นัดพบแพทย์

ลูกนอนหลับฝันร้าย หรือ Nightmare

01 Aug 2016 เปิดอ่าน 4125

ความฝัน (Dreaming) คืออะไร?
   ขอให้ทดลองทำตามนี้ครับ  ขอให้นั่งหลับตาลงครับ แล้วลองใช้จินตนาการตามนี้ว่า
“เราตื่นนอนมาเช้าวันหนึ่ง พบว่าตัวเองตื่นนอนสาย แล้วจำได้ว่าวันนี้เราจะต้องไปโรงเรียน เช้ากว่าปกติ   เพราะมี สอบแต่เช้า เราต้องรีบแต่งตัว ใส่เสื้อผ้า ไม่ยอมกินอาหารเช้า รีบมาก แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนช้าไปหมด เราต้องวิ่งไปโรงเรียน วิ่งก็ช้าเหลือเกิน เพื่อพยายามขึ้นรถโดยสารประจำทาง ก็ตกรถอีก ทำให้ ไปโรงเรียนไม่ทันสอบ”

ขอให้ท่านพยายามบอกตัวเองว่า นี่คือเรื่องจริง (real) ต่อมาท่านจะพบว่า ท่านจะกังวลมาก หัวใจเต็นแรง เหงื่อออกเหมือนได้มีประสบการณ์จริง  แม้ว่าท่านจินตนาการไปตามเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าจะพบว่าตัวเองตื่นเต้นตามไปด้วย หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก แต่ท่านก็รู้ว่านั้นคือเรื่องที่ไม่จริง (unreal) เพราะเรานั่งจิตนาการอยู่ เรารู้ว่าไม่จริง เราแยกแยะได้ เราเรียกความคิดที่อยู่ในสมองที่เราคิดตามว่า  “จินตนาการ”   จะเห็นว่าเราสามารถสัมผัสกับประสบการณ์ภายในใจได้  เกิดอารมณ์ได้ และเราก็รู้ว่าไม่จริง (unreal) เพราะเราตื่นอยู่ (awake)

ดังนั้นความฝันคือ ประสบการณ์ที่ผู้นอนสัมผัสกับความคิดหรือจินตนาการต่าง ๆ ได้ภายในตัวเองจากความทรงจำ ขณะที่นอนหลับ (sleep) และยอมรับว่าความคิดหรือจินตนาการนั้นคือความจิรง (real)   ในคนที่มีอาการทางจิตจากสาเหตุใดๆ  หรือโรคลมชักบางชนิด ซึ่งสมองมีการทำงานที่ผิดปกติไป  แม้ว่าตื่น (awake) ถ้าเรายอมรับว่า ความคิด หรือ จินตนาการ หรือ สิ่งที่เราสัมผัสได้ในเวลาตื่นคือ ความจริง (real) เราจะเรียกว่า “ประสาทหลอน (Hallucination) หรือ มายา (Illusion) ” ครับ   ดังนั้น ประสาทหลอน (Hallucination)หรือ มายา(Illusion) กับ ความฝัน (Dream) คือเรื่องเดียวกัน  แต่เกิดคนละเวลา คือแตกต่างกันที่การเกิดในระหว่าง ตื่น หรือ หลับ เท่านั้น

เด็กฝันด้วยหรือ?
ถ้าความฝันคือ ประสบการณ์ที่ผู้นอนสัมผัสกับความคิดหรือจินตนาการต่าง ๆ ได้ภายในตัวเองจากความทรงจำ ขณะที่นอนหลับ  ดังนั้นความฝันอาจเป็นรูปภาพ (visual image) เสียง (auditory )หรือ สัมผัส (Tactile) ก็ได้  ถ้าเราเดินถามคนทั่ว ๆ ไปถึงเรื่องราวของความฝัน จะพบว่าคนส่วนใหญ่จะฝัน เกี่ยวกับภาพ หรือความทรงจำจากการมอง(visual image)  เนื้อหาในฝันมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง  เช่นตนเองกำลังล่องลอยไปในอากาศ บินได้ หรือกำลังตกจากที่สูง  กำลังได้รับบาดเจ็บจากสิ่งต่างๆ  กำลังทำอะไรบางอย่างที่หน้าอับอายต่อหน้าฝูงชน   สูญเสียคนที่เป็นที่รัก  ทำอะไรไม่ทันตามกำหนด ไม่ได้เตรียมตัวมาสอบ หรือสัมภาษณ์  หรือตื่นสาย (ตามตัวอย่างข้างต้น )
เด็กฝันด้วยหรือ แน่นอนครับเด็กก็ฝันด้วย แล้วก็ฝันมากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก  50 % ของการนอนในทารกแรกเกิด (newborn) ใช้ไปกับการนอนแบบฝัน  การที่จะบอกว่าเด็กฝันเรื่องอะไรก็คงต้องรอให้เด็กเริ่มพูดได้ก่อน และรอจนสามารถเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในฝ้นให้คุณพ่อแม่ฟังได้    แต่โดยทั่ว ๆ ไป ในเด็กจะเริ่มเล่าฝันต่าง ๆ เมื่ออายุ 3 ปีครับ มักจะเกี่ยวกับสัตว์และเป็นภาพ ๆ เดียว เช่น “รูปหมากำลังเห่า” หรือ “รูปกบอยู่ในน้ำ” เป็นต้น แต่ของเด็กอายุมากขึ้นความฝันก็ซับซ้อนมากขึ้นคล้ายผู้ใหญ่คือตั้งแต่ประมาณอายุ 9-10 ปี ครับ

