นัดพบแพทย์

เสี่ยง…เป็นเสี่ยงกัน (ภาวะครรภ์เสี่ยง)

23 Feb 2017 เปิดอ่าน 592

ความสุขของคนที่กำลังจะเป็นแม่ คือช่วงเวลาที่ได้ฟูมฟักและดูแลเจ้าตัวน้อยในครรภ์ให้เติบโตไปทีละขั้น แต่ในขณะเดียวกันที่การตั้งครรภ์นั้นอาจเกิดขึ้นโดยคุณแม่ที่ยังมีความพร้อมไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นสาเหตุของ “ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง”ตามมา เมื่อคุณแม่มือใหม่หลายๆ คน ได้ยินคำนี้อาจทำให้ตกใจ เกิดความกังวล กลัวว่าตนเองจะอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยงสูงหรือไม่ เราลองมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันดีกว่า โดย ”นายแพทย์สุรเชษฐ์ อภินิลบงกช สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์อาการแทรกซ้อน (High Risk Pregnancy) อัลตราซาวนด์และตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์” ได้สละเวลามาให้ความรู้กับเรา

ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง หรือ High Risk Pregnancy

คือ ภาวะความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ที่คาดว่าอาจมีโอกาสทำให้เกิดความผิดปกติต่อสุขภาพทั้งแม่และลูกในท้องได้ ความจริงแล้ว การตั้งครรภ์ทุกครั้งถือได้ว่ามีความเสี่ยง แต่จะเสี่ยงมากหรือน้อยแตกต่างกันออกไป ท้องแรกอาจจะเสี่ยงเพราะความไม่รู้ ไม่มีประสบการณ์ แต่ท้องถัดๆ ไปก็อาจจะมีความเสี่ยงเรื่องของอายุคุณแม่ที่มากขึ้น มีโรคประจำตัวมากขึ้น การจะทราบว่ามีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงหรือไม่ ต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์

คุณแม่แบบไหนมีปัจจัยเสี่ยงสูง

อายุ ซึ่งจริงๆ แล้วทุกอายุมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป หากตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยจะเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง คลอดก่อนกำหนด และอาจมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ก็ต้องระวังเรื่องของโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น รวมไปถึงต้องดูประวัติคนในครอบครัวร่วมด้วย เช่น หากพบว่าคุณแม่ของหญิงที่ตั้งครรภ์เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด โอกาสที่หญิงตั้งครรภ์คนนั้นจะคลอดก่อนกำหนดก็จะสูงกว่าคนอื่น หรือหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นได้

คุณแม่ที่มีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติ มีประวัติเคยแท้งลูก โดยเฉพาะการแท้ง 3 ครั้งติดต่อกัน มีประวัติคลอดก่อนกำหนด

รูปแบบการใช้ชีวิตของคุณแม่ ก็มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพของทารกในครรภ์เช่นกัน สำหรับผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ควรงดตั้งแต่วางแผนจะมีลูก เพราะแอลกอฮอล์จะผ่านไปยังลูกทางสายสะดือ และทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด การสูบบุหรี่จะทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกพิการ หรือเด็กจะเสียชีวิต ที่สำคัญคุณพ่อบ้านก็ไม่ควรจะสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในระหว่างตั้งครรภ์

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

เป็นภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน เนื่องจากฮอร์โมนมีฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ

ภาวะแท้งคุกคาม

คือ การตั้งครรภ์มีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งที่ปากมดลูกยังไม่เปิด โดยจะมีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออกกะปริบกะปรอย อาการจะมากขึ้นเป็นลำดับกระทั่งตกเลือดมากได้ ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น ทารกพิการแต่กำเนิด มีความผิดปกติของโครโมโซม ความผิดปกติของฮอร์โมน

ภาวะรกเกาะต่ำ

เป็นภาวะที่รกเกาะอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ โดยปกติรกจะเกาะอยู่ที่ส่วนบนของมดลูก แต่อาจมีบางส่วนของรกมาปิดบริเวณปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด

ครรภ์เป็นพิษ

เป็นภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ มีความดันโลหิตสูง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในคุณแม่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ทำให้มีอาการบวม ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจชัก เส้นเลือดในสมองแตก และอาจทำให้เสียชีวิต เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย

ฟังดูเหมือนว่าความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นั้นมีไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยง จะต้องมีปัญหาสุขภาพเสมอไปแต่เป็นการคาดว่าอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพื่อหาทางป้องกันเป็นเหมือนการดูแลครรภ์ให้มีคุณภาพมากกว่า ในกรณีที่พบความผิดปกติ การทราบล่วงหน้าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น

อายุของคุณแม่อาจจะเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ แต่การตรวจสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ จะเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เพื่อค้นหาและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อทารกในครรภ์ได้
โดยปัจจุบันมีวิทยาการทางการแพทย์ที่จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติได้แม่นยำและชัดเจน เช่นการทำอัลตราซาวนด์แบบละเอียดช่วยให้เห็นความสมบูรณ์ของอวัยวะเด็กในครรภ์ การเจาะเลือดตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม เป็นต้น

คุณหมอขอฝากข้อคิดไปยังคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ด้วยว่าอย่าไปวิตกกังวลหรือกลัวกับภาวะครรภ์เสี่ยง ถามว่าถ้าคุณไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ไปโดดบันจี้จั๊มมันมีความเสี่ยงไหม ก็เสี่ยงเหมือนกันแต่เสี่ยงกันไปคนละอย่าง สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปัจจุบันมีกระบวนการตรวจประเมินภาวะครรภ์เสี่ยงที่มีมาตรฐาน โดยทีมแพทย์ พยาบาล และทีมงานที่มีคุณภาพ เมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ให้รีบมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลทันที เพื่อให้คุณแม่และลูกน้อยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ การได้รับคำแนะนำในเรื่องของการดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์ พร้อมกับการได้รับการประเมินภาวะเสี่ยงของการตั้งครรภ์ จะเป็นการวางแผนการรักษาดูแลได้อย่างดี เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด รวมทั้งช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับคุณแม่และลูกน้อยได้

เห็นไหมคะว่าภาวะครรภ์เสี่ยงสูงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นสัญญาณเตือนให้ว่าที่คุณแม่ได้มีการดูแลสุขภาพตัวเองและลูกในท้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การตั้งครรภ์มีคุณภาพ การมองหาโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้กำเนิดลูกน้อยได้อย่างแข็งแรงและปลอดภัย ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่มือใหม่ทุกคนนะคะ

โดย : นพ. สุรเชษฐ์ อภินิลบงกช

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87/