นัดพบแพทย์

เวียนหัวบ้านหมุน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน VS ตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด

03 Jun 2020 เปิดอ่าน 10493

           “โรคเวียนหัวบ้านหมุน” คือหนึ่งในคำที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และมักพูดกันติดปากอยู่บ่อยๆ แต่ทั้งนี้ที่จริงแล้ว “เวียนหัวบ้านมุม” นั้น ไม่ใช่โรค หากแต่เป็นอาการแสดงสำคัญอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวหมุนไป จนทำให้รู้สึกเวียนหัวและคลื่นไส้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว อาการเวียนหัวบ้านหมุนที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของสมอง อาจเป็นสัญญาณของโรคสำคัญ 2 โรค ได้แก่ โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด และ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้นั้น มีรายละเอียดและความอันตรายแตกต่างกัน ซึ่งเราควรทำความเข้าใจและศึกษาให้ดี จะได้สันนิษฐานได้ว่าเราเสี่ยงป่วยเป็นโรคใด และทำการป้องกันรักษาดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ศึกษาให้เข้าใจ อะไรคือโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด? (Benign Paroxysmal Positional Vertigo; BPPV) (Semicircular canal)

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด คือโรคที่เกิดจากการที่ตะกอนหินปูนในหูชั้นใน ซึ่งอยู่ในบริเวณส่วนที่เป็นวงแหวนที่รับรู้เรื่องการทรงตัวนั้นหลุดออกมาจากกระเปาะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการได้รับอุบัติเหตุถูกกระแทกทางศีรษะ หรือเกิดจากการเคลื่อนไหวศีรษะผิดจังหวะ เล่นเครื่องเล่นที่มีการเหวี่ยงรุนแรง ก็อาจส่งผลทำให้ตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดได้ ทั้งนี้ ตะกอนหินปูนในหูชั้นใน เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในร่างกายคนเราทุกคน ทำหน้าที่เป็นตัวรับรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งนั่นทำให้เมื่อตะกอนหินปูนหลุดออกจากที่อยู่ในหูชั้นในแล้ว จึงทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนขึ้น

สังเกตอาการอย่างไร ถึงจะแน่ใจว่าว่าใช่โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด?

อาการแสดงสำคัญของโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ที่เราสามารถสังเกตได้ คือ

  • รู้สึกเวียนหัวทันทีเมื่อเคลื่อนไหว และเวียนลดลงเมื่ออยู่นีง
  • เวียนไม่นาน 1 – 5 นาที
  • ดวงตาดำสองข้างกระตุก ไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลทำให้เห็นภาพสั่นซึ่งเป็นที่มาของบ้านหมุน
  • การได้ยินเป็นปกติ ไม่มีหูอื้อ หรือเสียงดังในหู

ทั้งนี้โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด เป็นโรคที่ส่งผลต่อการเวียนศีรษะ ซึ่งจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบประสาทหู เพราะฉะนั้น จะไม่มีอาการความผิดปกติในเรื่องของการได้ยิน อาทิ หูอื้อ เสียงดังในหู แต่อย่างใด

รักษาได้อย่างไร เมื่อเป็นโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด?

ในความเป็นจริงแล้วโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด เป็นโรคที่อาจสามารถหายได้เอง แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก เพราะวิธีการแก้ไขรักษาโรคนี้นั้น คือ การทำให้ตะกอนหินปูนที่หลุดออกมากลับเข้าไปที่เดิมให้ได้ สำหรับคนที่โชคดี ก็อาจเผลอขยับตัวแล้วตะกอนหินปูนกลิ้งกลับเข้าไปอยู่ในที่เดิมตามปกติก็ได้ แต่โดยส่วนมากคนไข้จะไม่โชคดีแบบนั้น และที่สำคัญคือไม่ทราบด้วยว่า ตัวเองป่วยเป็นอะไร แต่จะมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนอยู่บ่อยๆ จนต้องมาพบแพทย์ในที่สุด ซึ่งแพทย์เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ก็จะทำการรักษาด้วยการกายภาพศีรษะ เป็นการให้ผู้ป่วยขยับศีรษะในท่าเฉพาะเพื่อให้หินปูนกลับเข้าไปอยู่ที่เดิมตามปกติ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลลัพธ์แน่นอนที่สุด ใช้เวลาในการรักษาประมาณแค่ 10 - 15 นาที

อันตรายแค่ไหน เมื่อเป็นโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด?

