นัดพบแพทย์

รพ.รามาฯ สร้างนวัตกรรมการออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด “ไทชิ ชี่กง” ดึงการรำไทเก๊กผสมผสานวิธีการหายใจที่ถูกต้อง ช่วยลดอาการกำเริบโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ 26-27% เสนอ สปสช.ทำเป็นซีดีไกด์ไลน์แก่โรงพยาบาลอื่น 

22 Mar 2017 เปิดอ่าน 1799

       ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมักเป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย และมีแนวโน้มอัตราการตายสูงขึ้น ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่า ในปี 2573 คนจะตายด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นอันดับ 3 ของโลก สำหรับคนไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป พบเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประมาณร้อยละ 5 หรือประมาณ 1,000,000 คน สาเหตุเกิดจากการสูบบุหรี่มากถึงร้อยละ 90 รวมไปถึงมลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันจากการเผาฟืน เป็นต้น โดยผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะมีอาการคล้ายกับผู้ที่เป็นโรคหืด คือ มีอาการหายใจหอบ มีเสมหะมาก และไอเรื้อรัง แต่มีอันตรายกว่า เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้พยาธิสภาพของปอดเปลี่ยนไปอย่างถาวร โดยทุกครั้งที่อาการกำเริบหรือเกิดการอักเสบขึ้น จะทำให้สมรรถภาพของปอดจะเสื่อมลงอีกระดับหนึ่ง
       
       “การรับมือกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการกำเริบ อาทิ หยุดสูบบุหรี่ ไม่อยู่ในที่ที่มีมลภาวะมากเป็นเวลานาน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่ต้องอาศัยกล้ามเนื้อทุกส่วนพร้อมกันสามารถช่วยได้ เช่น การวิ่งลู่ ปั่นจักรยาน ซึ่งแพทย์ตะวันตกศึกษาพบว่า เมื่อออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง 20-30 นาทีต่อวัน จำนวน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 6 สัปดาห์ สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้ ทำให้อาการกำเริบลดน้อยลง” ศ.พญ.สุมาลี กล่าว
       
       ศ.พญ.สุมาลี กล่าวอีกว่า การออกกำลังกายตามวิธีของแพทย์ตะวันตกยังเป็นปัญหาสำหรับผู้สูงอายุ และเสียค่าใช้จ่ายเยอะ รพ.รามาฯ จึงทำการวิจัยวิธีการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอดที่เหมาะสมกับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สุงอายุ ที่สำคัญสามารถทำเองที่บ้านหรือเป็นกลุ่มได้ โดยการนำท่ารำไทเก๊กที่มีการเคลื่อนไหวช้าของประเทศจีน มาผสมกับวิธีการหายใจที่ถูกต้องจากแพทย์ตะวันตก ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เลือกท่ารำไทเก๊กที่ง่ายต่อการใส่ลมหายใจประกอบออกมา 9 ท่า จากนั้นจึงทำการทดลองวัดผลซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี จึงประสบความสำเร็จ เรียกว่า การออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด “ไทชิ ชี่กง” ซึ่งแต่ละท่าจะมีการกำหนดลมหายใจ และต้องมีการทำซ้ำกันไปมาประมาณ 3-5 นาที
       
       “จากการศึกษาในคนไข้ พบว่า หลังการออกกำลังกายด้วยวิธีไทชิ ชี่กง วันละ 20-30 นาที จำนวน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ คนไข้มีเผาผลาญออกซิเจนน้อยลง มีปริมาตรการหายใจเพิ่มขึ้น และสามารถออกกำลังกายสูงสุดได้มากขึ้น ปอดหายใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เป็นต้น สรุปได้ว่า การออกกำลังกายด้วยวิธีไทชิ ชี่กง สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” ศ.พญ.สุมาลี กล่าว
       
       ศ.พญ.สุมาลี กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้มีการจดสิทธิบัตรการออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอดไทชิ ชี่กง ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว แต่เป็นในนามของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยรพ.รามาฯใช้วิธีออกกำลังกายดังกล่าวในการบริการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2550 พบว่าอัตราคนไข้อาการกำเริบลดลง 26-27% ขณะที่การป่วยฉุกเฉินลดลงถึง 50% แม้จะหยุดออกกำลังกายก็พบว่าสามารถช่วยคงสมรรถภาพของปอดไปได้นานประมาณ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม รพ.รามาฯ ได้นำการออกกำลังกายแบบไทชิ ชี่กง ไปเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีความสนใจ โดยได้ทำเป็นซีดีไกด์ไลน์ให้แก่โรงพยาบาลอื่นๆในการนำไปบริการรักษาผู้ป่วย ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ สปสช.มีค่าตอบแทนให้แก่หน่วยบริการหากสามารถลดอัตราการป่วยหรือการกำเริบได้
       
       ศ.พญ.สุมาลี กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่และมีความสงสัยว่าตนเข้าข่ายเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือไม่ สามารถทดสอบสมรรถภาพของปอดได้ โดยโรงพยาบาลจะวัดอัตราลมหายใจออกด้วยการให้เป่าลมให้แรงที่สุด ซึ่งในวินาทีแรกที่ลมออกหากมีอัตราน้อยกว่า 70% ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งการพบโรคก่อนเนิ่นๆ จะช่วยให้การบำบัดรักษาได้ดีกว่า เนื่องจากเมื่อเป็นมากๆ เข้า เนื้อปอดจะเหลือน้อย การออกกำลังกายก็จะทำได้ยาก เพราะปอดไม่สามารถฟอกอากาศได้ตามปกติ

 

ขอบคุณที่มา http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9550000134742