นัดพบแพทย์

แผลเป็น แผลนูน แผลคีลอยด์

19 Nov 2020 เปิดอ่าน 2371

ปัจจุบันการดูแลเสริมแต่งภาพลักษณ์ให้ดูสวยงามโดดเด่นและเสริมความมั่นใจในตัวเองนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงก็ใส่ใจและให้ความสำคัญเสมอ โดย “การเจาะหู” เพื่อใส่จิล หรือเจาะติ่งหูนั้น ก็นับเป็นอีกหนึ่งแฟชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ทั้งนี้…ทราบหรือไม่ว่า? การเจาะหูคือหนึ่งในกระบวนการที่สร้างบาดแผลให้กับใบหู ที่หากดูแลไม่ดีล่ะก็ อาจนำไปสู่การเป็น “โรคคีลอยด์ใบหู” ได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ใบหูดูไม่สวยงามเท่านั้น แต่อาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้ใบหูผิดรูปร่างไปได้เลยทีเดียว ดังนั้นเพื่อให้การเจาะหูของทุกคนเป็นไปอย่างเรียบร้อยสวยงามมากขึ้น การทำความรู้จักกับโรคคีลอยด์ใบหูไว้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

คีลอยด์คืออะไร ทำไมถึงเกิดได้ที่ใบหู?

“คีลอยด์” คือ แผลเป็นชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะนูนและสามารถขยายใหญ่ได้ เกิดจากความผิดปกติของแผลนูน โดยคีลอยด์จะแตกต่างจากแผลเป็นปกติตรงที่ ลักษณะแผลเป็นจะนูนมากกว่าและขยายใหญ่ขึ้นได้เกินกว่าขอบเขตของแผลเริ่มต้น เช่น แผลมีดบาดขนาด 1 ซม. หากเป็นแผลเป็นธรรมดา จะเกิดแผลนูนที่บริเวณนั้นเพียงแค่ 1 ซม. เท่านั้น แต่หากเป็นคีลอยด์ แผลเป็นจะนูนใหญ่ขึ้นจนมีขนาดเกินกว่า 1 ซม. ยิ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ก็จะยิ่งขยายตัวใหญ่ขึ้น โดยทั่วไปคีลอยด์สามารถเกิดได้ในทุกที่ของร่างกายที่มีบาดแผล แต่ส่วนใหญ่จะพบมากในบริเวณหน้าอก ไหล่ หลังด้านบน ตลอดจนใบหู และบริเวณอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ เช่น ข้อพับต่างๆ

กลุ่มคนต่อไปนี้พึงระวัง เสี่ยงใบหูพังเพราะคีลอยด์?

คีลอยด์เป็นภาวะความผิดปกติของแผลเป็นที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีโอกาสเป็นได้เหมือนกันหมด แต่จะพบได้บ่อยในคนที่มีผิวคล้ำ ผิวสี หรือเป็นชาวแอฟริกัน มีความเสี่ยงเป็นคีลอยด์มากกว่าคนผิวขาวถึง 5 เท่า ทั้งนี้คีลอยด์ยังมักพบเจอในวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่หรือวัยชราอีกด้วย เนื่องจากร่างกายของวัยรุ่นกำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ทำให้หากไปเจาะหู, ระเบิดหู หรือทำให้ร่างกายมีบาดแผล แล้วดูแลไม่ดี ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นคีลอยด์ใบหู และคีลอยด์ตามแผลเป็นต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนั้นแล้วสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ก็ควรระมัดระวังการเกิดแผลเป็นด้วย เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ แถมคีลอยด์ยังเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ด้วยนะ!

อันตรายแค่ไหน เมื่อเป็นคีลอยด์ใบหู?

ไม่ว่าจะเป็นคีลอยด์ใบหู หรือคีลอยด์ในบริเวณอื่นๆ บนร่างกาย ความร้ายแรงส่วนใหญ่จะเป็นผลกระทบในแง่ของภาพลักษณ์ความสวยงามเป็นสำคัญ โดยกรณีที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับคีลอยด์ใบหู ก็คือหากปล่อยไว้นาน อาจทำให้ใบหูผิดรูปได้ เพราะคีลอยด์สามารถขยายใหญ่ขึ้นได้เรื่อยๆ แบบไม่มีขอบเขต และยังทำให้เกิดอาการคัน ซึ่งหากเกาจนเป็นแผล ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นอันตรายได้ แต่อย่างไรก็ตามคีลอยด์ใบหูไม่มีผลกระทบต่อการได้ยิน ผู้ที่เป็นจะยังคงความสามารถในการได้ยินได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป

แค่คีลอยด์ใบหู หรือมะเร็งใบหู กันแน่?