จริงๆ แล้วโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดนั้น ไม่ใช่โรคที่มีความอันตรายมาก แต่เป็นโรคที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่ทราบว่าตัวเองป่วย คือเพียงแค่คิดว่าเวียนหัวธรรมดา จึงทำให้ไม่มารับการรักษาและเวียนหัวอยู่เรื่อยๆ ซึ่งหากปล่อยเป็นเช่นนั้น ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายได้จากอาการเวียนหัวบ้านหมุน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด แล้วเข้ามารับการรักษา ส่วนใหญ่จะสามารถหายขาดได้ในทันที แต่ก็มีบางรายเช่นกันที่อาจเป็นซ้ำได้ และในบางรายที่เป็นซ้ำบ่อยๆ ในท้ายที่สุด แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อให้ตะกอนหินปูนไม่หลุดออกมาอีก ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายและการทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข เมื่อมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนขึ้น จึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาให้หายดี

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อีกหนึ่งโรคที่ทำให้เวียนหัวบ้านหมุนได้เหมือนกัน (Meniere Disease)

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแต่สันนิฐานว่า เกิดจากภาวะของน้ำในระบบหูชั้นในที่มีปริมาณมากผิดปกติ จนไปรบกวนระบบการทรงตัว และส่งผลกระทบต่อระบบประสาทหู ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะน้ำในหูไม่เท่ากันนั้น เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมที่มากเกินไป โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้มาก อาทิ กลุ่มคนที่ชอบรับประทานอาหารรสจัด เค็มจัด และกลุ่มคนที่ชื่นชอบการดื่มเบียร์ สุรา กาแฟ เป็นประจำ แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับระบบร่างกายของแต่ละคนด้วย

สังเกตอาการอย่างไร ถึงจะแน่ใจว่าว่าใช่โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน?

เนื่องจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั้น ส่งผลต่อทั้งระบบการทรงตัวและระบบประสาทหู จึงทำให้อาการแสดงของโรคจะแตกต่างไปจากโรคตะกอนหินปูนในหูหลุด โดยอาการแสดงของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั้น ได้แก่

  • เวียนหัวบ้านหมุนตลอดเวลา ตั้งแต่ 20 นาที – หลายชั่วโมง
  • อาการเวียนหัวจะเป็นหนักมาก คือเวียนหัวทั้งวัน ผู้ป่วยมักนอนนิ่ง ไม่ขยับตัว
  • มีอาการหูอื้อ หรือได้ยินน้อยลง
  • ได้ยินเสียงดังในหู เช่น เสียงหึ่งๆ วิ้งๆ แต่ไม่ใช่เสียงจังหวะการเต้นของหัวใจ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างระหว่างอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน กับโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดนั้น คือ โรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการทางหูหรืออาการเรื่องการได้ยินร่วมด้วย คือ มีอาการหูอื้อ ได้ยินน้อยลง มีเสียงดังในหู เวียนนานกว่า แต่โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดนั้น จะไม่พบว่ามีอาการด้านนี้

น้ำในหูไม่เท่ากัน เมื่อเป็นแล้วมีขั้นตอนการรักษาอย่างไร?

เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยจนมั่นใจแล้วว่าคนไข้ป่วยเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แนวทางในการรักษาของโรคนี้นั้น คือ “การให้ยา” เพื่อลดปริมาณน้ำในหูที่เกินมาให้กลับไปเป็นปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วยาที่ใช้จะเป็นยาขับโซเดียม เป็นยากลุ่มเดียวกันกับกลุ่มยาลดความดันโลหิต ที่ทานแล้วช่วยขับปัสสาวะ ยาลดอาการวิงเวียนศีรษะ

อันตรายแค่ไหน เมื่อเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน?

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั้น เป็นโรคที่มีความอันตรายรุนแรงกว่าโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะที่รุนแรงกว่าแล้ว ยังรักษาหายได้ยากกว่าอีกด้วย คือใช้เวลาในการรักษานาน ต้องติดตามผลต่อเนื่อง ต่างจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ที่เพียงแค่ทำให้หินปูนกลับเข้าที่ไปแล้วก็จะหายเป็นปกติ

ทั้งนี้ ความอันตรายของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อยู่ที่อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนรุนแรง ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น เมื่อเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือคิดว่าเป็นเพียงแค่อาการวิงเวียนศีรษะธรรมดา ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุให้แน่ชัดและทำการรักษาให้ถูกต้อง ในขณะเดียวกันในกรณีที่เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนขึ้น คนไข้ควรหาที่ยึดเกาะ แล้วนั่งลงกับพื้นทันที ไม่ควรฝืน เพื่อป้องกันการลื่นล้มที่อาจทำให้เปิดอันตรายรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ

“เวียนหัวบ้านหมุนบ่อยๆ อย่าปล่อยไว้
รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
แล้วรักษาตัวเองให้กลับมามีชีวิต
ที่สดใสดังเดิม”

 

พญ.นภารัตน์ จิระวัฒนผลิน
โสตศอนาสิกแพทย์
และศัลยกรรมตกแต่งเสริมสร้างใบหน้า
โรงพยาบาลพญาไท 3