นัดพบแพทย์

ไดอารี่ระดู รู้เท่าทันประจำเดือน

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 2025

 เหตุผลง่ายมาก ระดูเป็นตัวชี้บ่งสุขภาพของคุณผู้หญิงที่สำคัญ โดยเฉพาะสุขภาพระบบสืบพันธุ์สตรีและเกี่ยวข้องกับระบบเลือดด้วย

ในไดอารี่ระดูของคุณผู้หญิงควรบันทึกสิ่งใด? สิ่งที่ควรเป็นบันทึกได้แก่ วันที่และจำนวนวันของการมีระดู ปริมาณระดู ใช้ผ้าอนามัยกี่ผืนต่อวัน อาการปวดระดูมีหรือไม่มี รุนแรงเพียงใด (ทนได้ ต้องใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือยาแก้ปวด) และอาการร่วมขณะมีระดู เช่น ปวดศีรษะ คัดเต้านม เป็นต้น

 ความผิดปกติในแต่ละหัวข้อที่บันทึกสะท้อนว่าคุณผู้หญิงน่าจะมีปัญหาสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าบันทึกได้ครบถ้วนจะช่วยคุณหมอมีแนวในการวินิจฉัยและดูแลคุณผู้หญิงได้ง่าย และแม่นยำขึ้น

คุณผู้หญิงควรเข้าใจว่า แต่ละโรคมีความสำคัญที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษา เป็นต้น ว่าภาวะไข่ไม่ตกร่วมกับภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า POLYCYSTIC OVARY SYNDROME มีปัญหาสุขภาพกับคุณผู้หญิงหลายประการ เช่น ภาวะไข่ไม่ตกทำให้ไม่มีระดู มีภาวะมีบุตรยาก และมีความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ฮอร์โมนเพศชายสูงทำให้มีสิว ผิวมัน บางรายมีหนวดเครามากกว่าปกติ และคุณผู้หญิงที่เป็นโรคนี่มักจะอ้วน มีโอกาศเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าสตรีทั่วไป

 คุณผู้หญิงทราบหรือไม่ว่า ภาวะฮอร์โมนโปรแลคตินสูงเกี่ยวกันกับเนื้องอกเล็กที่ต่อมใต้สมองภาวะโปรแลคดินสูง และการทำงานผิดปกติของส่วนไฮโปทาลามัส ทำให้รังไข่ไม่ทำงานจึงหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงน้อยมากมีผลต่อภาวะกระดูกพรุน

 ภาวะปกติของระดูเป็นอย่างไร?

ระยะเวลาระหว่างรอบระดู

21-35 วัน

จำนวนวันในแต่ละรอบ

2-7 วัน

ปริมาณ

แตกต่างในแต่ละคนให้บันทึกเป็นจำนวนผ้าอนามัย/วัน

ปวดระดู

ไม่มีหรือปวดเล็กน้อย

อาการอื่นๆ

มีอาการอย่างไร บันทึกไว้ เช่น คัดหน้าอก ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน เป็น

ถ้าคุณผู้หญิงมีระดูที่แตกต่างไปจากนี้ อาจจะมีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

 ระดูที่แตกต่างไปจากปกติมีอะไรบ้าง?

ระยะเวลาระหว่างรอบระดูนาน แต่ละรอบระดูนานกว่า 35 วัน คุณผู้หญิงจำนวนมากมีระยะเวลารอบระดูนาน 2-3 เดือน (หมายถึง 2-3 เดือน มีระดูหนึ่งครั้ง) บางรายนานถึง 6 เดือน (ภาวะขาดระดู) ถ้าคุณผู้หญิงระดูในลักษณะเช่นนี้ เป็นภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง โดยทั่วไป คุณหมอจะพิสูจน์ก่อนว่าคุณผู้หญิงไม่ได้ตั้งครรภ์จึงจะหาสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตกที่พบบ่อย

สาเหตุของภาวะไข่ไม่ตก

 ภาวะไข่ไม่ตกร่วมกับมีภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง (PCOS)

 ภาวะฮอร์โมนโปรแลคตินสูง

 ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

 สมองส่วนไฮโปทาลามัสทำงานผิดปกติ

 ภาวะไข่ไม่ตกที่ไม่ทราบสาเหตุ

คุณผู้หญิงควรให้ความสนใจกับการที่มีระดูห่าง และระดูขาดหายไปนานๆ มีผลต่อสุขภาพหลายประการ ถ้ามีภาวะนี้ควรไปพบสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรักษาแต่เนิ่นๆ

นอกจากรอบระดูแล้ว ปริมาณของระดูจำนวนวันที่ระดูและอาการปวดระดู ล้วนจะสะท้อนสุขภาพของคุณผู้หญิงทั้งสิ้นจำนวนวันของระดูที่นานไป และปริมาณที่มาก (ใช้ผ้าอนามัยต่อวันมากขึ้นหรือมีก้อนเลือดร่วมกับเลือดระดู) แสดงว่าคุณผู้หญิงอาจมีโรคเนื้องอกมดลูก โรคเยื่อบุมดลูกในชั้นกล้ามเนื้อ ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก หรือการทำงานของระบบฮอร์โมนผิดปกติ และโรคเลือดบางชนิด ถ้าคุณผู้หญิงมีอาการปวดระดูมากขึ้น รุนแรงขึ้น (จากเดิมไม่ต้องรับประทานยาแก้ปวด แล้วต้องรับประทานจากเดิมรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการทุเลา ปัจจุบันรับประทานยาแก้ปวดไม่ทุเลา) คุณผู้หญิงอาจจะมีโรคเยื่อบุมดลูกในชั้นกล้ามเนื้อ (Adenomyosis) โรคภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลคซีสต์

สาเหตุของระดูที่มีจำนวนวันมากขึ้นปริมาณระดูมากขึ้น

  โรคเนื้องอกมดลูก

 โรคเยื่อบุมดลูกในชั้นกลางเนื้อ

 ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก

 โรคเลือดบางชนิด

สาเหตุของกาปวดระดูมากขึ้น

 ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

 ช็อคโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst)

 โรคเยื่อบุมดลูกในชั้นกล้ามเนื้อ (Adenomyosis)

คุณผู้หญิงควรทำไดอารี่ระดูของตนเองอย่างต่อเนื่อง จะได้ทราบภาวะระดูว่าปกติหรือผิดปกติ ถ้าผิดปกติมีความผิดปกติที่ประเด็นใด? มีโอกาสจะเป็นโรคหรือภาวะผิดปกติอะไรบ้าง ไดอารี่ระดูนี้ยังช่วยให้คุณหมอที่ดูแลใช้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยได้ด้วย

ศ.นพ.เสวก วีระเกียรติ

สูติ-นารีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช

ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://health.haijai.com/1883/