นัดพบแพทย์

ระบบทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ!

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 14232

การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือ (Urinary Tract Infection : UTI) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์ ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย เพิ่มอัตราการตายปริกำเนิด รวมถึงถ้ามีการติดเชื้อรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดภาวะไตล้มเหลวในหญิงตั้งครรภ์ได้

ที่มาปัจจัยเสี่ยง

          ปัจจัยที่ส่งผลต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยท่อปัสสาวะส่วนบนมีการขยายตัวตั้งแต่ไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ ที่เรียกว่า Hydronephrosis of Pregnancy และขยายที่ท่อไตข้างขวามากกว่าข้างซ้าย เนื่องจากการขยายขนาดและการบิดของมดลูกทำให้กดเบียดท่อไตข้างขวาที่ขอบกระดูกอุ้งเชิงกรานได้มากกว่า จึงส่งผลทำให้เกิดการขัดขวางการไหลของปัสสาวะ

          นอกจากนี้อิทธิของฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ ต่อกล้ามเนื้อเรียบของทางเดินปัสสาวะ ทำให้ความตึงตัวของกระเพาะปัสสาวะลดลง ทำให้ความจุเพิ่มขึ้น การเกิดการไหลย้อนกลับของปัสสาวะก็เกิดได้บ่อยขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมการติดเชื้อขึ้นไปสู่ไต โดยเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดของการติดเชื้อ คือ Escherichia Coli ประมาณร้อยละ 80

ความรุนแรงและอาการผิดปกติ

          การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ แบ่งตามระดับความรุนแรงได้ 3 ระดับ

1. การตรวจพบแบคทีเรียในปัสสาวะโดยไม่มีอาการ (Asymp-tomatic bacteriurea : ABU)

          คือการมีจำนวนแบคทีเรียอย่างน้อย 100,000 โคโลนี ต่อ 1 ซีซีของปัสสาวะ (ที่เก็บช่วงตอนกลางของการขับถ่ายปัสสาวะ) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 5-6 ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นที่มาของความจำเป็นในการตรวจปัสสาวะในการฝากครรภ์ตั้งแต่ครั้งแรก เพื่อค้นหาความผิดปกติ ดังกล่าว และให้การรักษาก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และการติดเชื้อที่กรวยไตต่อไป

          สังเกตอาการ : อาจสังเกตยากเนื่องจากไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏให้เห็น แต่อย่างน้อยการสังเกตสีของปัสสาวะที่เปลี่ยนไป เช่น จากสีขาวใสหรือเหลืองใส เป็นขาวขุ่นหรือเหลืองขุ่น หรือเป็นสีส้มหรือสีแดงคล้ายเลือด เป็นความผิดปกติที่ควรสังเกตได้เอง

2. กระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cystitis)

          มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 1.5 ในหญิงตั้งครรภ์ มักพบในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์

          สังเกตอาการ : ในรายที่มีอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักมีอาการของการปัสสาวะบ่อย ในลักษณะกะปริบกะปรอย คือออกทีละน้อยและปวดอยู่บ่อย ๆ (แยกจากอาการปัสสาวะบ่อยจากการดื่มน้ำมากที่ปัสสาวะบ่อยแต่ออกแต่ละครั้งปริมาณมาก) บางรายมีอาการแสบขัด โดยเฉพาะช่วงที่ถ่ายปัสสาวะสุด

3. กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritits)

          ร้อยละ 30 ของการตรวจพบแบคทีเรียในปัสสาวะโดยไม่มีอาการ ถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาอย่างไม่เพียงพอจะกลายเป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน มักพบในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์

          สังเกตอาการ : ในรายที่มีการติดเชื้อในระดับกรวยไตอักเสบแล้ว มักมีอาการมีไข้ หรือไข้สูงจนถึงหนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดสีข้าง ปวดหลัง และกดเจ็บบริเวณหลัง

วิธีรักษา

          การตรวจพบโรคนี้ตั้งแต่มีความผิดปกติของแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะและรีบให้การรักษาที่ถูกต้อง และครบถ้วน เป็นหนทางป้องกันการเกิดกระเพาะปัสสาวะ หรือกรวยไตอักเสบที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจเกิดตามมา เมื่อตรวจพบแบคทีเรียในปัสสาวะ (ABU) หรือมีอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดยเลือกยาที่มีความไวต่อเชื้อ และมีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์มากที่สุด เช่น ยาในกลุ่ม เพนนิซิลิน (Pennicillin) เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) นาน 7-10 วันโดยมีอัตราการกลับเป็นซ้ำร้อยละ 30 แนะนำให้คุณแม่มาตรวจติดตามอาการหรือปัสสาวะซ้ำหลังการรักษา

