นัดพบแพทย์

อาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งควรรับประทานขณะรักษา

10 Jan 2017 เปิดอ่าน 2340

หลายท่านคงได้รับข้อมูลจากการบอกเล่าหรือการอ่านว่า การเลือกรับประทานอาหารสามารถป้องกันหรือรักษาโรคมะเร็งอย่างได้ผล ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราควรจะเลือกรับประทานอาหารบางอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็ง หรือถ้าเป็นโรคมะเร็งแล้ว ควรจะเลือกบริโภคอาหารอะไรเพื่อช่วยควบคุมโรค คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่ผู้ป่วยจำนวนมากในปัจจุบันถามต่อแพทย์ผู้รักษา โดยหวังว่า แพทย์สามารถให้คำตอบได้ว่า ควรจะรับประทานอาหารอย่างไรเพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดีที่สุด

ปัจจุบัน มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารกับต่อโรคมะเร็งอยู่พอ สมควร มักพบว่า อาหารบางชนิดอาจมีผลต่อการเกิด หรืออาจป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้บ้าง เช่น อาหารที่มีสารไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้ปิ้ง ย่าง จนเกรียม อาหารที่มีส่วนผสมของไนไตรทจากสารรักษาสภาพอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารหมักดอง และอาหารที่มีความชื้นและมีเชื้อราปนเปื้อน ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งมากกว่าอาหารอื่น

อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงโดยการทอดหรือผัดซึ่งมีไขมันสูงจนทำให้เกิดโรคอ้วน อาจเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม มีทฤษฎีว่าโรคมะเร็งอาจเกิดจากผลของสารอนุมูลอิสระ (oxygen free radical) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของการเผาผลาญอาหาร ถ้ามีอนุมูลอิสระนี้มากเกินไป เซลปกติอาจกลายพันธุ์เป็นเซลมะเร็งได้ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า antioxidant พบมากในผักและผลไม้บางชนิด เช่น ชาเขียว ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น จะช่วยต้านผลของสารอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็งได้ระดับหนึ่ง

การ ทานเนื้อสัตว์ ประเภทเนื้อแดง ไขมันสูง ให้พอเหมาะ ทานปลามากขึ้น เน้นผักผลไม้ให้มากขึ้น อาหารประเภทกากใย เช่น ผักผลไม้บางชนิด ซึ่งมีบทบาทในการกำจัดอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคมะเร็งไม่ได้เกิดขึ้นจากผลของอาหารอย่างเดียวโดยตรง ไม่เช่นนั้นแล้ว ครอบครัวเดียวกันที่มีใครคนหนึ่งเป็นมะเร็ง สมาชิกท่านอื่นในครอบครัวที่รับประทานอาหารคล้ายกันก็น่าที่จะเป็นมะเร็งแบบเดียวกันไปด้วยทั้งหมด ดังนั้น อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งไม่มีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้ผู้บริโภคเกิดมะเร็งโดยตรง แต่น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการก่อโรคมะเร็ง ดัง นั้น อาหารเพื่อต่อต้านการเกิดมะเร็งจึงควรเป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ไม่ใช่เลือกที่จะบริโภคหรือไม่บริโภคอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง และเป็นอาหารที่มีความสะอาด เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งอยู่แล้ว ความต้องการอาหารจะแตกต่างจากคนปกติ

เพราะผู้ป่วยมะเร็งต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การรับยาเคมีบำบัด ซึ่งต้องการสารอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อซ่อมแซมเซลปกติ และ ช่วยให้ร่างกายสามารถรับการรักษาได้ครบถ้วนตามแผนที่แพทย์ได้วางไว้ นอกจากนี้ โรคมะเร็งหรือวิธีการรักษาอาจมีผลทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร แผลอักเสบเยื่อบุช่องปากหรือหลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีแนวโน้มที่จะขาดสารอาหาร และมีน้ำหนักตัวลดลง ดังนั้น ควรพยายามรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ในระหว่างการรักษา ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญมากคือ อาหารต้องสุกและสะอาด ในขณะที่มีภาวะเม็ดโลหิตขาวต่ำหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ต้องหลีกเลี่ยงอาหารไม่สุก เช่น หอยนางรม กุ้งเต้น ปลาดิบ

ผู้ป่วยที่มีอาการเบื่ออาหาร ควรทานอาหารทีละน้อย แต่บ่อยขึ้น ในบางกรณี ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทานอาหารเองทางปากได้เพียงพอ อาจจำเป็นต้องรับอาหารทางสายยางทางจมูกหรือหน้าท้องเข้ากระเพาะอาหาร หรือทางเส้นเลือดดำ

ปัจจุบัน มักมีผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการบอกเล่าว่า ควรเลือกทานแต่อาหารจำพวกผักและเนื้อปลา เพราะมะเร็งชอบอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่นที่ไม่ใช่ปลา ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายรายต้องประสบกับภาวะขาดสารอาหารจากการปฏิบัติ ตัวอย่างเคร่งครัดตามความเชื่อดังกล่าว ผลลัพธ์คือน้ำหนักตัวลดลง ทนการรักษาได้น้อยลง ทำให้รับการรักษาไม่ได้ตามแผน ซึ่งมีผลให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังเกิดความวิตกกังวลมากจนเกินพอดีกับการที่จะรับประทานอาหารนอก กฏที่ตั้งไว้ ความจริงแล้ว เซลมะเร็งเป็นเซลในร่างกายของผู้ป่วย แต่มีความสามารถบางอย่างสูงกว่าเซลปกติ แม้ว่าผู้ป่วยจะอดอาหารโดยไม่รับประทานอะไรเลย เซลมะเร็งก็ยังมีความสามารถในการเจริญเติบโตได้

ที่สำคัญ ยังไม่เคยมีหลักฐานว่าการเลือกรับประทานอาหารจะทำให้มะเร็งโตช้าลงหรือฝ่อลงแต่อย่างใด เนื้อสัตว์หนึ่งคำที่รับประทานเข้าไป ย่อมกระจายไปสู่เซลต่างๆ ทั่วร่างกาย ไม่ได้เลือกที่จะวิ่งไปสู่ก้อนมะเร็งเพียงที่เดียว ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นของโรคมะเร็งตามมาอีกด้วย ดังนั้น ขอ ย้ำว่าอาหารต้านมะเร็งควรรับประทานคืออาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนและ สมดุล มีความสุกสะอาด ไม่ใช่เลือกรับประทานอาหารเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง

โดย : นายแพทย์ เอกภพ สิระชัยนันท์

ขอบคุณบทความจาก : http://www.herb4life.net