นัดพบแพทย์

เลือดกำเดาไหลในเด็กและผู้ใหญ่ อันตรายใกล้ตัว

03 Jun 2020 เปิดอ่าน 1537

 

          เราเชื่อว่าทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์ “เลือดกำเดาไหล” กันอย่างน้อยคนละ 1 ครั้งในชีวิต หรือต่อให้จะยังไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง ก็น่าจะเคยพบเห็น หรือเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่มีเพื่อนหรือคนใกล้ตัวจู่ๆ เกิดเลือดกำเดาไหลกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ หลายคนอาจมองว่าเลือดกำเดาไหลนั้น เป็นเพียงแค่อาการผิดปกติธรรมดาๆ ที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตก จากการแคะจมูก หรืออุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ความจริงที่ทุกคนอาจเผลอลืมไปหรือไม่ทราบก็คือ เลือดกำเดาไหล ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนภัยที่บอกเราได้ว่า เราอาจกำลังจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงอยู่ก็ได้ ดังนั้น การทำความรู้จักกับอาการเลือดกำเดาไหลให้ลึกซึ้งมากขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้เราประเมินอาการและความเสี่ยงของโรคภัยได้อย่างเท่าทันมากขึ้น

เลือดกำเดาไหลคืออะไร ทำความเข้าใจให้รู้เท่าทัน?

“เลือดกำเดาไหล” หรือ “Epistaxis” เป็นภาวะเลือดออกทางจมูก ที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า ซึ่งมักจะไม่ค่อยรุนแรง และภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดที่ใหญ่กว่าด้านหน้า จึงทำให้มีอาการรุนแรงกว่า มีเลือดออกปริมาณมากกว่า และสามารถทำให้มีเลือดออกทางปากได้ด้วย คือถ้าคนไข้ไม่รู้ตัวว่ามีเลือดออกทางโพรงจมูกด้านหลัง ก็จะกลืนลงไป และส่งผลทำให้มีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ้าลงปอด ก็อาจมาด้วยอาการไอเป็นเลือดได้ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะเลือดออกทางจมูกที่มาจากด้านหลังโพรงจมูก มักมีสาเหตุมาจากอันตรายที่ร้ายแรงกว่าภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า

เพราะสาเหตุใด ทำไมเลือดกำเดาถึงไหล?

สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลนั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ภาวะโรคในจมูก และ ภาวะร่างกายที่ผิดปกติ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • เลือดกำเดาไหลเพราะภาวะโรคในจมูก คือ อาจเกิดจากการที่ “มีก้อนในจมูก” หรือ “ก้อนเนื้องอกบริเวณหลังโพรงจมูก” รวมถึงการติดเชื้อต่างๆ ที่ทำให้มีแรงดันขึ้นไปทำให้เกิดอาการคัดจมูกหรือจาม จนเส้นเลือดฝอยแตก และเกิดเป็นเลือดกำเดาไหลออกมา หรืออาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ ถูกกระแทกจนกระดูกหัก ผนังจมูกคด ก็ทำให้เลือดกำเดาไหลได้ รวมถึงการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์รักษาภูมิแพ้ ถ้าพ่นไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้ผนังจมูกบางและเป็นเหตุให้เลือดออกได้เช่นกัน
  • เลือดกำเดาไหลเพราะความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ คนที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคเลือดที่ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เลือดออกง่าย หยุดยาก โดยมักจะเป็นตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุจมูก หรือว่าไรฟัน รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คนที่เป็นโรคตับหรือคนที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดต่างๆ ก็มีโอกาสเลือดกำเดาออกได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป

ทั้งนี้ เส้นเลือดฝอยในจมูกแตกจนเลือดกำเดาไหลนั้น ถือเป็นปลายเหตุที่เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย ที่ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกและเลือดออก ซึ่งสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งมีก้อนที่จมูก หรือมีปัญหาโรคเลือดก็ได้ ซึ่งจำเป็นต้องหาสาเหตุให้พบ เพราะปกติเส้นเลือดคนเรานั้นจะไม่แตกง่ายๆ ยกเว้นแต่มีสาเหตุกระตุ้นให้แตก เช่นไปกระแทก เกิดอุบัติเหตุ หรือขาดวิตามินต่างๆ อย่างวิตามินเค ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดแตกได้ง่าย

เลือดกำเดาไหลแบบไหน เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าต้องไปพบแพทย์

วิธีการสังเกตอาการเลือดกำเดาไหล ว่าเป็นอันตรายร้ายแรงหรือไม่มากแค่ไหน สามารถสังเกตได้จากลักษณะการไหลและสีของเลือดที่ไหลออกมา โดยหาพบว่ามีอาการเลือดกำเดาไหลในลักษณะดังต่อไปนี้ การรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยคือหนทางที่ดีที่สุด

  1. เลือดกำเดาไหลบ่อย ไหลซ้ำบริเวณรูจมูกข้างเดิมข้างเดียวตลอด
  2. เลือดกำเดาไหลปริมาณมาก แม้จะเป็นครั้งเดียวแต่ก็ควรไปพบแพทย์
  3. เลือดกำเดาไหลในลักษณะเป็นก้อนลิ่มเลือด
  4. เลือดกำเดาไหลนานต่อเนื่องไม่หยุดภายใน 10 นาที
  5. สีของเลือดกำเดาถ้าเป็นสีแดงสด จะรุนแรงน้อยกว่าสีชมพูจางๆ
  6. เลือดกำเดาไหลร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น คัดจมูก หูอื้อ รู้สึกมีก้อนในโพรงจมูกหรือที่คอ

เลือดกำเดาไหล สัญญาณเตือนภัยโรคร้ายอะไรได้บ้าง?

