นัดพบแพทย์

เวียนหัว-มึนหัว

24 Jan 2019 เปิดอ่าน 175001

เวียนหัวและมึนหัว เป็นอาการอย่างหนึ่งไม่ใช่โรค พบได้บ่อยมากแม้ในคนปกติทั่วไป และส่วนใหญ่มักจะแยกแยะไม่ค่อยออกว่าเวียนหัวหรือมึนหัวกันแน่ บางคนยังเอาไปปนกับอาการปวดหัวอีก ก็เลยยิ่งทำให้มึนกันไปใหญ่ทั้งหมอและคนไข้

ช่วงนี้ก็เข้าหน้าร้อนแล้ว อาการผิดปกติอย่างเวียนหัวหรือมึนหัวจะพบได้บ่อยขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ความเครียด การปฏิบัติตัว การใช้ยา รวมถึงการที่ระบบประสาทการทรงตัวผิดปกติเล็กน้อยไปชั่วครู่ชั่วยาม โดยการเวียนหัวและมึนหัวนั้นจะมีอาการและสาเหตุที่แตกต่างกัน

อาการเวียนหัวคือ อาการที่ทำให้เรารู้สึกหมุน มีได้ 2 แบบ คือ แบบแรกรู้สึกว่าตัวเราอยู่นิ่ง แต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั้นหมุนหรือไหลไป (บางคนเรียกว่า บ้านหมุน) อีกแบบหนึ่งคือ สิ่งแวดล้อมอยู่นิ่งๆ แต่ตัวเรานั้นหมุน บางทีก็เอียงเหมือนจะล้ม รู้สึกโคลงเคลง ตาลาย

สาเหตุมีหลายอย่าง ส่วนมากมักเกิดจากความผิดปกติเพียงเล็กน้อยของประสาทการทรงตัว ซึ่งไม่มีอันตรายอะไร เพียงแต่ต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุเวลาเวียนหัว เช่น ถ้าเป็นคนแก่ต้องรีบนั่งหรือนอนพักอย่าให้ล้ม หรือถ้าเกิดอาการขณะขับรถต้องรีบจอดพักเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น

หลายคนอาจเคยเล่นสนุกกับระบบประสาทการทรงตัว โดยการ "ปั่นจิ้งหรีด" ไม่รู้ว่าสมัยนี้เด็กๆ จะยังรู้จักกันอยู่หรือไม่

การปั่นจิ้งหรีด คือ การเอานิ้วมือข้างหนึ่งจิ้มลงพื้น ก้มหัว ยืดตัว มืออีกข้างจับหู แล้วหมุนตัวไปรอบๆ หลายๆ รอบ เมื่อยืนขึ้นทรงตัวจะพบว่ารู้สึกหมุน โคลงเคลง ตาลาย ตัวเอียงเซไปมา เป็นที่สนุกสนาน ถ้าพยายามฝืนตัวเองให้มั่นก็จะหายเป็นปกติในเวลาไม่นานนัก

บางคนก็นั่งเล่นบนล้อหมุนเร็วๆ หลายๆ รอบ เมื่อหยุดแล้วลงมายืนหรือทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะทำได้ยาก รู้สึกหมุน ตัวเอียงจะล้ม ต้องพยายามฝืนเอาไว้ ถ้าฝึกทำบ่อยๆ อาการเวียนหรือหมุนจะน้อยลง เด็กที่มีกิจกรรมการเล่นแบบนี้บ่อยๆ จะเป็นการฝึกประสาทการทรงตัว ทำให้ไม่ค่อยมีอาการเวียนหัวเหมือนผู้ใหญ่

การรักษาอาการเวียนหัวนั้น ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยหรือเป็นพักๆ ซึ่งโดยมากมักจะเกิดอาการเมื่อมีการเปลี่ยนท่า เช่น จากท่านั่งเป็นท่ายืนเร็วๆ อาจทำให้เซเล็กน้อย บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ ถ้าไม่มีอาการผิดปกติอื่นก็ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ ให้ฝึกหัดฝืนความรู้สึกเอาไว้ ฝึกทรงตัวให้มั่นชั่วครู่ ทำอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปจะหายเอง แต่ถ้าทนไม่ไหวให้กินยาแก้เมารถเมาเรือ (ไดเมนไฮดริเนท) ครั้งละครึ่งถึง 1 เม็ด เวลามีอาการ
แต่ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น กลืนลำบาก พูดไม่ชัด เห็นภาพซ้อน สำลักบ่อย ชาตามตัว ชัก หรือเป็นอัมพาต ต้องรีบไปหาหมอทันที เพราะแสดงถึงความผิดปกติของสมอง

สำหรับอาการ "มึนหัว" นั้นจะมีอาการหนักหัว มึนๆ ตื้อๆ งงๆ ไม่สดชื่น แต่จะไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมหมุน ไม่มีอาการตาลายหรือโคลงเคลง สาเหตุไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของประสาทการทรงตัวเหมือนอาการเวียนหัว แต่มักจะเกิดจากความผิดปกติเพียงเล็กน้อยของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น พักผ่อนน้อย เครียด อดนอน นอนมากไป นอนผิดท่า ธาตุพิการ เมาค้าง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรืออาจเกิดจากฤทธิ์ข้างเคียงของยาระงับประสาท ยาแก้แพ้ หรือยาอื่นๆ ที่มีผลต่อสมอง เป็นต้น

การรักษาอาการมึนหัวนั้นจะเน้นรักษาที่สาเหตุมากกว่าการให้ยาบรรเทา (เช่น ให้ยาคลายเครียด ยานอนหลับ) เพื่อให้คนไข้พักผ่อนได้มากขึ้น เน้นให้คนไข้แก้ไขที่สาเหตุ เช่น พยายามนอนให้เพียงพอไม่มากไปหรือน้อยไป ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมการใช้ยาบางอย่าง เป็นต้น

คนไข้บางคนมีอาการแค่มึนหัว (ไม่ได้เวียนหัว ไม่มีความรู้สึกหมุน) แต่กลับไปบอกหมอว่าเวียนหัว ถ้าหมอไม่ซักถามให้ละเอียด หรือรีบร้อนและเชื่อตามที่คนไข้บอก ก็จะรักษาโดยการให้ยาแก้เวียนหัว ซึ่งยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์กดประสาทไม่มากก็น้อย ทำให้มึนและง่วงนอน แทนที่จะหายกลับมึนหัวหนักขึ้น เป็นการใช้ยาผิดประเภท ยกเว้นแต่พวกที่มึนหัวจากประสาทเครียด อาจทุเลาลงบ้าง เพราะประสาทผ่อนคลายจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา

ดังนั้น คนไข้ที่ไปหาหมอควรพยายามแยกแยะว่าตัวเองนั้นมีอาการ เวียนหัว มึนหัว หรือปวดหัวกันแน่ เพราะถ้าตัวเองยังบอกอาการไม่ได้แล้ว หมอก็มีโอกาสวินิจฉัยและรักษาไปแบบมึนๆ มั่วๆ บ้าง

เดี๋ยวก็เข้าตำรา "คุณมั่วมา... ผมก็มั่วไป" นั่นแหละครับ

ข้อมูลสื่อ

371-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 371
มีนาคม 2553
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์
photo credit <a href="https://www.freepik.com/free-photos-vectors/school">School photo created by yanalya - www.freepik.com</a>