มองดูเผิน ๆ แล้ว อวัยวะอย่างลำไส้ ไม่น่าจะสร้างปัญหาอะไรกับเจ้าตัวเล็ก แต่ใครจะรู้ว่า ถึงแม้ลูกจะยังเล็กอยู่ ก็เป็นโรคลำไส้ได้เหมือนกัน ว่าแต่โรคลำไส้แบบไหนบ้าง ที่เด็กขวบปีแรกมีโอกาสเป็นแล้ว เรามาดูไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
การเรียงลำดับ 1-6 ในบทความไม่มีผลต่อความถี่ในการเกิดกับลูกค่ะ
1. ติดเชื้อในลำไส้ ลำไส้อักเสบ หรืออุจจาระร่วงเฉียบพลัน
อาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เป็นสาเหตุของโรคลำไส้ที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ส่วนเด็กที่อยู่ในเขตเมืองมักเกิดการติดเชื้อไวรัส โดยไวรัสที่พบบ่อยที่สุดคือ ไวรัสโรต้า
จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2551 มีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 1,256,711 ราย อัตราป่วย 1,988.03 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งอัตราป่วยนี้เพิ่มขึ้นจาก 1,564.27 ต่อประชากรแสนคนในปี 2542) โดยกลุ่มอายุที่พบอุจจาระร่วงเฉียบพลันสูงสุด คือกลุ่มอายุ 0-4 ปี อัตราป่วย 9,691.3 ต่อประชากรแสนคน
สังเกตอาการ ลูกจะมีอาการอาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลวมีน้ำมาก หรือมีมูกเลือดปน อาจมีไข้ร่วมด้วย ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาจมีอาการไอ น้ำมูกไหลร่วมด้วย ถ้าสูญเสียน้ำมาก จะมีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง น้ำลายน้อย เบ้าตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ปัสสาวะน้อยผิดปกติ ซึม ตัวเย็น ฯลฯ
ดูแลอย่างถูกวิธีี สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาคือ การแก้ไขและทดแทนภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เด็กที่เสียชีวิตจากโรคลำไส้อักเสบมีสาเหตุจากการขาดน้ำอย่างรุนแรงจนช็อก ในกรณีที่ลูกขาดน้ำไม่มาก คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเองที่บ้าน โดยให้ลูกดื่มสารละลายเกลือแร่ และกินอาหารตามวัย แต่ถ้ามีอาการขาดน้ำรุนแรงหรืออาเจียนมาก ก็ต้องนำไปพบแพทย์และอาจต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือด ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทุกคน เนื่องจากการติดเชื้อในลำไส้ที่พบในเด็กมักเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ไม่รุนแรง
ป้องกันอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมนม น้ำ และอาหารให้สะอาด ควรต้มขวดนมและจุกนม ใช้ภาชนะปกปิดอาหารและน้ำเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจากแมลงวัน และคนที่ดูแลต้องมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือก่อนป้อนอาหารให้ลูก หมั่นเช็ดถูพื้น โต๊ะและล้างของเล่นบ่อยๆ เนื่องจากเด็กวัยต่ำกว่า 1 ปี มักชอบเอาของเล่นหรือมือเข้าปาก และทุกวันนี้มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าซึ่งเริ่มให้ได้ตั้งแต่ทารกอายุ 6 สัปดาห์ แต่ไม่ใช่ว่าลูกจะไม่ท้องร่วงเลยนะคะ เพราะโรคนี้ยังมีสาเหตุจากเชื้ออื่นๆ ได้อีก
2. ลำไส้กลืนกัน
ในทารกสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณส่วนปลายของลำไส้เล็กโตขึ้น เป็นจุดนำทำให้ลำไส้เล็กมุดเข้าไปในลำไส้ใหญ่
สังเกตอาการ ลูกจะมีอาการร้องไห้เป็นพักๆ เนื่องจากปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นเมือกสีแดง และอาจอาเจียนร่วมด้วย
ดูแลอย่างถูกวิธีี ทำให้ลำไส้ที่กลืนกันคลายออก อาจใช้วิธีสวนแป้งหรือลมเข้าทางทวารหนัก แต่ถ้าลำไส้กลืนกันนานจนเกิดลำไส้ขาดเลือดมากหรือลำไส้ทะลุ จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
3. ลำไส้อักเสบจากการแพ้โปรตีน
ที่พบบ่อยที่สุดคือแพ้โปรตีนนมวัว รองลงมาได้แก่ โปรตีนจากถั่วเหลือง ไข่ อาหารทะเล และถั่วเปลือกแข็ง
สังเกตอาการ ลูกอาจมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายมีมูกเลือดปน
ดูแลอย่างถูกวิธี ต้องให้ลูกงดอาหารที่แพ้ กรณีที่แพ้นมวัวแต่ไม่แพ้ถั่วเหลือง อาจให้ลูกกินนมถั่วเหลืองได้ แต่ถ้าแพ้ถั่วเหลืองด้วย ต้องเปลี่ยนเป็นนมพิเศษที่โปรตีนมีขนาดเล็กลง
