นัดพบแพทย์

เด็กพัฒนาการล่าช้าป้องกันดีกว่า How to Prevent Delayed Development

01 Aug 2016 เปิดอ่าน 2911

 
กันไว้ดีกว่าแก้
   การป้องกันก็เหมือนกับคำสุภาษิตที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ซึ่งเป็นปรัชญาที่ใช้ได้ในทุกวงการและทุก ๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสุขภาพครับ  ในวงการแพทย์เรารู้ดีว่าการป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพถือว่าเป็นการได้เปรียบ และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการที่รอให้คนไข้ป่วยก่อนแล้วค่อยมารักษา  เปรียบได้กับการที่เราไม่อยากให้ทรัพย์สินเสียหายเราก็ทำประกัน ถ้าเราไม่อยากเป็นโรคอัมพาตหรือหลอดเลือดสมอง เราต้องควบคุมความดันโลหิต ควบคุมน้ำตาลเพื่อป้องกันเบาหวาน รวมถึงควบคุมไขมันในเส้นเลือด  และถ้าเราไม่อยากให้ลูกหลานเราเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรง เช่น วัณโรค โปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หัด อีกสุกอีใส เราจึงต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ การป้องกันยังขยายขอบเขตไปสู่โรคไม่ติดเชื้อในเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น การป้องกันโรคอ้วน ป้องกันเด็กติดเกม ป้องกับฟันผุ ป้องกันอุบัติเหตุทั้งในบ้านและนอกบ้าน ป้องกันภาวะหูหนวก ป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง  ป้องกันปัญหาที่เกิดจากความพิการทางสมองเมื่อลูกโตขึ้น
ป้องกันปัญหาพัฒนาการล่าช้าของเด็ก

   ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนอยากได้ลูกที่เป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงตัวน้อยที่มีความน่ารัก อ่อนหวาน สดใสร่าเริงพร้อมเฉลียวฉลาด และคงไม่ต้องการให้ลูกของตนเองมีความพิการทางด้านสมอง ในเด็กที่มีความพิการทางด้านสมองเมื่อโตขึ้นจะมีลักษณะสำคัญคือ ความบกพร่องของสติปัญญาตั้งแต่ระดับที่เล็กน้อยเรียนได้แต่ก็ไม่เก่ง หรือระดับปานกลางที่พอเข้าใจเหตุผลง่ายๆช่วยเหลือตนเองได้แต่ก็เรียนไม่ได้  ไปจนถึงบกพร่องมากจนพูดคุยไม่เข้าใจหรือเรียนรู้ไม่ได้เลย  ในบางรายก็มีความบกพร่องเฉพาะเรื่องของสมาธิ บางรายมีความบกพร่องด้านการสื่อสารกับบุคคลอื่นร่วมกับการเข้าใจอารมณ์ที่รู้จักกันในชื่อออทิสติก รวมถึงปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ ความซึมเศร้า ก้าวร้าว ฉุนเฉียว นอกจากนี้เด็กบางรายมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อเกร็งที่เรียกกันว่าซีพี โรคลมชัก เด็กอาจมีความพิการซ้ำซ้อนที่มีปัญหาทางกายอื่นๆ  เด็กเหล่านี้อาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเป็นภาระของคนในครอบครัว  ปัญหาต่างๆดังกล่าวเหล่านี้โดยมาก มักจะพบในช่วงเด็กโตหรือเด็กที่อยู่ในวัยเรียนที่มีอาการแสดงออกมาอย่างชัดเจนแล้วครับ  แต่ในเด็กเล็กในวัยทารกหรือวัยเด็กตอนต้น (ก่อนอายุ 6 ปี) เราพบว่าเด็กในกลุ่มนี้จะมีปัญหาที่พบร่วมกัน คือ เด็กที่มีพัฒนาการที่ล่าช้าในวัยเด็กทารก กล่าวคือ มีพัฒนาการที่ไม่เท่ากับเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน (delayed development) ซึ่งความรุนแรงของปัญหาเมื่อโตขึ้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดูแลเด็กเหล่านี้ในช่วงวัยเด็กตอนต้นได้ดีและถูกวิธีมากน้อยแค่ไหน ครับและนี่คือที่มาของบทความในฉบับนี้นั่นเอง
