นัดพบแพทย์

ตับวาย ตับแข็งหรือตับเสื่อม : ตับ พระเอกที่ตายตอนจบ

13 Sep 2016 เปิดอ่าน 1447

อวัยวะทุกส่วนในร่างกายของเราล้วนแต่มีความสำคัญ ตับ ก็เช่นกัน ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักตับให้ดีขึ้น โดยผู้ที่จะมาให้ความรู้ ในเรื่องนี้คือ ผศ.พญ.ศิวะพร ไชยนุวัติ สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ผศ.พญ.ศิวะพร ไชยนุวัติ ได้กล่าวไว้ว่า ตับของคนเรานั้นเปรียบเสมือนตัวกรองสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคหรือสารพิษต่างๆ เมื่อสิ่งเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของเราก็จะต้องผ่านอวัยวะสำคัญคือ ตับ เสมอ โดยตับก็จะทำหน้าที่ในการเก็บเชื้อโรคไว้ รวมไปถึงยาต่างๆ ที่เรารับประทานเข้าตับก็จะทำหน้าที่เปลี่ยนยาให้เป็นสาร Active ขึ้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่มากขึ้น นอกจากนี้แล้วตับยังจะเปลี่ยนตัวยาเหล่านั้นให้มีความเป็นพิษน้อยลง เพื่อพร้อมที่จะขับออกจากร่างกาย อวัยวะที่ทำหน้าที่ในการขับสารพิษออกจากร่างกายของเราก็จะมีตับและไต เมื่อไหร่ที่ตับเปลี่ยนแปลงยาให้มีพิษน้อยลง ตับก็จะรับสารพิษหรือที่เรียกเมตาบอไลท์นั้นไว้ซะเอง และสารเมตาบอไลท์นี้จะมีผลเป็นพิษต่อตับโดยตรง

ตับวาย ตับอักเสบ หรือตับเสื่อมเกิดจากอะไร?
ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่าตับเปรียบเหมือนกับพระเอก ที่คอยทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่เป็นพิษต่างๆออกจากร่างกายเพื่อปกป้องอวัยวะอื่น สารพิษที่เราคาดไม่ถึงว่ามันจะเป็นพิษอย่างสารเมตาบอไลท์ ที่มีอยู่ในยาหลายชนิดเช่น ยาแก้ปวด อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของ พาราเซตามอล (Paracetamol) หากเราบริโภคยาประเภทนี้เข้าไปในปริมาณที่มาก ตับก็จะทำงานหนักโดยตับก็จะเปลี่ยนสารอะเซตามิโนเฟน ให้เป็นสารที่ไม่เป็นพิษพร้อมทีจะขับออกไปทางลำไส้ แต่เมื่อเราบริโภคยามากเกินไปก็ทำให้เอนไซม์ที่ตับใช้ในการเปลี่ยนสารพิษหมดไป จนทำให้เกิดแนวทางการนำไปสู่การเกิดสารพิษ เจ้าพิษตัวนี้เองที่จะส่งผลทำให้เซลล์ตับเสื่อม เกิดอาการตับวายหรือเราเรียกกันว่า ตับวายเฉียบพลัน จากการศึกษาและวิจัยในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยในแถบยุโรป อเมริกาหรือเอเชีย พบว่า ยาแก้ปวดอะเซตามิโนเฟน หรือพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้ง่ายและคนมักจะติดว่าไม่เป็นอันตราย เป็นผลทำให้คนบริโภคยาเหล่านั้นจนเกินขนาดที่กำหนดไว้
หากใครที่จำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ในปริมาณที่มากควรไปปรึกษาแพทย์เพราะบางครั้งมันอาจจะทำให้เราบริโภคยาเหล่านี้ในจำนวนที่มากไปโดยไม่รู้ตัว หรือบางคนอาจจะบริโภคในปริมาณน้อยแต่บริโภคบ่อยก็จะทำให้เกิดสารสะสมได้ หากบุคคลที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีตับที่ไม่แข็งแรงก็จะทำให้เกิดตับวายเฉียบพลันได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไปอีกด้วย นอกจากยาแก้ปวดแล้วยังมีเหล่าวิตามินทั้งหลายที่มีผลต่อตับได้แก่ วิตามิน A, D, E, K ซึ่งวิตามินเหล่านี้เป็นวิตามินที่ไม่ละลายในน้ำ โดยตัวที่สำคัญก็คือวิตามิน A เพราะว่าถ้าหากเราบริโภคเข้าไปในปริมาณมากเป็นเวลาติดต่อกันนาน 3-6 เดือน ทำให้มีโอกาศเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับแข็ง อย่างไรก็ตามเมื่อเราทราบว่าเราบริโภควิตามินเหล่านี้เป็นเวลาระยะหนึ่งก็ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้แนะนำปริมาณการบริโภคต่อบุคคลนั้นๆ ทำให้สามารถบริโภควิตามินเหล่านั้นได้ต่อเนื่องติดต่อกันได้และไม่ทำให้เป็นพิษต่อร่างกาย

จะรู้ได้อย่างไรว่า “ตับ” เริมมีปัญหา?
สัญญาณเตือนว่าเมื่อไหร่ตับเรามีปัญหาหรือตับเรากำลังจะพังก็คือ ตัวเหลือง อาการคลื่นไส้อาเจียนและอ่อนเพลีย หากเกิดอาการเช่นนี้ก็แสดงว่าตับของเราอาจจะอักเสบได้ ซึ่งหากตับของเรามีปัญหาสามารถรักษาได้หรือไม่? ตับนั้นเป็นอวัยวะที่สามารถงอกขึ้นใหม่ได้ ดังนั้นหากตับไม่ได้วายหรือพังแล้วละก็มันจะสามามรถฟื้นตัวได้ทัน ตับจะพยายามซ่อมแซมตัวเอง แต่กรณีที่ตับต้องซ่อมแซมตัวเองบ่อยๆเรื้อรังจนขบวนการซ่อมแซมเริ่มเสื่อมสภาพ ผิวตับที่สร้างจะมีลักษณะเป็นผิวขรุขระตะปุ่มตะป่ำหรือที่เรียกกันว่าตับแข็ง แต่ถ้าตับวายหรือพังรุนแรง ตับก็จะไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันและทำให้เสียชีวิตได้
คำแนะนำสำหรับการบริโภคยาอย่างไรไม่ให้ตับพัง
ยาทุกเม็ดทุกซีซีที่เรากินเข้าไปต้องผ่านตับ การบริโภคยาตามที่แพทย์กำหนดให้โดยที่เราไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดของยาเอง เน้นการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหากต้องการบริโภควิตามินเราก็ควรอ่านฉลากให้เข้าใจก่อนทุกครั้งว่าอาหารเสริมหรือวิตามินนั้นๆ มีผลต่อตับอย่างไร เพียงเท่านี้ตับของเราก็จะมีสุขภาพดีตลอดไป

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://nanavdo.com/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B9%87%E0%B8%87-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AA/