อย่างที่ได้อธิบายแล้วว่า “เลือดกำเดาไหล” เป็นปลายทางที่เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่ผิดปกติในร่างกาย ดังนั้น เมื่อเกิดเลือดกำเดาไหลขึ้น โดยเฉพาะยิ่งเป็นบ่อยๆ จึงไม่ควรชะล่าใจ แต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและเข้ารับการวินิจฉัยหาสาเหตุ ทั้งนี้ เลือดกำเดาไหล อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิตได้ อาทิ เนื้องอกในโพรงจมูก มะเร็งหลังโพรงจมูก วัณโรคหลังโพรงจมูก และสำหรับในเด็กที่ร้ายแรงที่สุดเลยคือ โรคเนื้องอกในจมูก หรือ “Juvenile Nasopharyngeal Angiofibroma” ที่มักพบได้มากในเด็กผู้ชาย อายุประมาณ 7 - 19 ปี

 

เลือดกำเดาไหลจากสาเหตุใด วินิจฉัยอย่างไรถึงทราบแน่ชัด?

เมื่อคนไข้มาพบแพทย์เนื่องจากอาการเลือดกำเดาไหลผิดปกติ แพทย์จะทำการวินิจด้วยการซักประวัติ และตรวจด้วยการส่องกล้อง “ไซนูสโคป” (Sinuscope) เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล แต่ทั้งนี้ ก่อนจะทำการส่องกล้อง แพทย์จะปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการด้วยวัสดุห้ามเลือดและยา ในจมูกเพื่อห้ามเลือดกำเดาให้หยุดไหล จากนั้นเมื่อเลือดหยุดไหล จึงส่องกล้องเพื่อวินิจฉัย ซึ่งเมื่อทราบแล้วว่าเกิดจากสาเหตุใด ก็วางแผนการรักษาไปตามรอยโรคที่พบ

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเลือดกำเดาไหล

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับคนที่มีอาการเลือดกำเดาไหลเกิดขึ้นนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. หยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ทำอยู่ในทันที ห้ามยืน หรือเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการหน้ามืดหมดสติและเป็นลมล้มลงได้ หากเลือดออกในปริมาณมาก
  2. จัดท่าทางตัวเองให้อยู่ในลักษณะนอนเอนลงที่ไม่ให้ศีรษะต่ำจนเกินไป โดยจัดให้อยู่ใน “ท่านอนศีรษะสูง ลักษณะนอนเตียงผ้าใบชายหาด” ให้ศีรษะตั้งสูงขึ้นมาพอประมาณ เพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อนไปที่จมูกมากขึ้น และป้องกันการสำลัก ทั้งนี้ ห้ามแหงนศีรษะขึ้นเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการทำให้สำลักเลือดได้
  3. หากเลือดออกที่จมูกด้านหน้าในปริมาณมาก ให้บีบจมูก หายใจทางปาก แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที
  4. ในกรณีที่เลือดไหลปริมาณน้อย อาจห้ามเลือดด้วยการประคบน้ำเย็น แต่ที่ช่วยได้ดีมากกว่าคือ บีบจมูกแล้วอมน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเอาไว้ เพราะบริเวณเพดานปากเป็นตำแหน่งของเส้นเลือด การอมน้ำแข็งจึงช่วยประคบห้ามเลือดได้ตรงจุดมากกว่า

เนื่องจากเลือดกำเดาไหล เป็นอาการที่พบเห็นกันได้บ่อยทั่วไป จึงทำให้คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รู้สึกตระหนักว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยของโรคร้ายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เลือดกำเดาไหลอาจเป็นสัญญาณของโรคอันตรายอย่างมะเร็งในโพรงจมูก เนื้องอกในจมูก และวัณโรคหลังโพรงจมูกได้ ดังนั้น หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเลือดกำเดาไหลผิดปกติ คือ ไหลบ่อย ไหลปริมาณมาก ก็ไม่ควรชะล่าใจ คิดว่าคงเป็นเพราะเหนื่อย ทำงานหนัก เครียด อย่างเดียว แต่ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด จะปลอดภัยที่สุด

มองว่าเลือดกำเดาไหล เป็นเรื่องปกติธรรมดา อาจหมายถึงเรากำลังแกล้งหลับตา
แล้วทำให้โรคร้ายรุดหน้า ลุกลามโดยไม่รู้ตัว

 

 

พญ.นภารัตน์ จิระวัฒนผลิน
โสตศอนาสิกแพทย์
และศัลยกรรมตกแต่งเสริมสร้างใบหน้า
โรงพยาบาลพญาไท 3