นัดพบแพทย์

ปวดศีรษะบ่อยอย่านิ่งนอนใจ

22 Sep 2016 เปิดอ่าน 2140

อาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุที่ร้ายแรงและอาจบรรเทาไปเอง หรือกินยาแก้ปวดก็หายได้ แต่ถ้าปวดบ่อยคงนิ่งนอนใจไม่ได้ ควรสังเกตอาการ หาความสัมพันธ์ว่าปวดศีรษะนั้นๆ มีปัจจัยอะไรที่ทำให้ปวดซ้ำๆ เช่น อาการปวดเป็นบริเวณไหน ปวดอย่างไร มักเป็นเวลาไหน อะไรทำให้อาการดีขึ้น อะไรทำให้อาการแย่ลง และมีอาการใดนำหรือตามหลัง
       
  พญ.สิรารัตน์ โมรรัต อายุรกรรมประสาทวิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนนทเวช กล่าวว่า อาการปวดศีรษะมาจาก 3 สาเหตุหลัก
 
          1.ปวดศีรษะจากความเครียดและกล้ามเนื้อรอบศีรษะตึงตัว ซึ่งพบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะรู้สึกมึนศีรษะเหมือนสมองถูกบีบรัด อาการปวดอาจร้าวลงท้ายทอยหรือร้าวลงบ่าไหล่ บางคนปวดเป็นจุดวงกว้างบนศีรษะและอาจพบอาการปวดบริเวณเบ้าตาร่วมได้ การเดินหรือวิ่งอาจทำให้ปวดเพิ่มได้ ส่วนมากอาการมักเกิดช่วงบ่ายหลังทำงานล้ามาทั้งวัน สาเหตุมาจากพักผ่อนไม่พอเพียง เครียด บางรายพบอาการหลังดื่มแอลกอฮอล์
 
          การรักษา ควรพักผ่อนให้เพียงพอเป็นเวลาและหลับสนิท เพราะจะเป็นการคลายกล้ามเนื้อที่ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการทำงานเมื่อยล้าต่อเนื่องเป็นเวลานาน หากอาการไม่ทุเลาควรพบแพทย์เพื่อให้ยาที่คลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ยาบรรเทาอาการปวด
 
          2.ปวดศีรษะจากหลอดเลือด แบ่งเป็น 2 ข้อ 1.ปวดไมเกรน มักมีอาการปวดศีรษะบีบๆ ตรงขมับข้างใดข้างหนึ่ง บางรายปวดสองข้างพร้อมกัน เวลาปวดมักร้าวไปกระบอกตาและมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อาจมีอาการนำก่อนเกิด โดยสิ่งที่กระตุ้นให้เกิด เช่น นอน พักผ่อนไม่พอเพียง วิตกกังวล ร้อน ตื่นเต้นตกใจ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นไม่ชอบ ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง การป้องกันให้หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังกล่าว การรักษาไม่หายขาด แต่จะช่วยให้ความรุนแรงลดลงและการเกิดไมเกรนห่างออกไป ช่วงปวดรุนแรงให้พักหลับในที่เงียบมืดดีที่สุด หากไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
          อย่างที่ 2 ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ มักพบในผู้ชายอายุ 20-40 ปี มักปวดศีรษะซีกเดียวหรือหน้าครึ่งซีก โดยเฉพาะกระบอกตาลึกๆ และบริเวณใกล้เคียง มีตาแดง น้ำตาไหล และคัดจมูกในด้านเดียวกัน อาการปวดมักมาเป็นชุดๆ ตามชื่อ ในช่วงที่โรคกำเริบ จะเกิดอาการหลังมีการกระตุ้นจากแอลกอฮอล์ การขึ้นที่สูง ได้ยากลุ่มไนเตรต อาหารที่มีไนเตรต แต่ช่วงที่โรคสงบสิ่งกระตุ้นดังกล่าวจะไม่มีผลให้เกิดอาการปวด
 
          3.อาการปวดศีรษะที่เกิดจากความผิดปกติในสมอง เช่น เนื้องอกในสมองชนิดต่างๆ การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองหรือเนื้อสมอง ฝีในสมอง เส้นเลือดสมองแตก เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองโป่งพอง อาการปวดศีรษะจากโรคในกลุ่มนี้ที่ปวดมากขึ้นเป็นลำดับจากสิ่งที่ผิดปกติมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความดันในช่องศีรษะที่เพิ่มขึ้น อาการปวดจะอยู่ลึกๆ ในศีรษะและมีอาการทางระบบประสาทปรากฏร่วม เช่น มีอาการแขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด กลืนสำลักหรือการได้ยินลดลง อาเจียนพุ่ง ซึม ชัก หมดสติได้ เป็นกลุ่มอาการที่แพทย์ต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
 
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news.php?names=15&news_id=8049