อรังและมีกระดูกผิดรูปร่วมด้วย การศึกษาวิจัยยังไม่ชัดเจนนัก

รวมทั้งการฝังเข็มก็เป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกอีกวิธีหนึ่ง สามารถลดอาการปวดหลังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อเกร็ง

วิธีที่ 3 การฉีดยาเข้าไปภายในโพรงกระดูกสันหลัง

วิธีนี้ใช้เฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวจากเส้นประสาทเป็นหลัก เช่น ปวดแขนหรือปวดขาเนื่องจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

วิธีการคือ จะฉีดยาสเตอรอยด์ซึ่งเป็น ยาที่สามารถลดการอักเสบได้อย่างดี ฉีดเข้าไปบริเวณโพรงกระดูกสันหลังที่มีพยาธิสภาพ ให้ยาเข้าไปลดการอักเสบของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ เมื่อการอักเสบของเส้นประสาทลดลง อาการปวดก็จะดีขึ้น

และวิธีที่ 4 ก็คือการผ่าตัด

แต่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ปวดหลังจะต้องผ่าตัด มีเพียง 5-10% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่จำเป็นต้องผ่าตัด เนื่องจากรักษาด้วยยาและการกายภาพไม่ได้ผล

ความจริงแล้วเราสามารถป้องกันการปวดหลังจากโรคกระดูกสันหลังได้หลายวิธี ได้แก่

1.การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะนั่งทำงานควรนั่งหลังตรง หรือพิง พนักเก้าอี้ ไม่ควรนั่งหลังค่อม การยกของจากพื้นไม่ควรใช้วิธีก้มหลังแต่ควรใช้วิธีย่อเข่าและหลังตรงแทน จะลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลังและหมอนรอง กระดูกสันหลัง

2.ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป ไม่ทำให้กระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากเกินไป

3.ควรหลีกเลี่ยงเหล้าและบุหรี่ เพราะมีการศึกษาชัดเจนว่า ทำให้เกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้น

4.ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากการออก กำลังกายเป็นประจำจะทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นและกระดูกสันหลังแข็งแรงมากขึ้นและบาดเจ็บยากขึ้นจะทำให้โอกาสเกิดโรคของกระดูกสันหลังลดลง โดยการออกกำลังกายทั่วไป เช่น แอโรบิก จ๊อกกิ้ง หรือว่ายน้ำ จะบริหารกล้ามเนื้อได้ดีกว่าการออกกำลังเฉพาะส่วน

5.ทานอาหารเสริมกลุ่มแคลเซียมให้เพียงพอในแต่ละวัน สามารถลดโอกาสเกิดโรคกระดูกบางหรือกระดูกพรุนได้

จะเห็นว่าทุกวันนี้มีวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเกิดขึ้นมากมาย แต่ว่าไม่มีวิธีไหนดีที่สุด ทุกวิธีมีข้อดี ข้อเสีย ก่อนจะเริ่มการรักษาจึงควรจะทราบก่อนว่าตนเองเป็นโรคอะไร ศึกษาอย่างรอบคอบ ปรึกษาแพทย์และเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งจะได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1291872567&grpid=07&catid=00