นัดพบแพทย์

'โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน'

18 Aug 2016 เปิดอ่าน 11026

โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย มักพบช่วงอายุ 20-40 ปี เป็นโรคที่มีอาการข้ออักเสบ ร่วมกับผื่นผิวหนังสะเก็ดเงิน แต่ความรุนแรงของอาการทางข้อไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการทางผิวหนัง และอาจพบอาการทางผิวหนังนำมาก่อนระยะเวลาหนึ่งก่อนจะมีอาการทางข้อก็ได้

อาการผื่นผิวหนังสะเก็ดเงินจะพบรอยโรคที่ผิวหนัง เล็บ และหนังศีรษะ ผื่นผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่ม หรือปื้นสีแดง ขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดขาวคลุม เมื่อขูดสะเก็ดนี้ออกจะมีจุดเลือดซึม มักพบบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ข้อศอก เข่า ก้นกบ และหนังศีรษะ รอยโรคที่เล็บจะพบที่เล็บมือบ่อยกว่าเล็บ

เท้า ลักษณะเล็บเป็นหลุม สีเล็บเปลี่ยนเป็นเหลือง ใต้เล็บหนา เปราะ มีการแยกยกตัวของเล็บ บริเวณปลายเล็บ และอาการบริเวณหนังศีรษะจะมีรังแค

อาการข้ออักเสบมักพบที่ข้อปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อใหญ่ครั้งละ 2-3 ข้อ แบบไม่สมมาตร มีอาการข้ออักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน เป็นๆ หายๆ และบางครั้งอาจพบนิ้วอักเสบส่งผลให้นิ้วมือ นิ้วเท้าบวมอักเสบดูคล้ายไส้กรอก นอกจากนั้นอาจพบการอักเสบของข้อกระดูกสันหลังร่วมด้วยได้ ส่งผลให้มีอาการปวดหลัง ฝืดตึงข้อในตอนเช้า

โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม มีการศึกษาพบว่าสัมพันธ์กับยีน hla b27 ร่วมกับปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก เช่น การติดเชื้อ ยา สารเคมีบางชนิด และความเครียด ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเกิดการแบ่งตัวเร็วมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนัง และเล็บ นอกจากนั้นภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติยังกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของข้อต่างๆ โดยอาการกำเริบเป็นระยะ ในระยะยาวส่งผลให้เกิดการทำลายข้อ เกิดการติดผิดรูป ทำให้ใช้งานไม่ได้ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่เหมาะสมสามารถป้องกันการผิดรูปได้ การวินิจฉัยใช้ข้อมูลจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายเป็นสำคัญ การตรวจภาพรังสีใช้เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคในกรณีที่อาการไม่ชัดเจน และใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรค การตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่ใช่ในการวินิจฉัย เนื่องจากมีความผิดปกติได้ในหลายตำแหน่ง ดังนั้นหากตรวจพบ hla b 27 ให้ผลบวก หมายความว่ามีโอกาสเกิดอาการข้อกระดูกสันหลังอักเสบได้มากกว่าในกลุ่มที่ตรวจไม่พบ แต่การตรวจ hla b 27 ผลลบไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นโรค การรักษาในเบื้องต้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจว่าโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง สามารถให้การรักษาบรรเทาอาการ และป้องกันการเกิดการทำลายข้อได้

 

โดย พันโทแพทย์หญิงสุดาทิพ ศิริชนะ 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th