นัดพบแพทย์

เตือน! สาวติดขนมขบเคี้ยว โรคไขมันพอกตับ-มะเร็งมาเยือน

13 Sep 2016 เปิดอ่าน 1587

เพื่อนสาวร่างท้วม เดินหน้าเศร้า มาบอกเล่าว่ากำลังเป็น “โรคไขมันพอกตับ” ชื่อโรคแปลกหู ที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน เห็นเธอว่า ช่วงนี้หมอแนะให้ลดน้ำหนัก ลดทานแป้ง รวมถึงงดขนมขบเคี้ยวสุดโปรดปราน
       
       โอ้ว! ขนมขบเคี้ยว ของโปรดของสาวเรา เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร หากทานเยอะเกินควร จะก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับตับได้จริงหรือ? เมื่อคำถามวนเวียนมากมายเช่นนี้ ต้องหาทางเคลียร์ให้กระจ่าง

“ไขมันพอกตับ, ไขมันเกาะตับ, ตับอ้วน หรือ Fatty Liver เป็นภาษาชาวบ้านที่เรียกกัน ส่วนในทางการแพทย์จะเรียกว่าNonalcoholic Fatty Liver Disease หรือ NAFLD ซึ่งหมายถึง ภาวะที่มีไขมันเข้าไปสะสมในเซลล์ตับมากเกินปกติ โดยที่คนผู้นั้นไม่ได้ดื่มสุรา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศิวะพร ไชยนุวัติ แห่งหน่วยทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศิริราช แนะนำให้เรารู้จักกับโรคไขมันพอกตับอย่างเป็นทางการ
       
       อาจารย์หมออธิบายเพิ่มเติมว่า โรคนี้มิได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (Virus) หรือการดื่มสุรา ทว่าเกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ไขมันของตับทำงานไม่สมบูรณ์
       
       “โรคนี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัส และคนไข้กลุ่มนี้จะต้องไม่ได้ดื่มสุราเกินปริมาณที่ถือว่าเหมาะสม นั่นคือ ผู้ชาย 2 ดริ้งค์ (drink) และผู้หญิง 1 ดริ้งค์ต่อวัน (1ดริ้งค์ทางการแพทย์ = ปริมาณแอลกอฮอล์ ของเบียร์ 1 กระป๋อง, ไวน์ 1 แก้ว, เหล้าสี 1 เป็ก) นั่นคือ หากเราดื่มสุราเกินปริมาณนี้ แล้วตรวจพบไขมันพอกตับ เราจะบอกคนไข้ไม่ได้ว่าเขาเป็นโรคไขมันพอกตับ เพราะความผิดปกตินั้นมันเกิดจากสุรา ส่วนสาเหตุหลักๆ ของโรคไขมันพอกตับนั้น เกิดจากการสังเคราะห์ไขมันในตับไม่สมบูรณ์ ทำให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) เล็กๆ เข้าไปแทรกซึมอยู่ในตับมากกว่าปกติ”

  ไขมันพอกตับแค่เริ่มแรก ปลายทางอาจถึงขั้นมะเร็งตับ

   คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับให้ข้อมูลต่อว่า กลุ่มโรคไขมันพอกตับ มี 3 ระดับด้วยกัน คือ ระยะไขมันพอกตับหรือไขมันแทรกตับ ซึ่งหากปล่อยไว้นานก็จะกลายเป็นตับอักเสบ เมื่ออักเสบนานเข้าก็อาจเกิดภาวะตับแข็ง (ปริมาณคนไข้ที่ดำเนินไปถึง ภาวะมะเร็งตับมีประมาณร้อยละ 3-5)
       
       “โดยรวมแล้วโรคกลุ่ม NAFLD จะมีตั้งแต่ เริ่มแรกคือไขมันพอกตับ หรือ Fatty Liver ที่เราสามารถตรวจเจอได้เมื่อทำอัลตราซาวด์ (ultrasound) รังสีแพทย์จะเห็นตับเป็นสีขาวๆ เพราะมีไขมันแทรกตัวอยู่ แต่ถ้าเป็นนานเข้าหรือมีปัจจัยอื่นกระตุ้นหรือซ้ำเติมเข้ามา ก็อาจเกิดภาวะตับอักเสบจากไขมันพอกตับ หรือ steatohepatitis และหากเป็นไปนานๆ 10-20 ปี สุดท้ายแล้วก็อาจดำเนินไปถึงโรคตับแข็ง หรือที่เราเรียกว่า Cirrhosis ได้