โดยปกติแล้วคีลอยด์ใบหูนั้น จะสามารถพิจารณาด้วยตาเปล่าก็ทราบได้เลย ทั้งนี้ คีลอยด์ไม่ใช่เนื้องอก เมื่อคลำจับดูจะพบว่ามีความนิ่มหยุ่นเหมือนยางลบ ผิวบริเวณแผลนูนจะเรียบ แต่ถ้าหากเป็นมะเร็งใบหู แผลจะมีความเจ็บปวด และมีการเติบโตของก้อนเนื้อที่เร็วกว่าคีลอยด์ โดยคีลอยด์จะค่อยๆ โตขยายใหญ่ขึ้นหลังจากเกิดบาดแผลในช่วง 1-3 เดือน แต่หากเป็นมะเร็งใบหูก้อนเนื้อจะโตเร็วภายใน 1 สัปดาห์อย่างเห็นได้ชัด และมีแผลแตกออกเองโดยไม่ต้องเกา ไม่มีอาการคัน แต่จะมีความรู้สึกเจ็บปวด และข้อสุดท้ายที่มะเร็งใบหูต่างจากคีลอยด์ใบหูก็คือ มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งต่างจากคีลอยด์ที่มักพบได้มากในวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่

รักษาอย่างไร เมื่อเป็นคีลอยด์ใบหู?

แนวทางในการรักษาโรคคีลอยด์ใบหูนั้น จะพิจารณาตามขนาดของคีลอยด์เป็นสำคัญ โดยแบ่งวิธีการรักษาได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้

จะใช้การรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อทำให้คีลอยด์ยุบตัวลง ซึ่งแพทย์จะทำการนัดมาฉีดยารักษาทุกเดือนจนกว่าแผลจะยุบ โดยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาคีลอยด์ใบหูนั้น จะใช้วิธีการฉีดแบบ Intralesional ซึ่งก็คือ การฉีดยาเข้าไปที่ตัวก้อนคีลอยด์เลยโดยตรง ไม่ได้ฉีดผ่านเข้าเส้นเลือดนั่นเอง

จะรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาสเตียรอยด์ โดนส่วนใหญ่แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้การผ่าตัดรักษาเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้มีโอกาสเป็นซ้ำได้สูง เนื่องจากการผ่าตัดก็คือหนึ่งในการสร้างบาดแผลใหม่ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดคีลอยด์ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดยาสเตียรอยด์ร่วมด้วยเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแผล โดยส่วนมากจะฉีดหลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว

  1. คีลอยด์มีขนาดเล็กกว่า 1 ซม.
  2. คีลอยด์มีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม.

สำหรับการผ่าตัด จะเป็นการผ่าแบบยกผิวหนังใบหูขึ้นเพื่อคงรูปใบหูไว้ แล้วตัดเอาเฉพาะก้อนคีลอยด์ออกไป ก่อนจะเย็บปิดแผลให้สนิท แล้วจึงค่อยฉีดสเตียรอยด์ในวันที่ตัดไหม หรือในบางรายที่มีความเสี่ยงเป็นคีลอยด์ซ้ำมากกว่าคนทั่วไป แพทย์จะใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสง เพราะการฉายแสงจะมีลักษณะคล้ายกับการใช้ยาเคมีบำบัด คือมีส่วนในการช่วยยับยั้งการสร้างตัวของเซลล์ ทำให้มีโอกาสเกิดคีลอยด์ซ้ำได้น้อยกว่า รวมถึงอาจมีการใช้ยา “ไมโตไมซิน” ร่วมด้วยก็ได้ เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำอีก แต่ก็จะพิจารณาให้ใช้เป็นรายๆ ไป

ป้องกันตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากคีลอยด์ใบหู?

แนวทางในการป้องกันการเกิดคีลอยด์ใบหูหลักๆ ก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดแผลบริเวณใบหู โดยเฉพาะในคนที่มีความเสี่ยงเป็นคีลอยด์มากกว่าคนทั่วไปนั้น หากทำได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการเจาะหูไปเลย สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่า…เราจะสามารถทราบว่าตัวเองมีโอกาสเป็นคีลอยด์ได้หรือไม่นั้น ให้สังเกตง่ายๆ จาก “รอยการฉีดวัคซีนที่บริเวณหัวไหล่” หากพบว่ามีแผลนูน ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นคีลอยด์ได้ง่าย หรืออาจสังเกตจาก “รอยแผลบริเวณหน้าอก หรือสิวบริเวณหน้าอก” ที่หากพบว่ามีการเปลี่ยนเป็นแผลนูนมากขึ้น ก็แสดงว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นคีลอยด์ได้ง่าย ซึ่งหากพบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นคีลอยด์ ก็จะต้องระมัดระวังการผ่าตัด การเจาะหู ตลอดจนดูแลบาดแผลตัวเองให้ดี ทำความสะอาดอย่างดี และไม่ควรแกะเกาจนแผลลุกลามติดเชื้อ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดคีลอยด์ได้

แม้คีลอยด์ใบหูจะเป็นโรคที่ไม่ได้มีความอันตรายรุนแรงถึงชีวิต แต่ก็นับว่าเป็นโรคที่ทำร้ายและทำลายความมั่นใจในการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งหากปล่อยทิ้งไว้ ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดการติดเชื้อจากการเกาจนเป็นอันตรายได้ ดังนั้น หากพบอาการผิดปกติว่าบาดแผลจากใบหู หรือบาดแผลตามร่างกายมีลักษณะของการเป็นแผลเป็นที่นูนขยายใหญ่กว่าแผลเริ่มต้น ก็อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเติมเต็มความมั่นใจ และความปลอดภัยให้กับตัวเราเองให้ได้มากที่สุด