โดยทั่วไปกุมารแพทย์จะให้การดูแลเด็ก 3 รูปแบบครับ คือ ให้การรักษา ให้การป้องกัน และให้การส่งเสริมสุขภาพ   โดยเด็กที่มาพบก็มีทั้งเด็กปกติ  และเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ได้ตามสาเหตุต่าง ๆ กัน คือ เด็กปกติสุขภาพแข็งแรง เด็กปกติไม่สบายฉับพลัน เด็กที่เป็นโรคประจำตัวเรื้อรัง และเด็กที่มีความพิการซ้ำซ้อน ซึ่งเด็กเหล่านี้ต่างก็ต้องการการรักษา ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพในระดับที่แตกต่างกันออกไป  การดูแลเด็กที่มีปัญหาเรื้อรังกับฉับพลันจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
เด็กที่มีไม่สบายแบบฉับพลัน เช่น ไข้สูงจากหูอักเสบ แพทย์จะใช้เวลาน้อย พ่อแม่จะคุ้นเคยว่าลูกจะต้องได้รับการรักษาอย่างไรและทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนด้วย แต่ในเด็กที่มีปัญหาเรื้อรัง เช่น พัฒนาล่าช้า โรคลมชัก แนวทางในการดูแลแบบเด็กไข้สูงนั้นใช้ไม่ได้ และแพทย์ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ โดยมีประเด็นต่าง  ๆ มากมายที่จะต้องมีการพูดคุยกับผู้ปกครอง โดยเฉพาะการให้ความรู้ ความเข้าใจในข้อมูลต่าง ๆ ทำให้ในปัจจุบันกุมารแพทย์มักจะนิยมดูแลเด็กปกติที่ไม่สบายฉับพลันมากที่สุด ส่วนการดูแล เด็กที่เป็นโรคประจำตัวเรื้อรัง เด็กพิการทางสมอง รวมถึงเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์นั้นกุมารแพทย์มักจะไม่นิยม ดังนั้นเด็กส่วนใหญ่เหล่านี้จะตกอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์เฉพาะด้านนั่นเองครับ
การเฝ้าระวัง และการตรวจกรอง 

  ต้องยอมรับครับว่าประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกานั้นมีแบบแผนการดูแลเด็กที่มีความพิการทางสมองอยู่ในระดับที่ดีมากและมีการปรับปรุงพัฒนามาตลอดเวลานานกว่า 40 ปีแล้ว ถ้าเด็กคนใดได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการการดูแลเป็นพิเศษ รัฐบาลจะเป็นผู้ดูแลและออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ ซึ่งหลายท่านคงพอจะทราบแล้วใช่มั๊ยครับว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กเหล่านี้มีราคาแพงมาก ในเมืองไทยบางครอบครัวมีความลำบากหรือไม่สามารถจะจ่ายค่ารักษาเป็นระยะยาวได้ ดังนั้นเพื่อที่จะลดรายจ่ายลง สามารถทำได้โดยการทำระบบการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะลดปัญหาของเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าในตอนโต วิธีการที่ใช้กันคือ การค้นหาเด็กเหล่านี้ในวัยเด็กเล็กให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะการป้องกันเรื่องปัญหาสติปัญญาบกพร่อง ปัญหาการเรียน ปัญหาพฤติกรรม และอารมณ์ของเด็กในวัยเรียนได้นั้น เราต้องค้นหา เพื่อดูแลเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็กให้ได้เร็วที่สุด ยิ่งพบเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการดีกับตัวเด็กมากขึ้นเท่านั้น และถ้าจะดีไปกว่านั้นเราจะต้องค้นหาเด็กเหล่านี้ให้พบก่อนที่จะเกิดปัญหาพัฒนาการที่ล่าช้าจริง 