     ฉะนั้นแพทย์จึงมักบอกคนไข้ว่า ไขมันพอกตับเป็นแค่จุดเริ่มต้น การที่จะดำเนินไปเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ในบ้านเราอาจไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ แต่เราก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากเกิดการอักเสบเรื้อรังไปนานๆ ก็มีโอกาสตับแข็ง เราจึงไม่แปลกใจที่ในบางคนที่เป็นโรคเบาหวานมานาน สุดท้ายแล้วเป็นโรคตับแข็ง นั่นเพราะว่า คนที่เป็นโรคเบาหวาน ก็คือ กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดไขมันพอกตับ เขาก็อาจจะเกิดตับอักเสบนิดๆหน่อยๆ เรื้อรังไปนานๆ มาเจออีกทีก็เป็นตับแข็ง หรือถึงขั้นมะเร็งตับ จึงเป็นอีกคำอธิบายที่ว่า คนที่เป็นมะเร็งตับ บางทีไม่ได้กินเหล้า ไม่ได้เป็นไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบบี ทำไมถึงเป็นมะเร็ง ก็เพราะว่าเป็นไขมันพอกตับ”
       
       โรคนี้จึงคล้ายกับภัยเงียบที่คุณหมอว่า บางครั้งก็แอบย่องเบา มาแทรกซ้อนกับโรคอื่นๆ จนทำให้ร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอ และมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น
       
       “โรคนี้มันเหมือนกับภัยเงียบ ที่ส่งผลร้ายแรงได้ อย่างเช่น ถ้าคุณเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว เมื่อเป็นไขมันที่ตับ คุณต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเร็ว เพราะ ในกลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง หรือเบาหวาน เมื่อมีภาวะไขมันพอกตับร่วมไปกับการที่มีตับอักเสบ จะพบว่าคนไข้กลุ่มนี้มีอัตราการตายสูงกว่า คนไข้เบาหวาน ความดันสูงแต่ไม่มีภาวะตับอักเสบ”

  คุณหมอสาวแห่งโรงพยาบาลศิริราชปรารถนาดี ฝากเตือนกลุ่มผู้มีรูปร่างอ้วนลงพุง, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้มีไขมันในเลือดสูง ว่าต้องดูแลตัวเองให้ดี เพราะสุ่มเสี่ยงเป็น ‘ไขมันพอกตับ’
       
       “ถึงแม้บางคนจะผอม ก็อาจจะมีไขมันพอกตับได้ แต่ที่พบมากจริงๆ คือ คนที่มีภาวะอ้วนลงพุง และกลุ่มคนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง รวมถึงกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวาน เหล่านี้จะมีโอกาสตรวจพบไขมันพอกตับได้มาก”
       
       ทว่าคุณหมอปลอบ ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะแม้โรคนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรง ทว่าหากตรวจพบแล้วดูแลตัวเองให้ดี โรคนี้ก็ไม่ลุกลาม
       
       “ถ้าเราไปทำอัลตราซาวด์ แล้วเห็นว่าเป็นไขมันพอกตับ แต่ค่าตับของเราไม่ได้ผิดปกติ หมอก็ยังไม่ได้ให้ทำอะไรมากมาย เพียงแต่จะอธิบายถึงสาเหตุ ว่าอาจเกิดจากการที่คุณมีภาวะอ้วนเกินไป มีไขมันในเลือดสูง หรือเป็นโรคเบาหวาน เมื่อรู้แล้วก็ต้องพยายามลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก ในกรณีคนอ้วน หรือควบคุมไขมัน ควบคุมน้ำตาล คือ การพบภาวะโรคนี้ มันเป็นเหมือนตัวกระตุ้นอีกตัวหนึ่งว่า ระบบคุณไม่ดีแล้วนะ เราก็ต้องดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้ไขมันพอกตับมากขึ้น จนเกิดภาวะอักเสบ”
       

 ภัยเงียบซ่อนตัวมิดชิด-สังเกตพบยาก
       
       เมื่อถามถึง แนวทางการสังเกตตนเอง จะรู้ได้อย่างไร เมื่อโรคไขมันพอกตับมาเยือน คุณหมอระบุชัด เจ้าโรคนี้ เป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง เพราะจะไม่แสดงอาการใดๆ กระทั่งโรคลุกลามถึงขั้นตับอักเสบหนัก จึงจะรู้ตัว ดังนั้นส่วนใหญ่ที่พบ จึงมักเกิดจากการตรวจสุขภาพประจำปีเสียมากกว่า
       
       “ถ้าไม่ทำอัลตราซาวด์ ก็ไม่ทราบค่ะ ดังนั้นส่วนใหญ่ที่พบคือ คนที่มาตรวจสุขภาพประจำปี เช่นไปเช็คเลือดแล้วผลเลือดผิดปกติ ก็จะไปตรวจหาไวรัสในตับ เมื่อไม่เจอว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ แล้วเราพบว่าเขามีภาวะอ้วน ก็เข้ากลุ่มเสี่ยงนี้ พอส่งไปอัลตราซาวด์จึงพบ ดังนั้นอาการไขมันพอกตับแทบจะสังเกตไม่ได้เลย เว้นแต่เกิดอาการ ตับอักเสบมากแล้ว จึงจะมีอาการที่สังเกตได้ เช่น อ่อนเพลีย เจ็บลิ้นปี่ เจ็บชายโครงขวา หรือตัวเหลือง”
       
