นัดพบแพทย์

สารพัด 'ความเชื่อ' เมื่อตั้งครรภ์ เรื่องที่ควรเข้าใจให้ถูกต้อง!

05 Aug 2016 เปิดอ่าน 2864

แม้ว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์จะพัฒนาไปไกล แต่ความเชื่อที่เล่าขานกันปากต่อปากของคนโบราณยังคงมีอยู่ แล้วแต่ใครจะเชื่อมากเชื่อน้อย เช่นกันกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเชื่อต่างๆ นานา และย่อมมีผลต่อลูกแทบทั้งสิ้น ซึ่งบางอย่างคุณแม่หลายคนมักเชื่อ และงมงาย จนบางครั้งเกิดเป็นข้อจำกัดให้ระวังตัวเองจนเคร่งเครียดมากเกินไปโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

ทำให้วันนี้ ทีมงาน Life & Family ได้รวบรวมความเชื่อของคุณแม่ตั้งครรภ์มาไขให้หายข้องใจ โดยมี "รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ" ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ให้คำตอบในแต่ละความเชื่อ

ความเชื่อ : น้ำมะพร้าวทำให้ลูกผิวพรรณเกลี้ยงเกลาได้จริงหรือไม่ อย่างไร?

ข้อเท็จจริง : เป็นเรื่องที่มีคนถามบ่อยที่สุด เพราะเป็นความเชื่อของคนโบราณที่ยึดถือมาตั้งแต่อดีต สำหรับการให้คนท้องดื่มน้ำมะพร้าว จนถึงปัจจุบันยังมีคุณแม่ที่มาฝากครรภ์เลือกปรึกษาเรื่องนี้อยู่ แต่ความเชื่อมีสองด้าน ทั้งดีและไม่ดี อย่างผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะบอกว่าดื่มน้ำมะพร้าวแล้วจะทำให้ผิวพรรณของลูกมีสุขภาพที่ดี บางคนบอกว่าทำให้ลูกเป็นคนฉลาดหลักแหลมก็ยังมีให้เห็นไม่น้อยเหมือนกัน แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อเหล่านี้ เพราะเขาได้รับความรู้ว่า ถ้าดื่มน้ำมะพร้าวมากๆ จะทำให้คุณแม่เกิดอาการน้ำเดิน หรือที่เรารู้จักกันคือ ตอนคลอดเด็กยังไม่กลับหัวแต่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อน

แต่ทางการแพทย์ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอาการต่างๆ ที่กล่าวมา เพราะน้ำมะพร้าวก็เป็นน้ำผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ ให้สารอาหารทั้ง วิตามินและแร่ธาตุ เช่นเดียวกับน้ำผลไม้ชนิดอื่นๆ น้ำมะพร้าวมีเกลือแร่หลายชนิดเช่น โปรแตสเซียม แมคนีเซียม แคลเซียมที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ช่วยลดอาการท้องผูก ทำให้กระปรี้กระเปร่า ป้องกันอาการขาดน้ำ แต่ต้องเป็นน้ำมะพร้าวที่มาจากธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่น้ำมะพร้าวที่ได้จากการเพิ่มเติมสารให้ความหวานและหอมต่างๆ เข้าไป ซึ่งกรณีนั้นการดื่มน้ำมะพร้าวจะไม่ได้ให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเลย อีกทั้งยังจะได้รับสารพิษที่ปะปนอยู่ในนั้น

ความเชื่อ : สีของอาหารเปลี่ยนสีผิวลูกได้จริงหรือไม่ อย่างไร?

ข้อเท็จจริง : การรับประทานอาหารที่มีสีขาว เช่น ไข่ต้ม และอาหารที่มีสีดำ เช่น เฉาก๊วยและงาดำ มีความเชื่อว่า จะทำให้ลูกมีสีผิวตามอาหารที่เรารับประทานนั้น ไม่จริงค่ะ เพราะคุณหมอบอกว่า สีผิวของมนุษย์เกิดจากการผสมของยีนเด่น และยีนด้อยจากพ่อและแม่ ซึ่งเป็นพันธุกรรมของแต่ละคนที่จะได้รับจากพ่อแม่ของตัวเอง จะมีความคล้ายพ่อหรือแม่ขึ้นอยู่กับจำนวนเม็ดสีของผิวหนังที่ได้รับ โดยปริมาณของเม็ดสีผิวจะมากหรือน้อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีของอาหารที่รับประทานเข้าไป เนื่องจากอาหารทุกประเภทก็มีประโยชน์อยู่ในตัวของมันเอง ฉะนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเน้นรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

ความเชื่อ : ทำฟันตอนตั้งครรภ์มีอันตรายต่อลูกในท้องจริงหรือไม่ อย่างไร?

ข้อเท็จจริง : เรื่องของการทำฟัน บางคนมีความเชื่อว่าจะส่งผลให้เด็กคลอดง่าย แต่อีกหลายคนสงสัยว่าจะเกิดอันตรายมากกว่า ซึ่งการทำฟันในช่วงที่ตั้งครรภ์คุณหมอบอกว่า สามารถทำได้ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนต้องมีการแจ้งกับทันตแพทย์ก่อนว่ากำลังตั้งครรภ์ เพราะการทำฟันบางอย่างก็ไม่เหมาะสมในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะว่ายาบางชนิดอาจส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้

ดังนั้น ก่อนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ จะไปทำฟัน หรือมีความจำเป็นต้องทำฟันในระหว่างที่ท้องอยู่ จะต้องมีการแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อน หรือถ้ามีอาการแพ้ยาจะต้องมีการกรอกประวัติให้แพทย์ทราบก่อน เพื่อทำการรักษาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อลูกในท้องและมีความปลอดภัยมากที่สุด

ความเชื่อ : ดูรูปดาราหล่อๆ สวยๆ จะทำให้ลูกหล่อสวยเหมือนดารา เรื่องนี้จริงหรือไม่ อย่างไร?