     การค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าได้เร็วที่สุด  และการค้นหาเด็กเหล่านี้ก่อนที่จะมีปัญหาคือสองหนทางหลักในการป้องกันครับ การค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าให้เร็วที่สุดทำโดยใช้ 2 วิธีหลัก ๆ คือการเฝ้าระวัง (Surveillance) และการตรวจกรอง (Screening) นั่นเองครับ โดยอาศัยบุคลากรด้านการแพทย์ไม่เพียงแต่เฉพาะแพทย์เท่านั้น การเฝ้าระวังคือ พยายามมองสังเกตเด็กว่าเด็กคนไหนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีการพัฒนาการล่าช้า ส่วนการตรวจกรองคือ การใช้เครื่องมือมาตรฐานมาตรวจเด็กทุก ๆ คนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โดยอาศัยเครื่องมือที่มีความไวและความเจาะจงครับ ความไวคือสามารถแยกเด็กผิดปกติออกจากเด็กปกติได้ดี ความเจาะจงคือต้องไม่บอกว่าเด็กปกติคือเด็กที่ผิดปกติ  แม้ว่าจะมีแบบแผนในการดูแลเด็กพัฒนาการล่าช้าที่ดีแล้ว แต่จากปัญหาที่ผ่านมา เราพบว่าเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าที่ตรวจพบนั้นยังไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมเท่าที่ควร และพบว่ายังมีเด็กที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือการช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก จึงมีคำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์อเมริกาเมื่อปี (2006) ที่แก้ไขใหม่มีความว่า เด็กทุกคนควรได้รับการตรวจกรองภาวะพัฒนาการ เมื่ออายุ 9 เดือน, 18 เดือน และระหว่าง 24-30 เดือน ตามลำดับ เพื่อจะได้พบความเสี่ยงหรือพัฒนาการล่าช้าให้เร็วที่สุดเพื่อให้การดูแลได้เร็วที่สุด  ส่วนการค้นหาเด็กเหล่านี้ก่อนที่จะเกิดอาการนั้นทำได้ตั้งแต่ระยะก่อนคลอด หรือภายหลังคลอดทันทีก่อนที่เด็กแรกเกิดจะกลับบ้านไปพร้อมพ่อแม่ การตรวจกรองทารกทุกรายเมื่อแรกเกิดโดยตรวจหาโรคที่ทำให้เกิดภาวะสติปัญญาบกพร่องทำได้โดยการเจาะเลือดที่ส้นเท้าของเด็กภายหลังจากคลอดที่เด็กกินนมแล้ว 2-3 วัน  ส่วนเทคโนโลยีในการตรวจกรองนี้ก็มีความทันสมัยมาก ราคาถูก และมีประสิทธิภาพสูงมากในการตรวจหาสารเคมีที่มีปริมาณน้อย ๆ สามารถช่วยวิเคราะห์โรคได้ หลายสิบโรคภายในเวลารวดเร็ว สำหรับในบ้านเราก็มี โครงการดังกล่าวเช่นกัน โดยตรวจกรองภาวะที่พบบ่อย 2 โรคที่ทำให้เกิดสติปัญญาบกพร่องครับ
เด็กปกติก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจกรองพัฒนาการ
   การไปพบกุมารแพทย์มีประเด็นมากมายในแต่ละครั้งของการพบปะกัน ไม่ว่าจะเป็นการรักษา ป้องกัน หรือส่งเสริมสุขภาพ   แต่ถ้าการไปพบกุมารแพทย์แต่ละครั้งนั้นถ้าไปเมื่อลูกไม่สบาย ประเด็นการพูดคุยก็หนีไม่พ้นเรื่องการเจ็บป่วยและการรักษา ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่าทุก ๆ โรงพยาบาลในปัจจุบันทั้งแพทย์และผู้ปกครองต่างก็วุ่นวายกับภาวะเจ็บป่วยและการรักษาเด็กที่เจ็บป่วย หรือพ่อแม่หลายคนจะคุ้นเคยเฉพาะแค่การพาลูกไปฉีดวัคซีน วัคซีนคือหนึ่งมาตรการของแพทย์ที่จะป้องกันภาวะติดเชื้อที่รักษาได้ แต่การฉีดวัคซีนก็จะสิ้นสุดลงเพียงแค่ในเดือนที่ 18 แล้วก็จะกระโดดเว้นห่างออกไปอีกเป็นปี ดังนั้นพ่อแม่จะมีโอกาสได้พบหมอบ่อยมากเมื่ออายุน้อยกว่าขวบครึ่ง และจะห่างมากจนขาดโอกาสหรือเข้าข่ายเสี่ยงเมื่อเด็กมีอายุมากกว่าสองขวบ นั่นคือคำตอบว่าเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการเล็กๆ น้อยๆ ที่อาการไม่มาก เช่น พูดช้า การทรงตัวไม่ดี ปัญหาการใช้มือและแขนไม่ดี จึงหลุดรอดจากระบบการป้องกันและเมื่อตรวจพบก็กลายเป็นความล่าช้าเกินกว่าที่จะสามารถพัฒนาเด็กได้ทัน ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยกับการที่เด็กปกติทุกรายควรได้รับการตรวจกรองภาวะพัฒนาการเมื่ออายุ 9,  18 และ 24-30 เดือน ตามมาตรฐานของอเมริกาถ้าเป็นไปได้ครับ
 
