นัดพบแพทย์

พาลูกรักไปตรวจตา

10 Aug 2016 เปิดอ่าน 3934

  เพราะลูกยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพตาลูกกันเท่าไหร่นัก เห็นตาลูกผิดปกติก็คิดว่าไม่เป็นอะไร เดี๋ยวคงดีเอง แค่ไม่สวยเท่านั้น หารู้ไม่ว่าพัฒนาการของดวงตาและการมองเห็นของลูกไม่ได้สมบูรณ์แบบมาตั้งแต่เกิด ยังต้องมีการพัฒนาต่อไปอีก โดยเฉพาะในช่วงแรกของชีวิต เพราะฉะนั้นหากในช่วงที่ลูกยังเล็ก ๆ อยู่นี้มีสิ่งใดมาขัดขวางพัฒนาการของสายตา อาจทำให้ตาลูกผิดปกติไปตลอดชีวิตก็ได้ การตรวจตาในเด็กเล็กจึงมีความสำคัญอย่างมาก

          แต่ไม่ต้องตกอกตกใจไปนะครับ ส่วนใหญ่ความผิดปกติของสายตาเด็กมักจะแก้ไขได้ ถ้ามาพบจักษุแพทย์เร็ว อยากแนะนำว่าควรพาลูกไปตรวจสุขภาพตาก่อนอายุ 2 ปี สักครั้ง เพื่อที่จักษุแพทย์จะได้รักษาทันท่วงที หากมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น

แบบนี้ที่พบบ่อย

          พ่อแม่ส่วนใหญ่นึกว่าปัญหาเรื่องตาของลูกจะเกิดก็ต่อเมื่อลูกเข้าโรงเรียนแล้ว เพราะเป็นช่วงที่ลูกเริ่มอ่านเขียน ที่จริงปัญหาเรื่องตาเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ลูกยังแบเบาะหรือวัยก่อนเข้าเรียนด้วยซ้ำไป ส่วนใหญ่มักเป็นโรคทางกล้ามเนื้อตา เช่น ตาเขเข้า ตาขี้เกียจ

ปัญหาสายตาเด็กที่พบบ่อยมีดังนี้ครับ

           1. ท่อน้ำตาอุดตันตั้งแต่กำเนิด พบได้บ่อย โดยมักพบในเด็กอายุประมาณ 1-2 เดือน เด็กจะมีอาการตาแฉะตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ไม่ได้ร้องไห้ ต่อมาอาจมีการติดเชื้อร่วมด้วย ทำให้เด็กมีขี้ตามากขึ้น

 การรักษา

          ใช้การหยอดยาหยอดตาที่เป็นยาปฏิชีวนะร่วมกับการนวดบริเวณหัวตา อาการท่อน้ำตาอุดตันจะดีขึ้นและหายไปได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจนเด็กอายุประมาณ 1 ปี จักษุแพทย์ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือช่วย เพื่อช่วยขยายท่อน้ำตาให้เปิดออก

          2. สายตาขี้เกียจ คือ การที่สายตาข้างหนึ่งพัฒนาไม่เป็นปกติในช่วงวัยเด็ก เป็นผลให้ระดับสายตาข้างนี้แย่กว่าอีกข้างหนึ่ง โดยปกติหลังจากที่เด็กคลอดออกมา สายตาทั้ง 2 ข้างจะพัฒนาไปเท่าๆ กันจนถึงอายุ 7-9 ปี ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เช่น ตาเหล่ จะทำให้พัฒนาการของสายตาทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน โดยข้างหนึ่งจะพัฒนาเป็นปกติ แต่อีกข้างหนึ่งจะมีการพัฒนาด้อยกว่า เราเรียกสายตาที่ด้อยกว่าว่า "สายตาขี้เกียจ"

          สาเหตุหลักของสายตาขี้เกียจได้แก่ ตาเหล่ สายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ หรือการเป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด ฯลฯ หมอมักวินิจฉัยสายตาขี้เกียจได้ไม่ยากถ้ามีอาการตาเหล่ร่วมด้วย แต่จะมีปัญหาได้ ถ้าสายตาขี้เกียจนั้นเกิดจากการมีสายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ ซึ่งในกรณีหลังนี้ต้องใช้วิธีวัดสายตาจึงจะทราบได้

การรักษา

          ควรจะทำก่อนลูกอายุ 6 ปี จึงจะได้ผลดี การรักษามักใช้วิธีปิดตาข้างที่มีระดับสายตาปกติ เพื่อกระตุ้นตาที่มีสายตาขี้เกียจให้กลับมาทำงานตามปกติ ความสำเร็จในการรักษาสายตาขี้เกียจนี้ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก เพราะเด็กมักไม่ชอบให้ใครมาปิดตา ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยอมใจอ่อน ตามใจลูกโดยไม่ปิดตาตามคำสั่งจักษุแพทย์ จะทำให้ระดับสายตาลูกผิดปกติไปตลอดชีวิต

           3. ตาเหล่หรือตาเข คือ การที่ตาข้างหนึ่งมองตรงไปข้างหน้า แต่อีกข้างอาจจะเหล่เข้าในหาจมูกหรือเหล่ออกนอก หรือบางครั้งอาจจะเหล่ขึ้นบนหรือลงล่างก็พบได้

          อาการตาเหล่อาจพบได้ตั้งแต่แรกเกิดหรือพบหลังอายุ 2-3 ปีได้ สาเหตุของตาเหล่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบอาการนี้ได้บ่อยในเด็กที่มีความผิดปกติทางสมองได้

การรักษา

          การรักษาอาการตาเหล่จะได้ผลดี ต้องมารักษาก่อนอายุ 2 ปี โดยการรักษาได้แก่..

