นัดพบแพทย์

โรคเบาหวาน

09 Oct 2017 เปิดอ่าน 1710

โรคเบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ

โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร 

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวานเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมน “อินซูลิน” หรือประสิทธิภาพการทำงานของ “อินซูลิน” ลดลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ

    โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้สองชนิด

โรคเบาหวานชนิดที่ 1

            เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลย หรือผลิตได้น้อยมาก และมักตรวจพบตั้งแต่วัยเด็ก หรือเริ่มเข้าวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1  มักต้องรับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน

   โรคเบาหวานชนิดที่ 2

เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ในประเทศไทย (ประมาณร้อยละ 95)  และผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ทั่วโลก

 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น ตับอ่อนยังคงผลิตอินซูลินได้ แต่อาจผลิตในปริมาณที่ไม่เพียงพอ เพราะอินซูลินที่ผลิตออกมาไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน

 อาการของโรคเบาหวาน

-           ปัสสาวะบ่อยและมาก ปัสสาวะกลางคืน

-           คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก

-           หิวบ่อย รับประทานจุแต่น้ำหนักลดลง และมีอาการอ่อนเพลีย

-           ถ้าเป็นแผลจะหายยาก มีการติดเชื้อตามผิวหนังบ่อย

-           ติดเชื้อรา โดยเฉพาะบริเวณช่องคลอด

-           ตาพร่ามัว

-           ชาปลายมือ ปลายเท้า

 โรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน

เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก มักพบในผู้ป่วยซึ่งการควบคุมเบาหวานไม่ดี     อาจมีการติดเชื้อแทรกเป็นตัวกระตุ้น จะมีอาการของเบาหวานรุนแรงขึ้น  ผู้ป่วยอาจจะซึม จนกระทั่งหมดสติ บางรายมีอาการชักกระตุกเฉพาะที่  ถ้ามีภาวะเลือดเป็นกรดร่วมด้วย   ผู้ป่วยจะหายใจหอบ

 โรคแทรกซ้อนเรื้อรังมีอะไรบ้าง

โรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดใหญ่  เกิดการตีบแคบของหลอดเลือด ทำให้เกิดอุดตันได้ง่าย ทำให้เกิดอาการตามแต่ที่หลอดเลือดผิดปกติ

1.       โรคหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

2.       อัมพฤกษ์และอัมพาตจากหลอดเลือดสมองอุดตัน

3.       โรคความดันโลหิตสูง

4.       ปวดน่องเวลาเดินนาน ๆ จากหลอดเลือดที่ขาตีบ หรือเกิดแผลจากขาดเลือด

 โรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดฝอย

1.       โรคแทรกซ้อนทางตา เช่น อาการตามัว เบาหวานขึ้นตา (retinopathy)

2.       โรคแทรกซ้อนทางไต ทำให้ไตเสื่อม ไตวาย

 โรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท คือ อาการชาตามเท้าและมือ หรืออาจมีอาการปวดก็ได้

   โรคแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานมีความสัมพันธ์ กับระยะเวลาการเป็นโรคและระดับการควบคุมเบาหวาน  นั่นคือ ถ้ายิ่งเป็นโรคเบาหวานระยะนานหรือควบคุมระดับน้ำตาลได้ยิ่งไม่ดี  ก็ยิ่งจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนมากขึ้น

แม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรในระยะแรก  แต่ถ้าได้รับการตรวจค้นวินิจฉัยและรักษา รวมถึงการดูแลตนเองให้ดีอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก จะช่วยลดและชะลอหรือแม้แต่ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ได้

  ใครควรได้รับการตรวจหาโรคเบาหวาน

-           ผู้มีอาการของโรคเบาหวาน

-           ผู้ที่ไม่มีอาการ แต่อายุเกิน 40 ปี (ถ้าตรวจแล้วปกติให้ตรวจซ้ำทุก 3 ปี)

-           ผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงต่อการเป็น

โรคเบาหวาน ดังนี้

    พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคเบาหวาน

    น้ำหนักตัวมาก ดัชนีมวลกาย ≥ 25 กก./ตารางฟุต

    มีประวัติ “ความทนต่อกูลโคส”  ผิดปกติ

    ความดันโลหิตสูง (มากกว่า 140/90 มม.ปรอท)

  ระดับไขมัน เอชดีแอล ต่ำกว่า 35 มก./ดล. และ/หรือ ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 250 มก./ดล.

  คลอดบุตรที่มีน้ำหนักเกิน 4 กก. หรือเคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

-           มีระดับ HDL- cholesterol  ≤ 35 กก.ดล. และ/หรือไตรกลีเซอไรด์  ≥ 250 มก.ดล.ในเลือด

-           ออกกำลังกายน้อย

-           มีโรคของหลอดเลือด

-           มีภาวะสัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน : Polycystic ovarian syndrome, acanthosis nigricans

 การดูแลตนเองเมื่อเป็นเบาหวาน

1.       เรียนรู้เรื่องเบาหวาน

2.       ควบคุมอาหาร รับประทานสม่ำเสมอ

3.       ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ

4.       วัดผลการควบคุม

5.       พบแพทย์ตามนัด และใช้ยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น

 ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาเบาหวานบางชนิดมักมีอาการต่อไปนี้:

-           รู้สึกไม่สบายเฉียบพลัน

-           หิวมาก มือสั่น เหงื่อออกมาก ตัวเย็น เห็นภาพซ้อน

-           หน้าซีด พูดไม่ชัก

-           กรณีรุนแรงมากอาจซัก หมดสติ

-           ถ้าเกิดเวลากลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ตื่นขึ้นมา

            การป้องกัน

1.       รับประทานอาหารให้ตรงต่อเวลาและจำกัดปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป

2.       ฉีดยา และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณและให้ตรงตามเวลาที่ควรได้รับ

3.       ปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องรับประทานยาสำหรับโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยเพราะยาเหล่านั้นอาจมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

4.       ควรมีน้ำผลไม้ ลูกกวาด น้ำตาลก้อนติดตัวไว้กรณีฉุกเฉิน@

 

โดย พญ. เพ็ญพันธุ์ ภูริปัญโญ

ขอบคุณบทความจาก : http://thonburihospital.com/2015_new/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99.html