เมื่อเอ่ยถึง "โรคลมชัก" (Epilepsy) เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง บางคนก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "โรคลมบ้าหมู" แต่ถ้าจะให้เท่ห์ขึ้นมาอีกหน่อยก็เรียกว่า "โรควูบ"
อันที่จริงแล้ว "โรคลมชัก" นี้ไม่ใช่โรค แต่เป็นกลุ่มอาการของสมองที่เกิดจากคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติชั่วคราว สาเหตุไม่ทราบแน่ชัดแต่อาจมีปัจจัยร่วม เช่น กรรมพันธุ์ หรือเคยมีประวัติชักตอนเป็นเด็ก
อาการคือ ชัก เกร็ง กระตุก และหมดสติ โดยจะเกิดขึ้นชั่วขณะและเป็นครั้งคราว แต่บางคนอาจไม่มีอาการดังกล่าวแต่จะมีอาการแสดงแปลกๆ อย่างอื่น เช่น เหม่อลอยชั่วครู่เป็นพักๆทำปากขมุบขมิบหรือเคี้ยวฟัน บางรายมีการกะพริบตาเป็นจังหวะ ละเมอเดิน ทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว บางคนขณะที่เกิดอาการยังสามารถขับขี่รถได้ แต่จะทำไปแบบเบลอๆ เลื่อนลอย ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
มีตัวอย่างอาการแปลกๆ ของโรคลมชักที่ผู้เขียนเคยพบมา เช่น
คนไข้ผู้หญิงวัยกลางคนรายหนึ่งบอกว่า
"หนูเป็นอะไรไม่รู้ค่ะ ตอนทำอาหารกับเตาถ่านอยู่ เกิดลืมตัวหยิบถ่านในเตาใส่ลงไปในหม้อแกง"
อีกคนหนึ่งเป็นผู้ชาย เล่าว่า
"หมอครับ... ตอนเช้าผมขับรถออกจากบ้านจะมาหาหมอ พอถึงตลาดก็ไม่รู้สึกตัว เพื่อนผมผ่านมา เห็นผมกำลังเอาแผงกั้นรถของตำรวจจราจรมาวางไว้กลางถนน รถเลยติดกันเป็นขบวน บีบแตรไล่กันลั่น จนเพื่อนต้องเข้ามาช่วยยกแผงกั้นออกและขอโทษแทน เพราะเขารู้ว่าผมเป็นโรคลมบ้าหมู คงทำไปแบบไม่รู้ตัว"
บางรายก็มีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น
"ตอนที่หนูช่วยแม่ขายของ แม่เล่าให้ฟังว่า ลูกค้าสั่งของอย่างหนึ่ง แต่หนูกลับหยิบผิดส่งของให้เขาเรื่อยๆ จนมั่วไปหมด เขาบอกว่าไม่ใช่ก็ยังหยิบให้เพิ่มอีก"
แต่รายที่น่าตกใจมาก คือ กรณีของนักศึกษาคนหนึ่ง เธอเล่าว่า
"หนูเกือบตายแล้วค่ะคุณหมอ อยู่ดีๆ ก็ไม่รู้สึกตัวไปชั่วครู่ มารู้ตัวอีกทีก็พบว่ากำลังแขวนคอตัวเองด้วยเชือกฟาง โชคดีที่เชือกขาดเสียก่อนเลยไม่เป็นอะไร ตอนนั้นรู้สึกเบลอๆ เหมือนฝันไปเลยค่ะ"
อาการที่กล่าวมานี้ หากเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ชาวบ้านอาจคิดว่า "ผีเข้า" จนทำให้ต้องไปรักษากันทางไสยศาสตร์ เรื่องก็จะไปกันใหญ่ ซึ่งที่จริงแล้วอาการเหล่านี้บ่งว่าเป็น "โรคลมชัก" หรือลมบ้าหมู ถ้ามีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองก็จะพบความผิดปกติ
สำหรับการรักษานั้นต้องใช้ยาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายสุดท้ายที่แขวนคอตัวเองต้องให้ยารักษาอย่างน้อย 2 ปี เพราะถึงแม้จะมีอาการเพียงครั้งเดียว แต่ก็เป็นอาการที่รุนแรงและเสี่ยงต่อชีวิต
นอกจากนี้ คนไข้ที่เป็นโรคลมชักควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้ชัก เช่น การอดนอน ตรากตรำทำงาน อดอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออยู่ในที่เสียงดังเกินไป และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรืออยู่ในภาวะเสี่ยง เช่น การปีนขึ้นที่สูง ว่ายน้ำ ขับขี่ยานพาหนะ อยู่ใกล้ไฟ เป็นต้น เพราะถ้าเกิดอาการขึ้นมาก็จะเป็นอันตรายได้
"โรคลมชัก" เป็นอาการทางสมองที่พบบ่อย ดังนั้นการเรียนรู้ในเบื้องต้นจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการของตัวเองและคนใกล้ชิดได้ ทำให้วินิจฉัยและเริ่มรักษาได้เร็ว
ถึงแม้จะใช้ชื่อว่า "โรคลมชัก" ก็ไม่ได้มีเพียงแค่อาการ ชัก-เกร็ง-กระตุก เท่านั้น ยังมีอาการแปลกๆ อย่างอื่นด้วย ลองสังเกตกันดูนะครับ