ข้อเท็จจริง : ไม่ได้เกี่ยวกันเป็นเสมอไป แต่ผลที่วิจัยออกมาได้ผลคือ คุณแม่ที่มีความหวังดีกับลูก คิดถึงลูก พอได้มองดูอะไรที่มันสวยงาม ก็จะมีสภาวะทางจิตใจที่ดี ร่าเริงแจ่มใจและมีความสุข ซึ่งถ่ายทอดไปถึงลูกที่อยู่ในท้องให้อารมณ์ดี แต่ถ้าหากแม่มีอาการเครียด หงุดหงิด ความรู้สึกนั้น จะส่งผลโดยตรงไปยังเส้นประสาท ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นกว่าปกติ จนมีการหลั่งสารความเครียดออกมา ส่งผลให้ลูกมีการเต้นของหัวใจที่เร็วตามและเกิดภาวะเครียดในครรภ์ได้

ความเชื่อ : กินของแฝด จะได้ลูกแฝด จริงหรือไม่ อย่างไร?

ข้อเท็จจริง : เป็นความเชื่อที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะการที่เด็กเกิดมาเป็นฝาแฝด มีอยู่ 2 กรณี คือ เด็กแฝดที่เกิดจากอสุจิ 1 ตัว ปฏิสนธิในไข่ใบเดียวกัน เกิดเป็นตัวอ่อน แต่ด้วยความบังเอิญตัวอ่อนเกิดการแบ่งตัวเป็น 2 ตัว ส่วนกรณีที่ 2 เกิดจากที่ผู้หญิงมีการตกไข่ในรอบเดือน ส่วนใหญ่จะมีการตกไข่เพียง 1 ใบ แต่ก็มีบางรายที่มีการตกไข่หลายฟอง แต่พบไม่บ่อยมากนัก และความบังเอิญที่อสุจิก็ผสมกับไข่คนละฟองก็เลยเป็นสาเหตุให้เกิดเป็นเด็กแฝดได้ ซึ่งบางรายก็มีการตกไข่มากกว่า 2 ใบก็มีโอกาสเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของทั้ง 2 กรณีนี้ คุณหมอให้ความรู้เพิ่มเติมว่า เด็กที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันจะมีลักษณะที่เหมือนทุกประการในเรื่องของพันธุกรรม และต้องมีเพศเดียวกัน ส่วนเด็กฝาแฝดที่เกิดจากไข่คนละใบ บางครั้งอาจจะไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะมีเพศเดียวกันหรือตรงข้ามกันก็เป็นได้

ความเชื่อ : "งานอัปมงคล" ถ้าไปแล้วผีจะเข้าสิงลูก จริงหรือไม่อย่างไร?

ข้อเท็จจริง : เมื่อก่อนการไปร่วมงานศพ ของผู้หญิงที่กำลังท้อง อาจเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะมีความเชื่อกันว่า จะทำให้วิญาณของผู้ตายมารบกวนลูกที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ความจริงแล้ว งานดังกล่าว เป็นงานที่หดหู่ เศร้าใจ บางครั้งอาจทำให้ตัวคุณแม่เกิดความรู้สึกนั้นตามไปด้วย และส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของลูกในท้องได้

จากความเชื่อทั้ง 6 เรื่องข้างต้น หรือยังมีความเชื่ออื่นๆ ที่ทีมงานไม่ได้นำมาเขียน ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ถึงกระนั้น รศ.นพ.วิชัยเปิดเผยให้ฟังว่า มีวิจัยทางการแพทย์ที่ทดลองเปรียบเทียบความแตกต่างของคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยแบ่งกลุ่มของตัวแปรในการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม เกี่ยวกับความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง

จากการเปรียบเทียบลูกที่คลอดออกมาจากแม่ที่ยึดหลักตามความเชื่อกับแม่ที่ทำตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์ ผลออกมาก็ไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะฉะนั้น คุณหมอแนะนำว่า ยังมีทางเลือกอีกมากมาย ทั้งหนังสือ หรือคู่มือในการดูแลสุขภาพครรภ์ ตลอดจนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยให้คำปรึกษาต่างๆ เพื่อให้แม่และลูกมีสุขภาพที่ดี แทนที่จะไปเสี่ยงกินหรือปฏิบัติตามความเชื่อที่ยังพิสูจน์ไม่ได้เหล่านั้น

"เรื่องความเชื่อที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ควรจะฟังหูไว้หู ควรศึกษาจากคู่มือของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็มีอยู่มากมาย เพราะความเชื่อบางอย่างมันอาจจะไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร แต่ถ้าเรามองในทางสายกลาง ก็ไม่สามารถชี้ชัดว่าสิ่งไหนถูกหรือสิ่งไหนผิด การที่เราทำตามความเชื่อของคนสมัยโบราณแล้ว ไม่เกิดผลเสียใดๆ กับตัวเราและลูกในครรภ์ ตามหลักทางการแพทย์ก็คงจะไม่ห้าม เพราะถ้าทำแล้วเกิดความสบายใจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของบุคคล รวมถึงควรศึกษาประโยชน์และโทษของเรื่องเหล่านั้นให้ละเอียดและรอบคอบ" รศ.นพ.วิชัยกล่าวทิ้งท้าย

โดย MGR Online

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th