นัดพบแพทย์

คันหู ดูแลอย่างไร ไม่ให้หูดับ???

06 Sep 2016 เปิดอ่าน 2228

การดูแลรักษาหูและป้องกันโรคทางหู

       หู เป็นอวัยวะสำคัญอันหนึ่งของร่างกาย แบ่งออกเป็น หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน ทั้งสามส่วนทำงานร่วมกันในการเป็นอวัยวะรับสัมผัสเสียง และ หูชั้นในยังมีหน้าที่เป็น อวัยวะเกี่ยวกับการทรงตัวอีกด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดโรคทางหู ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการนำมา 5 ประการสำคัญ คือ
  

 1. อาการปวดหู 

 2. มีน้ำหนองไหลจากช่องหู

 3. หูอื้อ

 4. มีเสียงดังรบกวนในช่องหู

 5. เวียนศีรษะบ้านหมุน

       โดยโรคส่วนใหญ่ที่พบมีตั้งแต่ ฝีในหู หูชั้นนอกอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ แก้วหูทะลุ หูน้ำหนวก ประสาทหูเสื่อมสภาพ และ น้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นต้น โรคบางอย่างก็สามารถทำการรักษาให้หายเป็นปกติได้ บางอย่างไม่สามารถรักษาได้ เช่น ประสาทหูเสื่อมสภาพ เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันโดยการดูแลรักษาหูไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง มีข้อแนะนำการดูแลรักษามาเสนอเป็นความรู้ดังนี้

 การดูแลรักษาหู


       1. วางแผนครอบครัวก่อนแต่งงานหรือมีบุตร โดยเฉพาะในรายที่มีประวัติครอบครัวที่มีหูพิการหรือหูไม่ได้ยินแต่กำเนิด เพื่อป้องกันความพิการของหูที่เกิดเนื่องจากสาเหตุทางพันธุ์กรรม 

       2. เมื่อตั้งครรภ์ควรมีการฝากครรภ์กับสูติแพทย์ ถ้ามีการเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรกินยาเองและถ้ามีอาการไข้ออกผื่นควรรีบแจ้งให้แพทย์ที่ฝากครรภ์ทราบ

       3. ควรพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด, หัดเยอรมัน , คางทูม ให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

       4. ถ้าบุตรหลานของท่านอายุ 3 - 6 เดือน แล้วยังไม่ตอบสนองต่อเสียง หรืออายุ 6 - 12 เดือนแล้วยังไม่ตอบสนองเวลาเรียกชื่อ หรืออายุ 18 - 24 เดือน ยังไม่พูดเป็นคำๆได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

       5. เมื่อท่านป่วยเป็นหวัด หรือเป็นโรคหวัดเรื้อรัง ควรได้รับการดูแลรักษาให้หายโดยเร็ว อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง เพราะจะทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบแทรกซ้อนตามมาได้ และขณะเป็นหวัดไม่ควรจะสั่งน้ำมูกแรงเพราะ จะทำให้เชื้อโรคจากจมูกถูกแรงดันเข้าสู่หูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเซียได้

       6. ขณะเป็นหวัดควรงดการดำน้ำและเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะท่อปรับความดันยูสเตเซียน ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะทำให้เกิดอาการปวดหูตามมาได้ หากมีความจำเป็นควรปรึกษาแพทย์ก่อน

       7. สังเกตอาการผิดปกติทางหู เช่น คันหู ปวดหู น้ำหนองไหลจากช่องหู หูอื้อ ลมออกหู เวียนศีรษะ เป็นต้น ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก

       8. หมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะโรคบางอย่าง เช่น ไข้หวัด หัด คางทูม เบาหวาน โรคไต ไขมันในเลือดสูง โรคภูมิแพ้ เป็นต้น อาจจะเป็นต้นเหตุทำให้เกิด หูหนวก หูตึงได้

       9. การใช้ยาทุกชนิดควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อน เพราะยาบางประเภททั้งยากิน ยาฉีด รวมทั้งยาหยอดหู โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ อาจทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมได้

