นัดพบแพทย์

ลูกหัวไม่ทุย หัวเบี้ยว ทำอย่างไรดี

01 Aug 2016 เปิดอ่าน 40899

แน่นอนครับว่าคุณพ่อแม่ คุณปู่ย่าที่บ้านส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะให้ลูกหลานของตนเองนั้นได้รับสิ่งที่ดีในทุกๆเรื่อง ไม่เว้นแม้เรื่องความสวยงาม โดยเฉาะในเด็กเล็กที่ผู้ปกครองมักมีความกังวลเรื่องลักษณะรูปทรงของศีรษะว่าสวยได้รูปและทุยหรือไม่ จึงนิยมจัดท่าให้เด็กนอนคว่ำ
ซึ่งจากฉบับที่แล้วอาจทำให้มีข้อสงสัยและกังขากันอย่างมากในเรื่องที่ผมแนะนำให้เด็กนอนหงาย เนื่องมาจากปัญหาการนอนคว่ำที่อาจส่งผลเสียหลายอย่างและไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงในมุมมองของผมซึ่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญเรื่องโรคในเด็กครับ กล่าวคือ มีโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตในขณะนอนหลับได้จากภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) แม้ว่าภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยในประเทศของเรา แต่ผมคิดว่าไม่ควรที่จะเสี่ยงดีกว่ามิใช่หรือครับ (สามารถอ่านรายละเอียดเรื่องภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome ในฉบับที่ 423 ได้ครับ) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของลูกน้อยจาก SIDS ได้โดยการให้ลูกนอนหงายครับ และควรให้นอนหงายทั้งการนอนช่วงกลางวันและกลางคืน
คราวนี้ปัญหาหรือคำถามที่ตามมาก็เกิดขึ้นว่า การนอนหงายจะส่งผลถึงลักษณะศีรษะของเจ้าตัวน้อยได้ คราวนี้จะทำอย่างไรให้เทวดาตัวน้อยๆของพ่อแม่มีรูปหัวออกมาสวย หรือหัวไม่เบี้ยว และหากหัวเบี้ยวแล้วจะทำอย่างไร ดังนั้นในฉบับนี้ผมจึงขอเล่าถึงภาวะ “หัวเบี้ยว” เพื่อคลายความสงสัยหรือข้อคำถามจากฉบับก่อนครับ

หัวไม่ทุย หัวเบี้ยว คืออะไร
หัวไม่ทุยหรือหัวเบี้ยว เป็นหนึ่งในความผิดปกติในหลายแบบของกะโหลกศีรษะครับ ในกลุ่มที่แพทย์เรียกว่า “Skull deformities” หัวไม่ทุย คือ ลักษณะกะโหลกศีรษะบริเวณท้ายทอยแบนราบ  ซึ่งทางแพทย์เรียกกระดูกนี้ว่า occiput ดังนั้นท้ายทอยแบนราบ คือ  flat  occiput ครับ คือภาวะที่กระดูก occiput ทั้งด้านซ้ายและขวาแบนราบไป แต่ถ้าหัวเบี้ยว ก็จะเกิดจากภาวะที่กระดูก occiput เพียงด้านซ้าย หรือด้านขวา ด้านใดด้านหนึ่งแบนราบไป ภาวะนี้พ่อแม่จะกังวลและวิตกมากกว่าครับ เข้าทำนองหัวแบนยังพอรับได้ แต่หัวเบี้ยวนี่ทำใจยาก เนื่องจากมองเห็นได้ชัด ไม่ใช่ไม่สวย แต่แลดูออกจะน่าเกลียดเลยด้วยซ้ำ ในทางการแพทย์ ภาวะนี้จะมีชื่อทางวิชาการแตกต่างกันไป แต่ที่ใช้บ่อยคือ Plagiocephaly ครับ ซึ่งเป็นภาษากรีกแปลว่า “หัวเบี้ยว”