การตรวจกรองภาวะพัฒนาการ
      การประเมินหรือตรวจกรองพัฒนาการนั้นเราจะใช้แบบทดสอบมาตรฐาน ซึ่งมีหลายแบบหลายชนิดในต่างประเทศ แต่ในบ้านเรากุมารแพทย์จะคุ้นเคยกันดี กับแบบทดสอบเดนเวอร์ ที่จะประเมินพัฒนาการใน 4 ด้านหลักของเด็ก คือ การใช้ภาษาทั้งในด้านความเข้าใจภาษารวมถึงการพูดคุยสื่อสาร, การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ลำตัว แขนขา, การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การใช้ แขน นิ้ว สายตา ทำการประสานกัน, และสุดท้ายการช่วยเหลือตนเองและการเข้าสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 10 – 20 นาที  สามารถประเมินในเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ซึ่งฉบับปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่เป็นฉบับที่ 2   ซึ่งผลที่ได้จากการตรวจกรองไม่ใช่เพียงเพื่อให้คำวินิจฉัยหรือให้การรักษา แต่เป็นการบอกว่าเด็กมีระดับการพัฒนาการในด้านต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด สมวัย หรือแตกต่างจากเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกันอย่างไรบ้าง โดยที่ผลจะออกมาเป็น 3 ระดับ คือ ปกติสมวัย น่าสงสัยควรเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด หรือล่าช้ากว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน รวมถึงเด็กขาดโอกาส เนื่องจากการพัฒนาการของการเด็กเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ดังนั้นการตรวจกรองเพียง 1 ครั้งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นตัวตัดสินพัฒนาการที่แน่นอนในอนาคตได้ แต่เป็นเพียงแค่การตรวจกรองภาวะปัจจุบันที่เป็นอยู่เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจกรองเป็นระยะมากกว่า 1 ครั้ง ในระยะเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของพัฒนาการด้านภาษา
ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่
     การพูดคุยกับพ่อแม่เรื่องพัฒนาการของลูก คือหนึ่งในหลาย ๆ ประเด็นทางด้านสุขภาพที่แพทย์จะคุยกับพ่อแม่ในแต่ละครอบครัวที่พ่อแม่มีโอกาสได้พบกุมารแพทย์ในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต เด็กหลายคนเกิดมาพร้อมกับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าในระยะเด็กตอนต้น ๆ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการตรวจพบ จะทำให้การรักษาล่าช้า ทำให้เด็กมีปัญหาสติปัญญาบกพร่องตามมา ไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามปกติ และอาจมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ร่วมด้วย ซึ่งการรักษาจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละราย ดังนั้นผู้ปกครองควรให้โอกาสแพทย์ได้พูดคุยกับเด็ก ในสภาวะที่เด็กเป็นปกติดี นอกเหนือจากการพามาฉีดวัคซีน และการพามารักษาโรคด้วยเช่นกัน