       10. ระวังอันตรายที่ศีรษะและใบหน้า เช่น ถูกตบที่หูอาจจะทำให้แก้วหูทะลุ หรือ ศีรษะกระแทกพื้นอาจจะมีอันตรายถึงประสาทหูได้ เป็นต้น

       11. ห้ามใช้สิ่งของทุกชนิดทำความสะอาดหู เช่นไม้แคะหู กี๊บเสียบผม ก้านไม้ขีด ไม้พันสำลี เป็นต้น เพราะจะเกิดอันตรายต่อช่องหู บางครั้งอาจจะทำให้แก้วหูฉีกขาดได้ เวลาจะทำความสะอาดหู แนะนำให้ใช้เพียงก้อนสำลีที่สะอาดชุบน้ำ เช็ดบริเวณปากช่องหูเท่านั้น มีอาจารย์แพทย์หลายท่านพูดว่า อย่าเอาอะไรที่เล็กกว่าข้อศอกไปแหย่หู

       12. ขี้หูเป็นสิ่งปกติที่เป็นไขมันทำหน้าที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้หูชั้นนอกชุ่มชื้น และป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกขับออกมาเองจากช่องหูอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแคะหู และไม่แนะนำให้ใช้ ไม้พันสำลีเช็ดหู เพราะ จะยิ่งดันขี้หูให้เข้าไปลึกมากกว่าเดิม แต่ถ้ามีขี้หูอุดตันมากจนมีหูอื้อ แนะนำมาพบแพทย์หู คอ จมูก ดีกว่าการแคะหูเองหรือให้ช่างตัดผมแคะหูให้เพราะจะเกิดอันตรายต่อช่องหูได้

       13. เมื่อเกิดการอักเสบของหูควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหูโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ที่มีแก้วหูทะลุ ขณะที่อาบน้ำหรือสระผม ควรใช้สำลีอุดหูแล้วทาทับด้วยวาสลิน หรือใช้หมวกพลาสติกคลุมผมปิดถึงหูด้วย

       14. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดังอึกทึกเกินควร เกินกว่า 85 เดซิเบล เช่น เสียงในสถานเริงรมย์ เสียงปืน เสียงประทัด เสียงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น เพราะจะทำให้ประสาทหูเสียได้ ถ้าจำเป็นควรใส่อุปกรณ์ป้องกันทุกครั้ง และควรตรวจการได้ยินทุก 6 เดือนด้วย

วิธีการใช้ยาหยอดหู ควรปฏิบัติดังนี้

 

1. ตรวจดูชื่อยา และ วิธีการใช้ให้ถูกต้อง

       2. ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงให้หูข้างที่จะหยอดยาอยู่ข้างบน

       3. ทำความสะอาดช่องหูส่วนนอก โดยเช็ดปากช่องหูด้วยก้อนสำลีชุบน้ำสะอาด

       4. ดึงใบหูผู้ป่วยให้ช่องหูตรง โดยดึงใบหูไปในทิศทางขึ้นบนและไปด้านหลัง

       5. หยอดยาลงในช่องหูระวังอย่าให้ปากขวดยาโดนช่องหู โดยหยอดหูลงไปในช่องหู 3 - 5 หยด หรือตามคำแนะนำของแพทย์ แล้วกดบริเวณติ่งหน้าหูเพื่อให้ยาถูกดันลงไปในช่องหู

       6. ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงท่าเดิมอย่างน้อย 5 นาที เพื่อให้ยาสัมผัสกับช่องหูให้นานพอ

       7. ลุกขึ้นและเช็ดน้ำยาที่ไหลออกมา เพื่อป้องกันการเปรอะเปื้อนบริเวณช่องหู

       8. ถ้าผู้ป่วยมีแก้วหูทะลุที่แก้วหู ควรอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่าอาจจะมียาหยอดหูไหลลงคอได้ 

เท่านี้แหละครับ ก้อเป็นการดูแลช่วยให้หูอยู่คู่กับเราฟังเสียงสวยๆงามๆจรุงใจไปอีกนาน มีคำถามเรื่องยาใดๆ ก้อแวะไปร้านยาที่มีเภสัชกรใจดีได้ครับ

 พอ. นพ. กรีฑา ม่วงทอง

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.oknation.net/blog/DIVING/2013/08/10/entry-1