หัวไม่ทุย หัวเบี้ยว เกิดจากอะไร

แบ่งแยกได้ 2 แบบครับ คือแบบแรกเกิดตั้งแต่แรกคลอดใหม่ และแบบที่สองจะเกิดขึ้นภายหลัง ในแบบแรกจะพบว่าลักษณะศีรษะของลูกจะผิดปกติ ผิดรูปไปตั้งแต่แรกคลอดเลย สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือหลังคลอดใหม่ๆ ครับ ซึ่งพบได้น้อยกว่าแบบหลังครับ แบบที่สอง เมื่อแรกคลอดจะปกติดีแต่ต่อมา หัวจะเริ่มผิดปกติ หรือเริ่มเบี้ยว    
ในแบบแรกสาเหตุของหัวเบี้ยวชนิดนี้ส่วนใหญ่ เป็นความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์มารดา จากการกดทับของมดลูกต่อกะโหลกส่วนท้ายทอยของลูกเป็นเวลานาน จะพบได้ในรายที่แม่มีมดลูกเล็ก กดรัดมาก หรือในรายที่มีลูกแฝด  หรืออาจพบหลังคลอดใหม่ๆ จากการใช้อุปกรณ์ของสูตินรีแพทย์ เช่น การใช้คีมหรือเครื่องสุญญากาศช่วยคลอดในรายที่มีปัญหาคลอดยากก็เป็นได้ ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะพบได้บ่อยกว่าเด็กทารกครบกำหนด เนื่องจากกะโหลกศีรษะของเด็กไม่แข็งเท่ากับผู้ใหญ่ คือจะไม่แตกร้าวแต่จะกดแล้วบุ๋มได้เหมือนลูกปิงปองครับ
ในรายที่กะโหลกศีรษะผิดรูปเกิดภายหลังคลอด ส่วนใหญ่เกิดจากการนอนอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ กะโหลกที่มีลักษณะรูปวงรีสวยงามจะเบี้ยวไปโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย  และมักจะเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง ถ้านอนด้านนั้นนานมาก หรืออาจจะมีท้ายทอยแบนราบ ถ้านอนหงายเป็นเวลานานครับ เราเรียกหัวเบี้ยวแบบนี้ว่า “Positional skull deformities” ครับ  

หัวเบี้ยวมีลักษณะอย่างไร 

หัวเบี้ยว หรือ Plagiocephaly เป็นภาวะที่เกิดจาก ท่าทางการนอนท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะเป็นท่านอนหงาย (ต่อเนื่องจากบทความฉบับที่แล้วครับ) คือภายหลังที่มีการรณรงค์ให้เด็กแรกเกิดมีการนอนหงาย (Back to step) เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการนอนหลับ (SIDS) แล้วปรากฏว่ามีเด็กแรกเกิดมีปัญหาเรื่องกะโหลกศีรษะผิดรูปมากขึ้น ขอย้ำอีกครั้งว่า กะโหลกศีรษะผิดรูป (Skull deformities) นี้จะเกิดหลังคลอดซึ่งเกิดจากการนอนหงายท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานครับ (positional related) ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญคือ แรกเกิดจะปกติหัวทุยดีแต่เมื่อโตขึ้น ท้ายทอยจะแฟบหรือแบนราบไป เด็กที่ศีรษะเบี้ยวจากปัญหานี้จะมีลักษณะคือ ถ้ามองจากด้านบนลงมาจะแล้วสังเกตตำแหน่งของใบหู กระดูกโหนกแก้ม (zygoma) กระดูกท้ายทอย (occiput) กระดูกหน้าผาก (frontal) จะพบว่ากระดูกท้ายทอยจะแบนไม่เท่ากับอีกด้าน กระดูกหน้าผากจะยื่นออกมา และใบหูจะเลื่อนไปด้านหลัง (ดูรูปประกอบ) ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยมากครับ อาจพบได้ 1 ใน 300 รายต่อการคลอดปกติ

ภาวะอื่นที่ทำให้ลูกหัวเบี้ยว
เด็กปกติทุกคนเวลานอนหงายไม่จำเป็นจะต้องมีหัวเบี้ยวทุกรายครับ ตัวเลขดังกล่าวข้างต้น ดงไม่ต้องตื่นตกใจมากนัก บางรายเท่านั้นที่มีปัญหา เด็กปกติสามารถหันคอไปมาได้เอง หรือสลับซ้ายทีขวาที  ในเด็กบางคนที่เป็นโรคบางชนิด กะโหลกศีรษะนุ่มกว่าปกติ หรือเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือในเด็กบางรายจะมีความผิดปกติของคอ คือมีภาวะคอเอียงตลอดเวลา ที่ทางแพทย์จะเรียกว่า Torticollis ซึ่งเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แต่สาเหตุที่พบบ่อยมากคือจะมีเลือดออกในกล้ามเนื้อที่บริเวณคอ แล้วหายกลายเป็นพังผืด ให้กล้ามเนื้อด้านตรงข้ามทำงานตลอดเวลา คอจึงเอียง เด็กจะนอนหันหน้าด้านใดด้านหนึ่งตลอดเวลา นอกจากนี้จำเป็นต้องแยกจากกะโหลกผิดรูปที่เกิดจากรอยแยกของกะโหลก หรือ suture เชื่อมปิดเร็วกว่าปกติ (premature closure) โดยเฉพาะรอยแยกที่เรียกว่า Lamdoid ครับ (ดูรูปประกอบ) ในรายที่เกิดจากรอยแยกของกะโหลกปิดเร็ว (Lamdoid craniosynostosis จะพบได้น้อยกว่ามากมากครับ หรือ 3 ในแสนรายครับ

 

