นัดพบแพทย์

‘พญ.กัญญา เต็มเกียรติวิเศษ’ เผย 6 เทคนิคการดูแลสมอง

01 Dec 2016 เปิดอ่าน 1705

ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคสมองเสื่อมมากติดอันดับ 1 ใน 10 แต่การรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ในปัจจุบันยังคงเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ ยังไม่มียารักษาโรคที่ได้ผล…เรามาดูกันว่าจะมีวิธีการใดในการดูแลสมองเพื่อห่างไกลโรคสมองเสื่อม

 ข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบันพบว่า โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จะเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ 10-20 ปี ก่อนเกิดอาการ ซึ่งส่วนใหญ่โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มักมีอาการแสดงของโรคตอนอายุ 65 ปีขึ้นไป นั่นเท่ากับว่า ในขณะที่เราอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนั้นหากเรามีการตรวจเช็คสุขภาพและดูแลสุขภาพสมองอย่างดีเหมือนที่เราดูแลร่างกาย ก็จะทำให้ช่วยยืดอายุการใช้งานของสมองพัฒนาศักยภาพไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิมได้

“พญ.กัญญา เต็มเกียรติวิเศษ” ผู้อำนวยการศูนย์ Brain Health Institute โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ศูนย์ตรวจวิเคราะห์และเสริมสร้างศักยภาพทางสมอง โดยนำความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาร่วมประเมินผลแบบเฉพาะบุคคล เน้นให้ผู้ที่เข้ารับโปรแกรมสามารถนำไปปฏิบัติเองได้จริงในชีวิตประจำวัน ได้แนะนำเทคนิคการดูแลสมองเพื่อห่างไกลโรคสมองเสื่อม มาดังนี้

1. ควบคุมอาหาร โดยเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นอาหารที่มีโปรตีนจากปลา อาทิ ปลากะพง ปลาแซลมอน ลดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไก่ทอด มันฝรั่งหรือกล้วยทอด เป็นต้น เพราะการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงอยู่เป็นประจำจะทำให้เราป่วยเป็นโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งคนที่ป่วยเป็น 2 โรคนี้ มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมได้ และงดอาหารรสเค็มจัด เพราะอาหารเค็มจะทำให้ความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น ไตต้องทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ควรเพิ่มอาหารในกลุ่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไปในมื้ออาหารให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้และ ถั่ว เป็นต้น

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายนั้น จะช่วยให้การทำงานของปอด หัวใจและสมอง ประสานกันได้ดี มีผลต่อการควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนและสารสื่อประสาทต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการทำงานของสมองในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น

3. ฝึกบริหารสมองอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มโครงข่ายการเชื่อมโยงของเซลล์สมอง ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองดีขึ้น ไวขึ้น รวมถึงมีสมาธิดีขึ้นด้วย วิธีการฝึกบริหารสมองง่ายๆ เช่น ลองขับรถหรือเดินทางไปในที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน หรือ ลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัดเขียนหนังสือหรือตักอาหาร เป็นต้น

4. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ คนเรานั้นใช้ชีวิต 1 ใน 3 อยู่ในช่วงที่เรานอนหลับ นั่นแสดงให้เห็นว่า การนอนหลับที่ดีมีผลต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะความจำ เพราะ ช่วงเวลานอนหลับเป็นช่วงเวลาที่สมองที่จะทำการจัดการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้มาในวันนั้นๆ มาเป็นความจำระยะยาว ดังนั้น การนอนหลับที่ดีจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อสมอง

5. งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่นอกจากจะทำลายปอดและหัวใจแล้ว สารแปลกปลอมจากการเผาไหม้ต่างๆ ในบุหรี่ยังสามารถเข้าไปสะสมตามผนังหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้

6. ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราสามารถตรวจพบความผิดปกติบางอย่างได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดโรคหรืออาการนั้นๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรักษาโรคหรืออาการนั้นๆ ได้ก่อนที่จะสายเกินแก้ เพื่อช่วยเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมได้

* ขอบคุณบทความจาก : http://www.zoomzogzag.com/2016/06/brain-trick/