การซักประวัติ ( History )
อาการเจ็บปวดเป็นอาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาหาแพทย์ ดังนั้นการซักประวัติอาการเจ็บปวดมีความสำคัญมาก ถ้าซักประวัติดีแล้วบางครั้งบางคราวจะสามารถให้การวินิจฉัยได้เลย จะต้องแยกให้ได้ว่าอาการเจ็บปวดนั้นเป็นสาเหตุโดยตรงจากกระดูกสันหลังหรือ เป็นอาการปวดร้าวมาจากระบบอื่น การปวดที่เกิดจากพยาธิสภาพที่กระดูกสันหลังมักจะมีการรบกวนต่อรากประสาท ดังนั้นอาการเจ็บปวดมักจะเป็นไปตามรากประสาทของกระดูกสันหลังระดับนั้นๆ เช่น ในกรณีของ inervertebral disc herniation ที่ไปกดรากประสาททำให้เกิดการปวดร้าวหรือมีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงไป ตามที่รากประสาทเส้นนั้นๆ ไปเลี้ยง โดยอาการปวดที่กระดูกสันหลังอาจจะไม่ปรากฏเลยก็ได้ ดังนั้นการซักประวัติให้ทราบถึงตำแหน่งหรือแนวทางของอาการปวดตาม dermatomed ของรากประสาทจึงมีความสำคัญมาก ในการที่จะสือเสาะไปหาต้นตอของอาการเจ็บปวด เช่น ถ้าอาการปวดไปที่น่องหรือส้นเท้าหรือชาที่ฝ่าเท้ามักจะเกิดจากรากประสาท กระเบนเหน็บเส้นที่ 1 (S1 root) ถูกรบกวนหรือถูกกด หรือถ้าปวดร้าวไปที่หลังเท้าไปทางด้านนิ้วหัวแม่ เท้ามักจะเกิดจากรากประสาทบั้นเอวเส้นที่ 5 (L5 root) ถูกรบกวนหรือถูกกด เป็นต้น
โรคต่างๆ แต่ละโรคจะมีลักษณะการเจ็บปวดไม่เหมือนกัน เช่น พวก intervertebral disc herniationจะมีอาการมากขึ้นในภาวะที่ intradiscal pressure สูง เช่น การไอ-จาม การนั่งหรือในพวก spinal stenosis จะมีอาการที่เรียกว่า neurogenic intermittent claudication คือ มีอาการปวดร้าวลงตามขาพร้อมกับมีอาการชาเวลาเดิน ถ้านั่งพักจะหายไป อาการลักษณะนี้จะคล้ายคลึงกับ vasculogenic claudication ซึ่งเกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงที่ขา ในกรณีเช่นนี้ จะต้องตรวจดูชีพจรหลังเท้า (dorsalis pedis pulse) ทุกรายเพื่อวินิจฉัยแยกโรค
ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังและร้าวชาลงมาที่ขา ถ้ามีอาการเลวลงในขณะที่เดินลงบันไดและดีขึ้นในขณะเดินขึ้นบันได อาจจะแสดงว่าเป็นพวก spinal stenosis เพราะขณะเดินลงบันได หลังส่วนเอวจะแอ่นไปข้างหน้า ทำให้ช่องทางเดินเส้นประสาท (intervertebral foramen) แคบลง และขณะเดินขึ้นบันได หลังส่วนเอว จะโค้งไปข้างหน้า ทำให้ช่องทางเดินเส้นประสาทกว้างขึ้น
อาชีพและอายุก็มีความสัมพันธ์กับโรคปวดหลัง พวก intervertebral disc herniation มักจะพบมากในอายุน้อยกว่า 55 ปี แต่พวก spinal stenosis มักจะพบในอายุที่เกิน60 ปี อาชีพขับรถ หรือทำงานยกของมักจะทำให้เกิดปวดหลัง
พวกที่มีอาการปวดติดต่อกันตลอดเวลา โดยไม่มีช่วงที่ทุเลาอาการปวดเลย มักจะนึกถึงพวกเนื้องอก ( tumor ) หรือภาวะการติดเชื้อ ( infection ) โดยเฉพาะปวดมากในเวลากลางคืน นอกจากนี้พวกนี้มักจะมีอาการไข้หรือน้ำหนักลดลงด้วย
การซักประวัติเกี่ยวกับผิดปกติของระบบอื่น หรือภาวะทางด้านจิตใจก็เป็นเรื่องสำคัญมากต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย พยาธิสภาพของระบบอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ การอักเสบของตับอ่อน ไส้ติ่งอักเสบ ( retrocecal appendicitis ) การโป่งพองของหลอดเลือดใหญ่ ( dissecting abdominal aortic anneurysm ) การอักเสบในช่องเชิงกราน หรือพวก endometriosis โรคของต่อมลูกหมาก เส้นเลือดในหัวใจตีบก็ทำให้ปวดร้าวไปที่บ่าและแขนเช่นเดียวกับโรค cervical spondylosis ได้
รศ.นพ.ทวีชัย เตชะพงศ์วรชัย
* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://sites.google.com