แพทย์เผย ปัจจุบันโรคตับเกิดในเด็กแม้ไม่ได้ติดไวรัสหรือดื่มเหล้าเหมือนผู้ใหญ่ แนวโน้มป่วยมาก พึ่งยารักษาเป็นหลักยังไม่ได้
คืนวานกล่าวถึงผลเสียของความอ้วนทำให้การรับรสชาติของเด็กอ้วนเสื่อมประสิทธิภาพลงไป และวันนี้ มุมสุขภาพ ยังมีผลร้ายของความอ้วนในเด็กมาเตือนกันอีก โดย รศ.พญ.วรนุช จงศรีสวัสดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ บอกว่า โรคไขมันพอกตับและตับแข็ง ถือเป็นภัยเงียบของเด็กอ้วน
ปัจจุบัน เด็กอ้วนมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รศ.พญ.วรนุช เชื่อว่ามีสาเหตุจากวัฒนธรรมการกินที่เปลี่ยนไป เน้นอาหารจานด่วน รวมทั้งเด็กออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือวิ่งเล่นน้อยลง แต่หันไปเล่นคอมพิวเตอร์หรือดูทีวีนานขึ้น อีกทั้งผู้ปกครองมักมองว่า บุตรหลานที่อ้วนฉุเป็นเด็กน่ารัก แต่ความจริงแล้วความอ้วนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและยาว
โดยเฉพาะเด็กอ้วนที่มีรอยคล้ำดำบริเวณคอ ข้อพับ รักแร้ และบริเวณที่เนื้อเสียดสีกันคล้ายขี้ไคลแต่ขัดล้างไม่ออก ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เด็กคนนั้นมีโอกาสป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และหยุดหายใจขณะหลับ ที่น่าวิตกคือ ในอดีตโรคเหล่านี้มักพบในผู้ใหญ่วัยกลางคน และผู้สูงอายุ ทว่าปัจจุบันกลับพบเพิ่มในเด็กอ้วน
สำหรับโรคที่พบบ่อยในเด็กอ้วน คือ โรคไขมันพอกตับ รศ.พญ.วรนุช ยังบอกด้วยว่า โรคนี้มักถูกมองข้าม และผู้ปกครองก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า เด็กก็มีสิทธิ์ป่วยได้ ที่สำคัญ หากป่วยเรื้อรังมีโอกาสทำให้ตับอักเสบเรื้อรังและตับแข็ง เหมือนกับผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซี หรือผู้ใหญ่ที่ดื่มเหล้ามากๆ
อย่างไรก็ตาม รศ.พญ.วรนุช เผยว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาพบเด็กวัยรุ่นที่อ้วนมีโรคไขมันพอกตับสูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่อ้วนถึง 15-20 เท่า และพบเด็กอ้วนเป็นตับแข็งตั้งแต่อายุ 8 ขวบ
เด็กอ้วนที่มีไขมันพอกตับ หรือมีตับอักเสบร่วมด้วยมักไม่มีอาการหรืออาจมีอาการไม่จำเพาะ เช่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง ดังนั้นเด็กอ้วนควรรับการตรวจเพิ่มเติมว่าป่วยโรคดังกล่าวหรือไม่ ส่วนวิธีตรวจ รศ.พญ.วรนุช บอกว่า มีทั้งการตรวจอัลตร้าซาวนด์ตับ ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ และการเจาะตรวจเนื้อตับ ในขณะที่การรักษา ดีที่สุดคือการลดน้ำหนัก กินอาหารที่เหมาะสม และออกกำลังกาย ส่วนการใช้ยารักษาไขมันพอกตับในเด็ก ทางการแพทย์ยังถือว่ามีข้อจำกัดและยังต้องรอดูผลในระยะยาว
เคล็ดลับการป้องกันไขมันพอกตับในเด็กอ้วน รศ.พญ.วรนุช แนะผู้ปกครองต้องให้บุตรหลานกินอาหารให้ครบทุกมื้อ แต่มื้อเย็นให้กินแต่น้อยโดยลดข้าวและแป้งลง นอกจากนี้ควรงดอาหารรสหวาน ของทอด ของมัน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ขนมถุง จำกัดชั่วโมงการดูทีวีและเล่นคอมพิวเตอร์ รวมกันไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ควรให้เด็กอ้วนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันละ 30-60 นาที ถ้าจะให้ดีผู้ปกครองควรปฏิบัติตามเคล็ดลับเหล่านี้ให้เด็กๆ ดูเป็นตัวอย่างด้วย
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/Content/7664-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B9%87%E0%B8%87%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81.html