ทำใมต้องฝัน และความฝันเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือ?
    ความฝันเป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่อการทำงานที่ปกติและพัฒนาการของสมองครับ  สามารถเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่ว่า 50 % ของการนอนในทารกแรกเกิด (newborn) จะฝัน  การฝันของเด็กจะสัมพันธ์กับการสร้างใยประสาทในสมอง ที่เซล์ประสาทเชื่อมต่อกัน (synapse) ครับ  ในขณะฝันความจำชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในตอนกลางวัน จะถูกจัดหมวดหมู่ใหม่ และจะถูกเขียนใหม่เป็นความจำถาวร   ถ้าเราอดนอนหลายวันแล้วไม่มีการฝันเกิดขึ้น หรือเราต้องกินยาบางชนิด ที่มีผลข้างเคียงออกฤทธ์สามารถกดความฝันได้ (REM suppressant) เมื่อเราได้หลับนอนเต็มที่ในคืนถัดไป หรือหยุดยาที่กดอาการฝัน จะพบว่าเราจะฝันเกิดขึ้นมากกว่าปกติ (REM rebound)  ดังนั้นความฝันเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เข้าทำนองยิ่งฝันมากยิ่งฉลาดมาก

รู้ได้อย่างไรว่ากำลังนอนฝันอยู่?
คนปกติจะนอนหลับฝัน 3-5 ครั้งในระยะเวลา 6-8 ชั่วโมงที่นอนหลับอยู่ต่อคืน โดยจะใช้เวลาประมาณ 20 % ของการนอนทั้งหมด  เราจะเริ่มฝันประมาณ 90-120 นาทีภายหลังเข้านอนครับ  แพทย์จะทราบได้ว่าท่านกำลังฝัน ถ้าท่านมานอนอยู่ในห้องการตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ (Sleep Studies)โดยติดอุปกรณ์ต่างตามตัวเพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง  การนอนปกติจะเริ่มจากตื่น (awake) เข้าสู่เริ่มง่วงนอน(sleep onset) หลับตื้น(ระยะ 1,2) หลับลึก(ระยะ 3, 4 ) แล้วเข้าสู่ระยะฝัน  เราเรียกระยะฝันว่า REM Period (Rapid Eye Movement)   และเราจะเรียกระยะหลับตื้นและหลับลึกว่า Non – REM period
    ลักษณะสำคัญของระยะฝัน หรือREM Sleep คือ  สมองจะตื่นเหมือนไม่ใช่หลับ  ในขณะที่หลับหลายท่านอาจคิดว่าสมองจะพักผ่อนไม่ทำงานแต่ในความจริงแล้วในระยะREM Sleep   สมองจะทำงานเหมือนคนปกติที่ตื่นเต็มที่ โดยสามารถดูได้จากคลื่นไฟฟ้าสมองซึ่งจะลักษณะเหมือนคนตื่นนอนทุกประการ  เลือดไปเลี้ยงสมองเหมือนคนตื่น   ความดันโลหิต อัตราการเต้นหัวใจจะไม่คงที่เหมือนคนตื่น แต่สิ่งที่แตกต่างจากภาวะตื่นคือ กล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะอ่อนแรงทำให้ไม่สามารถขยับแขนขาได้ ยกเว้นกล้ามเนื้อกรอกลูกตา(ซึ่งจะพบว่ามีการกรอกลูกตาแบบรวดเร็ว หรือ Repaid Eye Movement) และกล้ามเนื้อกระบังลมที่ช่วยในการหายใจ   ในขณะฝันแม้ว่าสมองจะทำงานเหมือนภาวะตื่น แต่กล้ามเนื้อ แขนขา จะออ่นแรง ซึ่งทำให้บางครั้งเราเรียกว่า “ ผีอำ”
ดังนั้นถ้าลูกนอนอยู่ แล้วพบว่าลูกมีลูกตากระพริบไปมา หรือกรอกตาไปมา  บางครั้งอาจพบแขนขากระตุก หรือ หายใจไม่สม่ำเสมอ ก็ขอให้ทราบว่าลูกกำลังนอนฝันอยู่ครับ  และในขณะที่กำลังฝันอยู่ถ้าถูกปลุกขึ้นมา ก็จะสามารถเล่าเหตูการณ์ในฝันได้ดี และบอกว่ากำลังนอนฝันอยู่  แต่ถ้ารอให้อาการตากระตุก หรือกรอกตาไปมาสงบแล้ว  ดูนอนนิ่งสงบ หลับต่อ ถ้าถูกปลุกขึ้นมาก็จะไม่สามารถเล่าเหตูการณ์ในฝันได้ และก็จะบอกว่า กำลังหลับสบายอยู่เลย ปลุกขึ้นมาทำใม

