นัดพบแพทย์

มารู้จักโรคตับในเด็กกันเถอะ

26 Sep 2016 เปิดอ่าน 2668

ส่วนใหญ่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าผู้ที่เป็นโรคตับจะมีแต่เพียงผู้ใหญ่ที่ดื่มเหล้า หรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี แล้วเกิดตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง หรือมะเร็งตับเท่านั้น แต่ความจริงแล้วโรคร้ายนี้สามารถเกิดได้กับเด็กเล็กๆ ได้เช่นกัน

รศ.พญ.วรนุช จงศรีสวัสดิ์ กุมารแพทย์ระบบทางเดินอาหารในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ตับเป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องด้านบนขวา มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น รับเลือดจากลำไส้ซึ่งมีสารอาหารจำนวนมากและส่งผ่านสารอาหารเหล่านี้ไปยังร่างกายส่วนอื่นๆ, ทำลายสารพิษในเลือดที่มาจากลำไส้ ,ผลิตน้ำดีแล้วส่งน้ำดีผ่านมาตามท่อน้ำดีมาเก็บที่ถุงน้ำดี เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีไขมันถุงน้ำดีจะหดรัดตัว ทำให้น้ำดีไหลผ่านท่อน้ำดีลงมายังลำไส้เล็กเพื่อช่วยในการย่อยและดูดซึมไขมัน ผลิตสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว

เด็กเล็กที่ป่วยเป็นโรคตับอาจมีอาการดีซ่าน คือตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง ถ้าเป็นโรคตับเรื้อรัง เด็กอาจมีอาการดังต่อไปนี้เช่น ท้องโต เกิดจากภาวะท้องมานคือ มีน้ำในช่องท้อง หรือเกิดจากตับและม้ามมีขนาดใหญ่ขึ้น,ขาหรือหน้าบวม เกิดจากการที่ตับไม่สามารถสร้างโปรตีนได้, ผอม แขนขาลีบ เกิดจากการที่รับประทานอาหารได้น้อยลงร่วมกับร่างกายเผาผลาญสารอาหารมากกว่าปกติ, อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ เกิดจากเส้นเลือดในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหารที่โป่งพองขึ้นแล้วแตกทำให้มีเลือดออก หรือ เลือดออกเองหรือออกแล้วหยุดยาก เกิดจากตับไม่สามารถผลิตสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว

โรคตับอาจเป็นชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับเฉียบพลัน ได้แก่

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ หรือ อี ซึ่งความจริงแล้วในเด็กส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ การติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไวรัสเดงกี่ที่ทำให้เกิดไข้เลือดออก ไวรัสอีบีวี การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อไข้ทัยฟอยด์ ยา เช่น รับประทานยาพาราเซตามอล (ยาลดไข้แก้ปวด) เกินขนาด ยาแก้อักเสบ ยารักษาวัณโรค ยาสมุนไพร เป็นต้น

เด็กที่เป็นโรคตับเฉียบพลันส่วนใหญ่จะหายได้เองถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแพทย์จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น ถ้ามีสาเหตุจากยาแพทย์จะแนะนำให้หยุดทานยานั้นๆ ถ้าเกิดจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลและให้ยาแก้พิษ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับเรื้อรัง ได้แก่

ความผิดปกติของท่อน้ำดี เช่น โรคท่อน้ำดีตีบตัน โรคท่อน้ำดีโป่งพอง โรคท่อน้ำดีในตับมีจำนวนลดลง เด็กจะมีอาการดีซ่านตั้งแต่เกิดหรือภายในอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ในประเทศไทยเด็กที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มักเกิดจากติดเชื้อจากมารดาระหว่างคลอด เด็กจะไม่แสดงอาการผิดปกติจนกว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจเกิดตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งหรือมะเร็งตับได้เหมือนผู้ใหญ่ ส่วนเด็กที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี มักเกิดจากได้รับเลือดจากคนที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ซึ่งในปัจจุบันจะพบน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการตรวจกรองเลือดหาเชื้อไวรัสก่อนจะนำไปให้ผู้ป่วย ภาวะที่มีสารทองแดงสะสมในตับมากกว่าปกติ

โรคไขมันในตับ มักพบในเด็กอ้วน ซึ่งเด็กที่เป็นโรคตับเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม การรักษาที่มีการใช้ยาหรือการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุของโรค

สิ่งที่อยากเน้นให้ประชาชนทั่วไปทราบคือ เด็กทารกที่มีความผิดปกติของท่อน้ำดี เช่น โรคท่อน้ำดีตีบตันมักมาพบแพทย์ช้า เพราะพ่อแม่คิดว่าเกิดจากเด็กรับประทานนมแม่และมักได้รับคำแนะนำจากญาติผู้ใหญ่หรือเพื่อนบ้านให้นำเด็กไปตากแดดหรือให้เด็กดื่มน้ำมากๆ โรคท่อน้ำดีตีบตันต้องรักษาด้วยการผ่าตัดภายในอายุ 2 เดือน เพื่อไม่ให้ตับเกิดการอักเสบรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นตับแข็ง ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตภายในอายุ 2 ปี จะเห็นได้ว่าถ้าประชาชนทั่วไปรู้จักโรคตับในเด็กดีขึ้น และพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้เด็กหายจากโรคตับหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.hiso.or.th/hiso/public/newsx1870.php