นัดพบแพทย์

กระดูกคอเสื่อม

01 Sep 2016 เปิดอ่าน 3718

ความเสื่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เช่นเดียวกับข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นได้กับทุกข้อต่อของร่างกายที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ในกรณีของกระดูกคอ แม้ว่าคอจะเป็นอวัยวะที่ไม่ได้รับน้ำหนักมาก แต่ว่าเป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวได้เกือบรอบด้าน ทั้งก้ม เงย เอียงคอหมุนคอ และเป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันบ่อย จึงทำให้เกิดการเสื่อมหรือได้รับบาดเจ็บได้ง่าย โดยความเสื่อมจะเริ่มย่างกรายเข้ามาตั้งแต่อายุประมาณ 30 ปี และจะเริ่มเสื่อมมากขึ้นเมื่ออายุ 40 – 50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่จะเริ่มที่บริเวณหมอนรองกระดูกคอก่อน

อาการปวดคอจากกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณกลางคอโดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวคอและอาจมีอาการปวดร้าวลงมาที่สะบักหรือต้นแขนดังที่เกริ่นไว้แล้วว่าการเสื่อมของกระดูกคอส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่บริเวณหมอนรองกระดูกก่อนเนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นปริมาณน้ำในหมอนรองกระดูกจะค่อยๆ ลดลง ทำให้หมอนรองกระดูกคอแฟบลง ความยืดหยุ่นลดลง ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกต่างๆ จึงลดลงตามไปด้วย ร่างกายจึงพยายามเสริมความแข็งแรงให้กับส่วนนี้ด้วยการสร้างหินปูนขึ้นมา หรือที่เราเรียกว่า “กระดูกงอก” รวมทั้งเพิ่มการหนาตัวของเนื้อเยื่อ มีผลทำให้ช่องว่างระหว่างกระดูกคอตีบแคบลงด้วย จนเมื่อถึงระดับหนึ่งอาจไปเบียดหรือกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดชา ร้าวลงแขน ในรายที่รุนแรงอาจเกิดการกดทับประสาทไขสันหลัง ทำให้แขนขาอ่อนแรงเดินลำบาก เสี่ยงต่ออัมพฤกษ์อัมพาต นอกจากนี้เมื่อหมอนรองกระดูกคอเสื่อม อาจทำให้ข้อต่อหลวมขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ เมื่อกระดูกคอเกิดการเสื่อมตัวจนกระทั่งกดทับเส้นประสาทหรือประสาทไขสันหลังแล้ว การรักษาด้วยการใช้ยาหรือกายภาพบำบัดมักไม่ได้ผล จึงต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

การรักษา
การรักษากระดูกคอเสื่อมแบ่งได้เป็น 2 วิธี ได้แก่
• การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด ซึ่งได้ผลร้อยละ 80 – 90การรักษาด้วยวิธีนี้เริ่มต้นตั้งแต่การแนะนำและให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการปรับเปลี่ยนอิริยาบถหรือท่าท่างที่ไม่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงสาเหตุที่อาจเป็นอันตรายต่อกระดูกสันหลังส่วนคอ เช่น ไม่สะบัดคอแรงๆไม่อยู่ในท่าที่ต้องก้มหน้าหรือแหงนหน้าเป็นเวลานานๆ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และการรับประทานยา

ในกรณีที่อาการปวดเป็นมากขึ้นถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำกายภาพบำบัด หรือรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาใช้นวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้อาการปวดต่างๆ ดีขึ้น เช่น ปัญหาหมอนรองกระดูกเสื่อมเกิดการอักเสบ หรือปัญหาหมอนรองกระดูกเคลื่อน แพทย์อาจรักษาโดยใช้วิธีการจี้ด้วยคลื่นไฟฟ้า (Radiofrequency) ซึ่งจะช่วยให้การอักเสบของหมอนรองกระดูกดีขึ้น และอาจช่วยให้หมอนรองกระดูกที่เคลื่อนกลับเข้าตำแหน่งโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ เพราะการจี้เป็นเพียงการเจาะเข้าไปที่ บริเวณหมอนรองกระดูกจากทางด้านหน้าเท่านั้น โดยทั่วไปหลังการรักษาด้วยวิธีการจี้ด้วยคลื่นไฟฟ้า แพทย์จะให้ผู้ป่วยอยู่ดูอาการประมาณ 4 ชั่วโมง หากไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เลย ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่ขอให้แพทย์วางยาสลบ อาจต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลต่อนอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเส้นประสาทที่คอเพื่อลดอาการปวด ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราวประมาณ 3 – 6 เดือน

หลังการรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์เข้าเส้นประสาทและการรักษาด้วยวิธีการจี้ด้วยคลื่นไฟฟ้า ผู้ป่วยควรเพิ่มความระมัดระวังในช่วง 1 – 2 วันแรก โดยพยายามลดการใช้งาน เพราะอาจเกิดการอักเสบบริเวณที่ฉีดหรือจี้ได้ หลังจากนั้นจึงสามารถใช้งานได้ปกติ

การรักษาโดยวิธีผ่าตัด หากการรักษาด้วยวิธี
ไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด สำหรับรูปแบบการผ่าตัดขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดจากด้านหน้าและการผ่าตัดจากด้านหลังของลำคอ กรณีที่ต้องได้รับการผ่าตัด เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังกระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่บริเวณคอถ้ามีขนาดใหญ่อาจจะส่งผลต่อการกลืนเนื่องจากไปเบียดหลอดอาหาร เป็นต้น หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นทันทีในกรณีที่เป็นการกดทับเส้นประสาทย่อย แต่ถ้าเป็นการกดทับไขสันหลัง อาจจะต้องใช้เวลามากขึ้นคือประมาณ 1 – 12 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาในการกดทับ

วิธียืดอายุกระดูกคอ
เราสามารถยืดอายุกระดูกคอไม่ให้เสื่อมเร็วได้ด้วยวิธีง่ายๆ ได้แก่ การจัดอิริยาบถท่าทางให้เหมาะสม ไม่ก้มหน้าทำงาน อ่านหนังสือ หรือเล่นโทรศัพท์มือถือนานเกินไปดูแลให้คออยู่ในลักษณะตรงปกติ รวมทั้งไม่แหงนหน้าเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะการก้มหน้านานๆ จะทำให้หมอนรองกระดูกต้องแบกรับแรงกดมากขึ้น เช่นเดียวกับการแหงนหน้านานๆ ก็จะทำให้กระดูกข้อต่อด้านหลังรับแรงกดมากขึ้น จึงเสื่อมเร็วขึ้น รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการบิดหมุนหรือสะบัดคอ และควรเพิ่มความแข็งแรงให้กับคอด้วยการหมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบคอเพราะกล้ามเนื้อมีส่วนช่วยในการพยุงกระดูกคอ ช่วยในการรับน้ำหนักที่กดลงบนกระดูกคอ หากกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง กระดูกคอจะต้องแบกรับน้ำหนักที่มากขึ้น จึงเกิดการเสื่อมได้เร็วขึ้น

ตัวอย่างวิธีบริหารกล้ามเนื้อคอด้วยตนเอง
• กล้ามเนื้อคอด้านหน้า ยืนหรือนั่งตัวตรง ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งวางไว้ที่หน้าผากและออกแรงดันไปทางด้านหลัง พยายามเกร็งศีรษะให้อยู่กับที่ นับ 1 – 5 แล้วปล่อยมือ ทำซ้ำทั้งหมด 10 ครั้ง

• กล้ามเนื้อคอด้านหลัง ยืนหรือนั่งตัวตรง ใช้มือข้างใด
ข้างหนึ่งวางไว้ที่ท้ายทอยและออกแรงดันไปทางด้านหน้า พยายามเกร็งศีรษะให้อยู่กับที่ นับ 1 – 5 แล้วปล่อยมือ ทำซ้ำทั้งหมด 10 ครั้ง

• กล้ามเนื้อคอด้านข้าง ยืนหรือนั่งตัวตรง วางมือไว้ข้างศีรษะและออกแรงดันไปทางด้านข้าง พยายามเกร็งศีรษะให้อยู่กับที่ นับ 1 – 5 แล้วปล่อยมือ ทำซ้ำทั้งหมด 10 ครั้ง ทำสลับทั้งด้านซ้ายและด้านขวา

 

รศ.นพ. ทวีชัย เตชะพงศ์วรชัย

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.healthtoday.net/thailand/disease_n/disease170_2.html