          รักษาสายตาขี้เกียจที่มีร่วมด้วย เพราะการปล่อยให้ตาข้างใดข้างหนึ่งเหล่นาน จนเด็กไม่ได้พัฒนาสายตาสองข้างให้ทำงานร่วมกัน

          ทำให้ตาตรงโดยการใช้แว่นตาหรือการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา อาการตาเหล่หากไม่รักษาอาจทำให้เด็กมีปัญหาดูภาพแบบคนปกติ ไม่สามารถดูภาพสามมิติได้ การรักษาจะเนิ่นนานออกไปอีก

          4.หนังตาตก คือ อาการที่หนังตาบนตกมาคลุมตาดำมากผิดปกติ เด็กมักจะมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยการเงยหน้าขึ้นหรือพยายามเลิกคิ้วขึ้นเพื่อมอง ปัญหาที่พบร่วมกับอาการหนังตาตก ได้แก่ สายตาขี้เกียจ

การรักษา

          โดยส่วนใหญ่การรักษาอาการหนังตาตกมักใช้การผ่าตัดยกหนังตาขึ้น และรักษาสายตาขี้เกียจที่มีร่วมด้วย

          5. เป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด ต้อกระจกไม่ได้พบเฉพาะคนสูงอายุเท่านั้น ยังสามารถพบในเด็กแรกเกิดได้ และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการสายตาขี้เกียจ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าลูกเป็นต้อกระจกหรือไม่จากจุดขาวที่มีในตาดำ

การรักษา

          ทำได้ด้วยการผ่าตัดเอาต้อกระจกออก

           6. ต้อหินตั้งแต่กำเนิด เป็นภาวะที่มีความดันภายในลูกตาสูง และจะมีการทำลายของขั้วประสาทตา เด็กจะมีอาการตาแฉะ ตาไม่กล้าสู้แสง ชอบหยีตา มีลูกตาดำโตกว่าปกติ

 การรักษา

          ใช้ยาลดความดันภายในลูกตา และมักต้องผ่าตัด

          7. มะเร็งของจอประสาทตา มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อาการนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการตาวาวคล้ายลูกตาแมวหรือมองเห็นจุดสีขาวในลูกตาดำ

การรักษา

          สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้ามาพบจักษุแพทย์ในระยะเริ่มต้น

          การรักษามะเร็งของจอประสาทตามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับว่าเด็กเป็นมะเร็งในระยะไหน การรักษาทำได้โดยการผ่าตัด การใช้แสงเลเซอร์หรือความเย็นจี้ที่ก้อนเนื้อมะเร็ง การใช้เคมีบำบัด การฉายรังสี

          ปัญหาสายตาเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้ หากคุณพ่อคุณแม่พาลูกมารักษาเสียแต่เนิ่นๆ เมื่อเห็นว่าสายตาลูกมีความผิดปกติ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ การให้จักษุแพทย์ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ ดีกว่าพบความผิดปกติทีหลังแล้วรักษาไม่ทันการณ์

ลูกมีอาการอย่างนี้..ต้องไปหาหมอ

          หากสังเกตพบว่าลูกมีความผิดปกติเหล่านี้ ควรพาลูกไปหาหมอ เพราะนี่แสดงว่าสายตาลูกมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว

           ตาขาวไม่ขาว แดงเรื่อ ๆ

           ตาแฉะ มีน้ำตาไหลเอ่อตลอดเวลา

           ขยี้ตาบ่อย ๆ

           เมื่อลืมตาเต็มที่ หนังตาลูกเปิดกว้างไม่เท่ากัน มีหนังตาตก

           ตาเหล่

           ไม่มองหน้าคุณพ่อคุณแม่ขณะอายุ 2-3 เดือน

           คอหรือศีรษะเอียง

           เห็นจุดขาวในตาดำ

           ไม่กล้าสู้แสง

           หรี่เมื่อมองดูอะไร

           เอามือกดลูกตาเป็นประจำ

           ตากระตุกหรือมีลูกตาสั่น

           จับของเล่นมาดูหรือมองสิ่งต่าง ๆ จนชิดหน้า เช่น หนังสือ ทีวี

           ลูกกลอกตาไม่ได้ เวลามองไปทางด้านข้างต้องหันไปทั้งศีรษะ

เด็ก ๆ ใช้เลเซอร์...ได้ไหม

          คุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่าลูกสายตาสั้นจะใช้การผ่าตัดด้วยเลเซอร์อย่างที่กำลังนิยมอยู่ได้หรือไม่ คำตอบคือจักษุแพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ใช้เลเซอร์เพื่อแก้ไขสายตาสั้นให้เด็กต่ำกว่า 19 ปี เพราะเด็กอายุน้อยกว่านี้ ระดับสายตาของเด็กยังพัฒนาไม่คงที่ ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ ถ้าใช้เลเซอร์ผ่าตัดให้เด็ก อาจเกิดความผิดพลาดได้ การผ่าตัดแบบนี้ทำเมื่อสายตาคงที่แล้ว

โดย : น.พ.ธรรมนูญ สุรชาติกำธรกุล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://baby.kapook.com/view32026.html