ป้องกันอย่างไร พยายามให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวให้ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวมีปัญหาภูมิแพ้ ควรเริ่มอาหารเสริมหลังอายุ 6 เดือน และไม่ควรให้อาหารทะเลก่อนอายุ 1 ปีค่ะ
4. ลำไส้สั้น
พบได้น้อย สาเหตุมักเกิดจากเด็กมีความผิดปกติของทางเดินอาหารแต่กำเนิด หรือเป็นทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงลำไส้ เมื่อรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จำเป็นต้องตัดลำไส้ออกบางส่วน
สังเกตอาการ เด็กจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว มีน้ำปริมาณมาก และเลี้ยงไม่โต เนื่องจากลำไส้เล็กมีหน้าที่สำคัญในการดูดซึมน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหาร เมื่อเด็กถูกตัดลำไส้เล็กออกไปทำให้การดูดซึมดังกล่าวบกพร่อง
ดูแลอย่างถูกวิธี กรณีที่ยังเหลือความยาวลำไส้เล็กพอประมาณ เด็กสามารถรับอาหารทางปาก หรือทางสายให้อาหารทางกระเพาะอาหารได้ แต่ถ้าลำไส้เล็กมีขนาดสั้นมากๆ จำเป็นต้องให้อาหารทางหลอดเลือดแทน ในต่างประเทศมีการผ่าตัดปลูกถ่ายลำไส้ในกรณีที่เด็กมีลำไส้สั้นมากและไม่สามารถหยุดการให้อาหารทางหลอดเลือด
5.ท้องผูก
ในเด็กเล็กมีสาเหตุหลัก 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีลำไส้ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ผนังลำไส้ใหญ่ไม่มีปมประสาท ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพบบ่อยกว่าคือ กลุ่มที่มีท้องผูกโดยลำไส้ปกติดี กลุ่มนี้มักมีสาเหตุจากกินผักผลไม้น้อย หรือเกิดจากเด็กเคยถ่ายอุจจาระแข็ง เบ่งยากหรือมีการฉีกขาดที่รูทวาร ทำให้กลัวการถ่ายจึงพยายามกลั้นอุจจาระไว้
สังเกตอาการ เด็กกลุ่มที่มีลำไส้ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อาจไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้เองตั้งแต่เกิด ต้องเหน็บหรือสวนทวารบ่อยๆ และอาจมีท้องอืดมาจากภาวะลำไส้ใหญ่อุดตัน
ส่วนเด็กที่กินผักผลไม้น้อยหรือเคยถ่ายอุจจาระแข็ง เวลาที่ปวดท้องถ่ายเด็กจะมีพฤติกรรมกลั้นอุจจาระคือ เขย่งขา เกร็งขา ทำขาไขว้กันเป็นกรรไกร บีบก้น และมักหลบมุมไม่ให้ใครเข้าใกล้ ถ้ามีปัญหาไปนานๆ เด็กจะสามารถกลั้นได้เป็นเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ แต่มีข้อยกเว้นในทารกช่วงอายุ 1-4 เดือน ที่กินนมแม่ อาจถ่ายอุจจาระห่างเป็นทุกๆ 7-10 วัน แต่อุจจาระก็นิ่มหรือเหลวเป็นปกติ ทารกเหล่านี้ไม่จัดว่ามีปัญหาท้องผูก และจะค่อยๆ กลับมาถ่ายอุจจาระถี่ขึ้นได้เอง
ดูแลอย่างถูกวิธี ในกลุ่มที่ผนังลำไส้ใหญ่ไม่มีปมประสาท จำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อตัดลำไส้ส่วนที่ผิดปกติทิ้งไป ส่วนเด็กที่กินผักผลไม้น้อยก็ต้องพยายามหาวิธีชักจูงให้ลูกกินผักผลไม้ให้เพิ่มขึ้น อาจให้ดื่มน้ำลูกพรุน
ส่วนเด็กที่ถ่ายอุจจาระแข็งทั้งที่กินผักผลไม้เพียงพอแล้ว ต้องให้กินยากลุ่มที่ทำให้อุจจาระนิ่ม เพื่อเด็กจะได้หายกลัวการถ่ายอุจจาระ ส่วนทารกที่กินนมแม่และถ่ายอุจจาระห่างแต่นิ่ม ไม่ต้องใช้สบู่หรือกลีเซอรีนเหน็บรูทวารเพื่อกระตุ้นให้เด็กถ่าย ปล่อยให้ทารกเบ่งถ่ายอุจจาระด้วยตนเอง
ป้องกันอย่างไร ต้องฝึกให้ลูกกินผักผลไม้ และกินอาหารเสริมที่เหมาะสมตามวัย
6. ติ่งเนื้อในลำไส้
เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อลำไส้
สังเกตอาการ ลูกจะมีอาการถ่ายอุจจาระมีเลือดปน โดยอาจไม่มีอาการปวดท้องก็ได้
ดูแลอย่างถูกวิธี ถ้าเป็นติ่งเนื้อที่ลำไส้ใหญ่ แพทย์จะส่องกล้องเข้าไปในรูทวารและตัดติ่งเนื้อได้เลย แต่ถ้าเป็นติ่งเนื้อที่ลำไส้เล็กจำเป็นต้องรับการผ่าตัด
ทำความเข้าใจเรื่องลำไส้กับเด็กขวบปีแรกกันละเอียดขนาดนี้แล้ว เชื่อว่าแม่ ๆ คงคลายกังวลไปได้ไม่น้อย การดูแลลูกเล็กไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งสำคัญคือความใกล้ชิดและการดูแลอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการรู้จักสังเกตด้วย เท่านี้ลูกก็ห่างไกลจากโรคและอาการต่าง ๆ เติบโตพร้อมสุขภาพที่แข็งแรงและพัฒนาการที่สมวัยแล้วค่ะ
รศ.พญ.วรนุช จงศรีสวัสดิ์
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://women.kapook.com/view12622.html