นัดพบแพทย์

อาการ "ปวดหัว"

24 Jan 2019 เปิดอ่าน 1563

เวลานี้ไปทางไหนก็มักจะได้ยินคนบ่น "ปวดหัว" กันบ่อยๆ ยิ่งตอนนี้โลกเรา บ้านเมืองเราก็มีแต่เรื่องชวนให้เครียดจนถึงขั้นปวดหัว

เริ่มตั้งแต่เครียดเรื่องในบ้านในครอบครัว เครียดเรื่องชาวบ้าน เครียดกับปัญหาต่างๆ ของประเทศ ไปจนถึงเครียดกับภาวะวิกฤติของโลก ซึ่งความเครียดจากสิ่งรอบตัวเหล่านี้ก็มีผลทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ แต่บางคนนอกจากเครียดแล้วอาจปวดจากไมเกรน บางคนก็ปวดหัวจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ร้อนจัดเกินไป หรือบางคนก็ตรากตรำทำงานจนปวดเมื่อยต้นคอร้าวขึ้นไปที่หัว

อาการปวดเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรงอะไร ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ก็ได้ บางคนแค่นอนพัก หากิจกรรมคลายเครียด นวดคลายเส้น หรือถ้าปวดมากก็ใช้ยาแก้ปวดธรรมดาก็หายแล้ว แต่บางคนก็ปวดจนต้องไปพบแพทย์เพราะกลัวจะเป็นโรคร้ายแรง บางคนคิดมากกลัวจะเกิดความผิดปกติกับสมอง คิดอย่างนี้ก็เครียดก็ปวดกันไปใหญ่ แต่อย่างน้อยการไปพบแพทย์ก็จะได้มีคนช่วยบอกว่า ปวดจากสาเหตุใด ร้ายแรงแค่ไหน และต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ก็ถือว่าได้ความสบายใจ และได้ยาแก้ปวดแถมมาด้วย

อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่ปวดหัวเพราะเกิดจากการป่วยหนักเป็นเหตุ พวกนี้มักมีอาการแปลกๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหัวเฉียบพลันและมีอาเจียน ปวดหัวพร้อมกับมีแขนขาอ่อนแรง ซึมลง สับสน เป็นต้น ซึ่งต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาที่สาเหตุของโรค

ส่วนใหญ่คนที่ปวดหัวเรื้อรังมาเป็นเดือนๆ หรือเป็นมาหลายปี เกือบทั้งหมดมักไม่มีโรคร้ายแรง ส่วนมากจะเกิดจากความเครียด ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอาการปวดตึงๆ รอบหัว หรือปวดต้นคอและไหล่ บางครั้งรู้สึกเหมือนมีเข็มขัดมารัด มักถูกกระตุ้นด้วยความเครียด อ่อนเพลีย อดนอน หรือการนั่ง ยืน นอน ที่ผิดท่า

นอกจากปวดหัวเพราะเครียดแล้วก็อาจเกิดจากไมเกรนซึ่งมีอาการทั่วไปคือมักปวดหัวข้างเดียว แบบตุ้บๆ บางคนปวดมากจนคลื่นไส้ บางครั้งก่อนปวดจะมีตาเห็นแสง มักพบในคนที่อายุไม่มากนัก ให้รักษาด้วยการปฏิบัติตัวและใช้ยาร่วมด้วย

การปฏิบัติตัวโดยทั่วไปคือ รักษาสุขภาพกายให้แข็งแรง โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้คนทั่วไปมักจะทราบกันดีแต่ไม่ค่อยทำหรือไม่ตั้งใจที่จะทำ (หากเป็นไมเกรนควรเลี่ยงอาหารบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ เนย กล้วยหอม ช็อกโกแลต ผงชูรส เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และต้องควบคุมความเครียด หัดผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น อากาศร้อนจัด แสงจ้า เสียงดัง)

สำหรับการใช้ยานั้น ควรปรึกษาแพทย์ หรือคนที่เป็นไมเกรนอาจจะลองซื้อยาฟลูนาริซีน 5 มิลลิกรัม และนอร์ทริปไทลีน 10 มิลลิกรัม มากินอย่างละ 1-2 เม็ด ก่อนนอน กินติดต่อกันจนกว่าจะหายหรือทุเลามากแล้วค่อยหยุดยา แต่ไม่ควรเกิน 3 เดือน เพราะถ้าหายก็จะหายเลย ถ้าไม่หายก็คือไม่หาย

สำหรับยาที่บรรเทากรณีที่ปวดหัวมากก็ใช้ยาพาราเซตามอลหรือยาแก้ปวดอื่นๆ ที่ค่อนข้างปลอดภัย โดยกินเป็นครั้งคราวเมื่อปวดมากๆ เท่านั้น

บางคนอาจสงสัยว่า "แล้วปวดหัวแบบไหนบ้างที่ต้องไปพบแพทย์"
อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการต่อไปนี้จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
1. คัดจมูก น้ำมูกข้นสีเหลืองหรือเขียว ไอ เจ็บคอ มีเสมหะในคอ บ่งว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบ
2. ปวดกระบอกตา ตามัวลงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นต้อหินหรือเส้นประสาทตาอักเสบ
3. หูอื้อ ปวดในหูมาก บางคนมีหูตึงด้วย อาจเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบ
4. ปวดหัวแบบเฉียบพลัน ปวดแบบรุนแรง อาเจียน ไม่เคยเป็นมาก่อน
5. ปวดหัวและมีความผิดปกติอื่น เช่น สับสน ซึมลง ชาตามตัว ชักเกร็ง แขนขาอ่อนแรง บ่งว่ามีความผิดปกติของสมอง

ลองหัดสังเกตดูว่ามีอาการปวดหัวแบบใด และจำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือไม่

ข้อมูลสื่อ

360-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 360
เมษายน 2552
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์