          รายที่มีอาการกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน มักแนะนำให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำและยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด โดยใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมและปลอดภัย ส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาภายใน 48-72 ชั่วโมง หลังจากให้ยาถ้าผู้ป่วยไม่มีไข้ 2 วันสามารถเปลี่ยนจากยาฉีดเป็นรูปยากินได้และรับประทานต่อจนครบ 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ โดยการรักษาโรคนี้ ควรมีการเก็บปัสสาวะ เพื่อส่งเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อจะได้ทราบชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคและดูการตอบสนองของยาต่อเชื้อ เพื่อช่วยในการพิจารณาปรับเปลี่ยนยาปฏิชีวนะ ถ้ายาเดิมที่ให้ไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ป้องกันอย่างไร

          ไม่กลั้นปัสสาวะ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกที่มดลูกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและอาจไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ความจุน้อยลงและปวดปัสสาวะได้บ่อยขึ้น อีกช่วงหนึ่งคือช่วงใกล้คลอดที่ศีรษะลูกลงต่ำจะไปเบียดกระเพาะปัสสาวะอีกครั้งหนึ่ง จึงควรลุกไปเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่ปวด เพื่อกำจัดแบคทีเรียบางส่วนออกไป ไม่กลั้นไว้จนทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียในปัสสาวะจนทำให้เกิดความผิดปกติ

          ดื่มน้ำ เมื่อมีอาการผิดปกติควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อจะได้ช่วยขับเชื้อต่าง ๆ อยู่ภายนอก ยารักษาการติดเชื้อก็จะทำงานได้ดีขึ้น เพราะหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเวลามีการติดเชื้อ จะมีอาการปัสสาวะบ่อยอยู่แล้ว จึงกลัวว่าถ้าดื่มน้ำเยอะจะยิ่งทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นอีก

เทคนิคดูแลจุดซ่อนเร้น

          ช่วงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น คนท้องจึงต้องผจญกับเหงื่อที่เยอะขึ้นจึงทำให้เกิดความอับชื้นได้สูงจึงควรดูแลเป็นพิเศษ...

          1. ใช้น้ำเปล่าหรือน้ำสะอาดล้างทำความสะอาดเฉพาะภายนอก หลีกเลี่ยงการสวนล้างเข้าไปภายใน และควรหลีกเลี่ยงน้ำยาอนามัยต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น เพราะในช่องคลอดมีแบคทีเรียที่ดีกลุ่ม แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) คอยกำจัดเชื้อโรคที่ไม่ดี ที่ทำให้เกิดโรค การใช้น้ำยาอนามัย หรือน้ำยาฆ่าเชื้อจะส่งผลให้แบคทีเรียที่ดีมีประโยชน์ตาย เชื้อตัวร้ายที่ทำให้เกิดโรคก็จะเจริญขึ้นมาแทนได้

          2. หลังจากที่ปัสสาวะหรืออาบน้ำเสร็จ ควรใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้งเบา ๆ ไม่เช็ดถูแรง ๆ จนเกิดการระคายเคือง หรือใช้กระดาษชำระนุ่ม ๆ ที่ไม่บางจนเกินไป การซับหรือเช็ดควรทำจากด้านหน้า ไปด้านหลัง เพื่อป้องกันการนำเชื้อที่อยู่บริเวณรอบทวารหนักมาสัมผัสกับช่องคลอดทางด้านหน้า

          3. เลือกใช้ชุดชั้นในผ้าฝ้าย ไม่หนาจนเกินไป หรือผ้าที่ทำให้อากาศถ่ายเทดี ไม่อับชื้น ควรเปลี่ยนบ่อยขึ้น โดยเฉพาะวันที่มีอากาศร้อนอบอ้าว เป็นไปได้ควรตากชุดชั้นในให้แห้งสนิท เช่น การผึ่งแดด บางเวลาอาจงดใส่ชุดชั้นในบ้าง เช่น เวลานอน เพื่อให้ไม่เกิดความอับชื้นจนเกินไป

          4. ใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นตามที่แพทย์สั่ง ไม่ใช้บ่อยโดยไม่มีเหตุผล เพราะยาบางชนิดถ้าใช้นานหรือบ่อยจนเกินไป อาจส่งผลต่อเชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในช่องคลอดเกิดความไม่สมดุลของเชื้อในช่องคลอด และตามมาด้วยอาการผิดปกติของตกขาวได้

          5. การใช้ห้องน้ำสาธารณะ ใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยทำความสะอาดที่ฝาชักโครกก่อนนั่ง หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสตามที่ต่าง ๆ มาสัมผัสกับอวัยวะเพศ

          6. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัย หรือแผ่นอนามัยโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราหรือการอักเสบติดเชื้อภายในช่องคลอดและปากช่องคลอดได้

          ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่คงต้องดูแลตัวเองให้ดี และหมั่นสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ เพื่อจะได้รักษาและแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะขึ้นครับ

เรื่อง : พท.นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข สูตนรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวรศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพผู้หญิง โรงพยาบาลพญาไท 2

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://baby.kapook.com/view80865.html