ความผิดปกติขณะฝัน
ในขณะที่เราฝัน แม้ว่าเราเชื่อและรับรู้ ความฝันว่าคือความจริง และมีอารมณ์ร่วมกับความฝันนั้น  แต่ความฝันนั้นก็จะไม่ทำให้เราตื่นขึ้นจากความฝัน และคนส่วนใหญ่ก็จำความฝันนั้นไม่ได้ถ้าไม่ถูกปลุก หรือตี่นในขณะฝัน   แต่บางกรณีความฝันนั้นน่ากลัวมาก น่ากลัวจนทำให้เราตื่นมา  เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ฝันร้าย(Night mare)ครับ  ฝันร้ายพบได้บ่อยในเด็กครับ แต่เมื่อโตขึ้นฝันร้ายก็จะลดน้อยลง เด็กที่ตื่นจากฝันร้าย จะจำความฝันได้ดีเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้พ่อแม่ฟังได้ หรืออาจลุกขึ้นมาจากที่นอน (ในกรณีที่นอนคนเดียว) แล้วเดินมาซุก และขอนอนอยู่กับพ่อแม่ตอนกลางดึก พ่อแม่อาจพบจะพบว่า ลูกเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วแรง  อาการฝันร้ายจำเป็นต้องแยกจาก Night Terror ครับ (ดูรายละเอียดเรื่อง Parasomnias ฉบับที่แล้ว)  ในเด็กบางคน (ซึ่งมักจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็กครับ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคทางสมองพากินสัน) เวลาฝันมักจะออกอาการท่าทางต่าง ๆ หรือแสดงออกท่าทางตามเหตุการณ์ที่กำลังฝัน เราเรียกภาวะนี้ว่า พฤติกรรมผิดปกติขณะฝัน (REM related behavior disorders) ซึ่งภาวะนี้จะผิดปกติครับ ดังที่กล่าวข้างต้น กล้ามเนื้อทั่วร่างกายควรจะอ่อนแรงทำให้ไม่สามารถขยับแขนขาได้ ในขณะฝัน (REM period) แต่กลับออกอาการท่าทางต่าง ๆ หรือแสดงออกท่าทางตามเหตุการณ์ที่กำลังฝันออกมา
มีความผิดปกติอีกชนิดหนึ่ง ที่พบได้ไม่บ่อย และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ขอเอ่ยชื่อแนะนำให้รู้จักเพื่อความสมบูรณ์ครับคือ โรคลมหลับ (Narcolepsy) เด็กจะง่วงนอนมากในตอนกลางวัน แล้วก็จะมีความฝันที่โผล่เข้ามาในระยะที่เด็กตื่นอยู่ หรืออาจเรียกว่า “ฝันตอนกลางวันขณะกำลังตื่น”ก็ได้   เด็กจะมีอาการเหมือนคนฝันคือ ประสาทหลอน แขนขาอ่อนแรงเวลาที่มีความฝันโผล่เข้ามาในขณะตื่นครับ


ถ้าลูกของท่านมีอาการผิดปกติ  ฝันร้ายบ่อยหรือพฤติกรรมผิดปกติในขณะหลับ ถ้ารุนแรงคงต้องพบแพทย์รักษาด้วยยาครับ