       ส่วนแนวทางในการรักษา คุณหมอคนสวยฟันธงเลยว่า การออกกำลังกาย และควบคุมอาหารเป็นวิธีเวิร์กสุด
       
       “แนวทางการรักษา ยาที่อาจจะช่วยได้ เท่าที่มีคนเคยทำการศึกษามา ก็มีวิตามิน อี (Vitamin E) และกลุ่มยาที่สกัดมาจากน้ำดีหมี หรือพวกยาในกลุ่ม Ursodeoxycholic acid แต่อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ไม่ได้ให้ผลบวกทางคลินิคชัดเจน ทางแพทย์จึงไม่ได้เน้นการรักษาด้วยยาในภาวะไขมันพอกตับนี้ ส่วนในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวานด้วย เราอาจพิจารณาให้ยาคุมน้ำตาลจำพวก Metformin และ Pioglitazone คือถ้าเขามีอาการเริ่มเสี่ยงว่าจะเป็นเบาหวาน ถ้าเราต้องเลือกให้ยา ก็จะเลือกให้ยากลุ่มเบาหวานไปด้วยเลย
       
       ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ต้องออกกำลัง และควบคุมอาหาร กินอาหารตามสัดส่วน ถ้าเกิดว่าเป็นเบาหวาน หมอก็อาจแนะนำ ให้ลดคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) ลดน้ำตาล ขนมขบเคี้ยวต่างๆ แล้วก็ออกกำลังกาย”
       
       คุณหมอย้ำหนักหนา ว่าผู้เป็นโรคนี้ต้องลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย คู่ไปกับการควบคุมอาหารและห้ามใช้ยาลดความอ้วนเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้ตับดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ยิ่งแย่ อ่อนแอเข้าไปใหญ่
       
       “ถ้าเราลดน้ำหนักด้วยการอดข้าวอย่างเดียว น้ำหนักอาจจะลด แต่ถ้าเราไม่ออกกำลัง ไขมันที่แทรกอยู่ในตับมันจะไม่ถูกนำใช้ไป ดังนั้นการที่เราอดข้าวอย่างเดียวในภาวะนี้ น้ำหนักลดจริง แต่การอักเสบไม่ลดลง เพราะตัวไขมันที่มันจะต้องโดนเผาผลาญให้สมบูรณ์ มันไม่ถูกใช้ไป ส่วนยาลดความอ้วน หมอจะไม่แนะนำเลย แม้กระทั่งยาสมุนไพร หรือยาบางตัวที่มีผลต่อตับ หมอก็จะไม่แนะนำ เพราะมันอาจมีผลให้เกิดไขมันพอกตับได้มากขึ้น”
       

กลเม็ดดีๆ เพื่อตับแข็งแรง ไร้ “ไขมัน” มาพอกพูน

ก่อนส่งท้ายความรู้ อาจารย์หมอใจดีเพิ่มเติมแนวทางการดูแลตัวเองมาอีกนิด เพื่อหวังให้คุณๆ มีสุขภาพตับดี ห่างไกล ‘ไขมันพอกตับ’
       
       “วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคไขมันพอกตับ อย่างแรกเลย คือ อย่าเพิ่มความอ้วนให้ตัวเอง ต้องดูแลอาหารการกินให้ครบ 5 หมู่ ลดไขมัน น้ำตาล รวมถึงอาหารต่างๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะอ้วน ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล เราก็ไม่แนะนำให้ดื่ม เพราะท้ายที่สุดแล้วแอลกอฮอล์ล ก็ทำให้ไขมันแทรกในตับ จนเกิดภาวะตับแข็งเหมือนกัน
       
       รวมถึงไม่แนะนำให้ซื้อสมุนไพร อาหารเสริมมากิน เน้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ดีกว่า เพราะวิตามินบางตัวก็ดี แต่บางครั้งเรากินหลายตัวมันก็มากเกินไป หรือแต่ละชนิดส่งผลเกี่ยวเนื่องกัน จนอาจเกิดอาการตับอักเสบขึ้นมา และหากเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น หากตัวเราอ้วน แม้จะไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน แต่มีประวัติครอบครัวว่าญาติพี่น้องเป็น ก็ถือว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหมั่นออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร” คุณหมอศิวะพรแนะนำทิ้งท้าย

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9540000013500