เซลล์กล้ามเนื้อบริเวณปากมดลูกที่มีการแบ่งตัวหรือเติบโตอย่างผิดปกติ อาจทำให้กลายชนิดเป็นเซลล์เนื้อร้ายที่ปากมดลูก หรือ “มะเร็งปากมดลูก” และยังมีโอกาสแพร่กระจายไปตามกระแสเลือดและน้ำเหลือง ลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงได้
สาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็งของปากมดลูก
มาจากการติดเชื้อไวรัสที่บริเวณปากมดลูก เรียกไวรัสชนิดนี้ว่า ฮิวแมน พาพิลโลมา ไวรัส (Human Papiloma Virus, HPV) จะทำให้เซลล์ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นเซลล์ในระยะก่อนมะเร็ง และกลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 10 – 15 ปี นับตั้งแต่ได้รับเชื้อ
ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก
จำแนกกลุ่มผู้หญิงที่เสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 7 กลุ่ม ดังนี้
1.สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย เป็นช่วงอายุที่มีความไวต่อการติดเขื้อไวรัส HPV
2.สตรีที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่สำส่อนทางเพศ เสี่ยงต่อการรับเชื้อ HPV
3.สตรีที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีภรรยาหรือคู่นอนที่เป็นมะเร็งปากมดลูก
4.สตรีที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายๆ คน จะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ HPV
5.สตรีหรือผู้ชายที่เป็นคู่นอน เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม หนองใน หูด เป็นต้น
6.สตรีที่มีโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์(HIV)
7.การสูบบุหรี่ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง ติดเชื้อ HPV ได้ง่ายขึ้น
อาการเตือนสำคัญ สัญญาณร่างกายโรคร้ายมะเร็งปากมดลูก
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก กระทั่งร่างกายส่งสัญญาณเตือนที่น่าหวาดกลัว ทั้งที่ความจริงแล้ว หากพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่มก็สามารถทำการรักษาได้ โดยอาการส่วนใหญ่คือ การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เป็นอาการสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจมาพบแพทย์ นอกจากนี้ ยังควรสังเกตุตัวเองจากอาการเตือนสำคัญเหล่านี้
1.มีเลือดออกระหว่างมีเพศสัมพันธ์
2.มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
3.มีของเหลวปนเลือด ออกทางช่องคลอด
4.มีอาการปวดท้องน้อย
5.มีอาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
สัญญาณที่บอกว่ามะเร็งปากมดลูกมากเยือนในระยะลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ ผู้ป่วยมักมีอาการขาบวม ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยแพทย์เฉพาะทางนรีเวช
1.ด้วยการตรวจภายใน เพื่อหาก้อนหรือแผลที่ผิดปกติ เมื่อแพทย์พบว่ามีก้อนหรือแผลที่น่าสงสัยจะทำการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
2.การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นการตรวจภายในและเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูก ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจหา DNA ของไวรัส HPV
3.การตรวจด้วยกล้องขยาย (Colposcopy) และตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ในกรณีที่ตรวจแปปสเมียร์ แล้วพบว่ามีความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก หรือในรายที่ผลแปปสเมียร์ปกติ แต่มีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติ เป็นต้น
การรักษาในระยะก่อนเป็นมะเร็ง
ระยะนี้ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรอง”แปปสเมียร์” การรักษาจะใช้การผ่าตัดซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก มีหลายวิธี เช่น การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็นจัด (Cryosurgery) การจี้ด้วยเลเซอร์ การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (Conization) ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่สามารถตัดปากมดลูกด้วยมีดหรือขดลวดไฟฟ้า รวมทั้งการตรวจติดตามผลเป็นระยะ การรักษาระยะนี้ได้ผลหายขาดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
การรักษามะเร็งปากมดลูก
– มะเร็งในระยะเริ่มแรก รักษาด้วยการตัดมดลูก พร้อมกับการเลาะต่อมน้ำเหลือง บริเวณอุ้งเชิงกราน สามารถรักษาได้หายมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับระยะนี้
– มะเร็งในระยะลุกลาม รักษาด้วยการฉายรังสีหรือรักษาร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก
1.ควรระวังเรื่อง การมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่อายุน้อยและควรให้ความสำคัญกับถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
2.ตรวจคัดกรองแปปสเมียร์ทุกปี
3.ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV วัคซีนในปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัย ซึ่งทุกคนสามารถฉีดได้ ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป
4.ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพทั้งเรื่องอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย การพักผ่อน งดสูบบุหรี่ เป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค
โดย : พญ.ถนอมศิริ สติฐิต สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช
* ขอบคุณข้อมูลจาก : บทความความรู้ทางการแพทย์ เครือโรงพยาบาลพญาไท