รู้หรือไม่ ทำไมเราควรต้องส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 45 ปี
สมาคมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ให้ทำการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อมีอายุ 45 ปี โดยอาจทำด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือตรวจหาเลือดในอุจจาระ อย่างไรก็ดีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ดีกว่าที่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งโดยการตัดติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ที่พบออก ซึ่งเทคโนโลยีการส่องกล้องในปัจจุบันได้พัฒนาไปอย่างมาก และปลอดภัยในมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้วิธีการตัดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกลำไส้ใหญ่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยแพทย์ผู้ส่องกล้องผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้เทคโนโลยีการปรับแสง (Image Enhanced Endoscopy) เพื่อวิเคราะห์ว่าเป็นติ่งเนื้อชนิดไหน ต้องทำการตัดออกหรือไม่ หรือเป็นมะเร็งไปหรือยัง
เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่าเป็นติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง หรือเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น ก็สามารถตัดออกให้หายขาดได้ โดยติ่งเนื้อขนาดเล็กสามารถตัดได้ด้วยวิธีปกติ (Polypectomy หรือ Endoscopic mucosal resection) ส่วนติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่ แพทย์ส่องกล้องที่เชี่ยวชาญสามารถตัดด้วยวิธี Endoscopic submucosal dissection ซึ่งอาศัยการควบคุมกล้องขั้นสูง เพื่อใช้เครื่องมือตัดก้อนเนื้อออกให้หมดและเป็นชิ้นเดียว (En bloc resection) ซึ่งทำให้มีโอกาสหายขาดได้สูง กลับมาเป็นซ้ำต่ำ อย่างไรก็ตามแพทย์ที่สามารถตัดติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ด้วยวิธี Endoscopic submucosal dissection นี้มีอยู่อย่างจำกัด และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นลำไส้ใหญ่ทะลุได้ โดยเฉพาะแพทย์ผู้ที่เริ่มฝึกทำ
สิ่งที่ผู้ป่วยกลัวมากที่สุดในประสบการณ์ผมเมื่อต้องมาส่องกล้อง คือความเจ็บปวด ซึ่งแท้จริงแล้วขณะทำมีการฉีดยาให้หลับ และยาแก้ปวด (Sedation) ซึ่งผู้ป่วยไม่ได้รับรู้อะไร เหมือนหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาหลังทำ
ดังนั้นผมในฐานะแพทย์ผู้ส่องกล้องอยากเชิญชวนให้ทุกท่านมารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่ออายุถึง 45 ปี หรือมีอาการขับถ่ายผิดปกติ ในอนาคตผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนคนไทยจะได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่ออายุถึงเกณฑ์ เหมือนดังประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสหรัฐอเมริกา
ผศ.(พิเศษ) นพ. สุกิจ ภัทรเจียรงพันธุ์
หน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ภาควิชาศัลยศาสตร์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์