ป้องกันไม่ให้ลูกหัวเบี้ยวต้องทำอย่างไร
แม้ว่าภาวะนี้พบน้อย แต่หมอก็พบได้เป็นระยะ แม้เด็กส่วนมากจะพบว่ามีภาวะคอเอียงเสียมากกว่า อย่างไรก็ดีการป้องกันแน่นอนว่าสำคัญที่สุดครับ ในที่นี้ผมจะขอแนะนำผู้ปกครอง หรือพ่อแม่ในระยะแรกคลอดหรือ 2 - 3 สัปดาห์แรกหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดเนื่องจากกะโหลกศีรษะจะอ่อนและเกิดความผิดปกติได้ง่าย ด้วยวิธีการง่ายๆ คือ
ขณะที่ลูกน้อยนอนหงายเวลาหลับ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องคอยช่วยจับศีรษะลูกสลับด้านที่นอนกดทับพลิกไปมาเป็นระยะๆ สลับกันไปครับ และเมื่อเวลาลูกตื่นนอน มีความจำเป็นมากครับที่ต้องพยายามให้ลูกนอนคว่ำ (prone position)  และหมอขอแนะนำด้วยว่าต้องคอยจับลูกนอนคว่ำหน้าในขณะตื่น การนอนคว่ำหน้าในเด็กจะทำเฉพาะตอนตื่นนอนเท่านั้นนะครับผมขอย้ำ (ดูรายละเอียดฉบับก่อนหน้านี้) เวลาตื่นนอนเราจะเรียกว่า Tummy time ครับ นอกเหนือจากจะช่วยให้ลูกได้มีโอกาสบริหารกล้ามเนื้อคอ และไหล่เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ ได้ด้วยแล้ว ขณะเดียวกันก็ป้องกันศีรษะเบี้ยวได้อีกด้วย
ในต่างประเทศ หรือพ่อแม่คนไทยบางรายเวลาลูกตื่นนอนมักจะให้ลูกนอนอยู่ในที่นอนเด็ก หรือ car seat ที่จะมีลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน เด็กจะอยู่ในท่านอนหงายตลอดเวลาแม้เวลาตื่นนอน การทำเช่นนี้ไม่แนะนำครับและจะส่งผลต่อรูศีรษะของเด็กด้วย
การจัดตำแหน่งของศีรษะลูกบนเตียงนอนอาจช่วยได้ ในกรณีเด็กที่มีความจำเป็นต้องนอนหงายแล้วหันคออยู่ท่าใดท่าหนึ่งตลอดเวลา เช่น อาจเกิดภาวะคอบิด ดังกล่าวข้างต้น การหันศีรษะลูกเพื่อให้มองเห็นกิจกรรมของพ่อแม่ หรือคนเลี้ยงอาจช่วยให้เด็กมีความพยายามที่จะไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งตลอดไปได้

ถ้าลูกหัวเบี้ยวแล้วต้องทำอย่างไร
ในรายที่มีภาวะศีรษะเบี้ยวตั้งแต่แรกคลอด แต่ภายหลังจากคลอด 2 - 3 เดือน ก็จะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ แต่หากเด็กเหล่านี้ยังนอนหงายโดยใช้บริเวณท้ายทอยที่แบนราบสัมผัสพื้นต่อไป ภาวะดังกล่าวจะยังคงอยู่ครับ และอาจแย่ลงได้ด้วย การแย่ลงนั้นเกิดจากผิวหนังของศีรษะกดทับบริเวณท้ายทอยครับ ดังนั้น ในรายที่เกิดมีภาวะหัวเบี้ยวแล้ว อาจใช้วิธีนอนคว่ำเวลาตื่นดังกล่าวข้างต้นหรือใช้วิธีการจัดเตียงแทน โดยให้เด็กนอนหงายนอกเหนือจากนอนคว่ำ แต่จัดท่าให้นอนหงายในท่าที่เด็กไม่ค่อยหันมองออกด้านนอก อาจหันเข้าหากลางห้อง เพื่อให้เด็กมีความพยายามที่จะเปลี่ยนท่านอนตนเอง การทำดังกล่าวจะช่วยได้แก้ปัญหาหัวเบี้ยวได้ แต่จะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือน
ในรายที่ทำตามคำแนะนำดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้นอาจต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง การรักษาจะได้ผลดี หากมาพบแพทย์ในช่วงอายุของลูกประมาณ 4 - 12 เดือนครับ เนื่องจากเป็นช่วงที่กะโหลกศีรษะของลูกยังมีความอ่อน สามารถจะปรับเข้ารูปได้ง่ายๆ ในรายที่ไม่ได้ผลอาจต้องลงเอยด้วยวิธีการใส่หมวกคล้ายหมวกกันน็อก หรือ (Skull molding helmet) ส่วนการผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้ายและจะทำในรายที่ไม่ได้ผลจริงๆ หรือมีปัญหาอื่น ซึ่งจะพิจารณาทำน้อยรายมากครับ

นพ.นที รักษดาวรรณ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://motherandchild.in.th/content/view/344/113/