นัดพบแพทย์

นมแม่กับการป้องกันโรคภูมิแพ้ โดย รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์

03 Aug 2016 เปิดอ่าน 1916

ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์ของโรคหืดและโรคภูมิแพ้มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจในประเทศที่เจริญแล้ว หรือในประเทศไทยที่พบว่าอุบัติการณ์ของโรคหืดและโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้เพิ่มสูงเป็น 3 เท่า แต่ถ้ามองในแง่ของคนที่มีภาวะแพ้แต่ยังไม่แสดงอาการของโรค คาดว่าเด็กไทยมากกว่าร้อยละ 50 มีภาวะแพ้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะแสดงอาการของโรคภูมิแพ้เมื่อเด็กโตขึ้น โรคที่พบบ่อยได้แก่ แพ้อาหาร ผื่นแพ้ผิวหนัง โรคหืด และโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ซึ่งโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื้อรังจนถึงวัยผู้ใหญ่ จึงนับได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นภาระต่อระบบบริการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ดังนั้นมาตรการที่จะลดปัจจัยเสี่ยง ลดอัตราความเจ็บป่วยและลดอัตราการตายจากโรค จึงน่าสนใจและจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสังคมไทย


โรคหืดและโรคภูมิแพ้เกิดจากปัจจัยสำคัญสองประการคือ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลชัดเจนว่าเด็กที่เกิดจากครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นภูมิแพ้ถึงร้อยละ 50-80 แต่จะพบเพียงร้อยละ 20 ในเด็กที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว โดยมีรายละเอียดว่าอัตราเสี่ยงของลูกที่จะเป็นโรคภูมิแพ้จะสูงที่สุด ถ้าทั้งพ่อและแม่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ (ร้อยละ 60-80) และพบว่าการมีโรคภูมิแพ้ในมารดาจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงกว่าการมีโรคในบิดา อย่างไรก็ตามการที่อุบัติการณ์ของโรคในเด็กเพิ่มสูงมากในระยะเวลา 10-20 ปี น่าจะเป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทเสริมปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะในคนที่มีภาวะแพ้ ทำให้แสดงอาการของโรคได้มากขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้เท่าที่ทราบมีหลากหลาย และอาจจะแตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติและท้องถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น สารก่อแพ้ในอากาศ มลภาวะ อาหาร และการสูบบุหรี่ เป็นต้น ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าสิ่งแวดล้อมใดจะมีผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้มากที่สุดในคน

เป็นที่ทราบกันดีว่าการหลีกเลี่ยงสารก่อแพ้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรครุนแรงน้อยลง และเป็นวิธีสำคัญที่ได้รับการยอมรับว่าต้องแนะนำและสอนให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามร่วมกันไปกับการให้การรักษาด้วยยา แต่การหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะป้องกันโรคในเด็กปกติยังเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน จุดที่น่าสนใจคือ เด็กเริ่มมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ได้ตั้งแต่ระยะที่เป็นทารกในครรภ์มารดาแล้ว ไม่ใช่เริ่มตั้งแต่เกิดมา ดังนั้นงานวิจัยที่จะหาวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ จึงมุ่งความสนใจไปที่มารดาขณะตั้งครรภ์และในทารกแรกเกิด โดยมีข้อมูลสำคัญดังต่อไปนี้

1. การหลีกเลี่ยงสารก่อแพ้ในมารดาขณะตั้งครรภ์ มีการศึกษาหลายชิ้นที่สรุปว่าการหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่ก่อแพ้ง่าย เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว และอาหารทะเล ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ในลูกที่เกิดมา และยังก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการในเด็กทารกด้วย ดังนั้นวิธีการนี้ไม่แนะนำให้ปฏิบัติ

2. การกินนมแม่ การให้ทารกกินนมแม่ย่อมมีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพกายและใจของเด็ก จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนการป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กที่กินนมแม่ยังไม่มีข้อมูลทางประจักษ์ที่มากพอ เพราะมีความหลากหลายในวิธีการวิจัย การให้อาหารอื่นร่วมด้วย และความแตกต่างของระยะเวลาการให้นมแม่ ทำให้สรุปผลงานวิจัยยังไม่ชัดเจน ที่ผ่านมามีการศึกษาที่พบว่าการเลี้ยงลูกด้วนนมแม่ด้วยระยะเวลาสั้น ๆ หลังเกิด เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น ในช่วงก่อนวัยเรียน แต่มีบางการศึกษาที่พบว่าการกินนมแม่ ลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ได้บ้าง ดังตัวอย่างงานวิจัยที่ได้วิเคราะห์ผลการศึกษา 12 ชิ้น ซึ่งมีเด็กเข้าร่วมการศึกษา 8,183 คน เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวนาน 1 เดือน พบอัตราการเป็นโรคหืดน้อย และยังพบน้อยกว่าเมื่อแยกวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ (มีพันธุกรรมของโรคในครอบครัว) และล่าสุดจากการทบทวนผลงานวิจัยทั้งหมด 4,000 ชิ้น ผลพบว่าการกินนมแม่อย่างน้อย 4 เดือน จะลดโอกาสการเกิดโรคหืดในเด็กเล็กได้ ดังนั้นโดยสรุปการกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 4-6 เดือน สามารถลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กเล็กได้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะไม่เป็นโรคตอนโตขึ้น เพราะอาจมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กโต เช่น สารก่อแพ้จากไรฝุ่น รังแคสัตว์เลี้ยง เกสรพืช เป็นต้น อย่างไรก็ตามนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารก และมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกมากมาย จึงสมควรอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

3. การหลีกเลี่ยงอาหารก่อแพ้ในแม่ขณะให้นมบุตร ยังมีข้อมูลน้อยมากที่จะสรุปได้ว่าการให้แม่กลุ่มดังกล่าวงดอาการที่ก่อแพ้ง่ายได้แก่ นมวัว ไข่ และปลาทะเล จะป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ในลูกที่กินนมแม่ มีการศึกษาหนึ่งที่พบว่าอุบัติการณ์ของโรคผื่นผิวหนัง พบน้อยกว่าในเด็กทารก 1 ขวบปีแรก แต่ก็มีหลายการศึกษาที่พบว่าไม่มีผล ดังนั้นในขณะนี้ไม่ควรแนะนำให้แม่งดอาหารขณะให้นมบุตร

4. การกินนมพิเศษ มีข้อมูลมากพอที่พบผลดีของการให้นมพิเศษในทารกกลุ่มเสี่ยงแล้วสามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กเล็กได้ แต่ไม่มีข้อมูลว่าได้ผลในกลุ่มเด็กปกติที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว นมพิเศษที่พบว่าได้ผลคือ Extensively hydrolysed formula และ Partially hydrolysed formula แต่ไม่ได้ผลในการป้องกันโรคถ้าใช้ soy formula (นมถั่วเหลือง) และ goat formula (นมแพะ)


โดยสรุปนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก สามารถลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กเล็กได้ แต่ถ้ามีความจำเป็นแม่ไม่สามารถให้นมบุตรหลังคลอดได้ การให้นมพิเศษบางชนิดทดแทนควรมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้ให้เหมาะสม

เขียนโดย: รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์
หน่วยโรคภูมิแพ้ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

*ขอบคุณข้อมูลจาก : facebook/นมแม่