นัดพบแพทย์

แพ้อาหาร

01 Mar 2017 เปิดอ่าน 2955

คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าลูกของคุณพ่อคุณแม่แพ้อาหาร ถ้าอยู่ที่บ้านคงจะพอระวังกันได้ แต่ถ้าไปโรงเรียนเมื่อไหร่ ย่อมมีโอกาสพลาดได้ทุกเมื่อ เพราะน้องก็คงไม่รู้ว่าตัวเองทานอะไรเข้าไปแล้วจะแพ้บ้าง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเข้าใจถึงอาการแพ้ และเรียนรู้การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ว่าต้องทำอย่างไรหากลูกของคุณเกิดแพ้อาหารขึ้นมา

การแพ้อาหาร (Food Allergy)

อาการผิดปกติของร่างกายที่แสดงออกมาหลังทานอาหารบางอย่างที่ร่างกายแพ้เข้าไป โดยสาเหตุของความผิดปกติเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการแสดงที่พบได้บ่อยคือ

  • ระบบผิวหนัง ได้แก่ ลมพิษชนิดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ผื่นผิวหนังอักเสบ บวมรอบปากหรือตา
  • ระบบหายใจ ได้แก่ อาการจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ บวมบริเวณกล่องเสียงและหลอดลม หรือหืด (เหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด)
  • ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการคันปาก คันคอ คันลิ้น ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายมีเลือดปน หรือลำไส้อักเสบ
  • ระบบหัวใจ ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ ช็อก

โดยผู้ป่วยอาจมีอาการหลายระบบร่วมกันทั่วร่างกาย อาจรุนแรงถึงขั้นช็อก หมดสติ ถึงแก่ชีวิตได้

อาหารที่พบว่าแพ้บ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี ปลา อาหารทะเล ถั่วลิสง ถั่วจากพืชยืนต้น เช่น อัลมอนต์ วอลนัท ฮาเซลนัท มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

การรักษาการแพ้อาหารแบบไม่รุนแรง

หากลูกของคุณพ่อคุณแม่มีอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง เช่น มีผื่นลมพิษตามผิวหนัง การรักษาก็ทำได้โดยง่าย โดยการให้ยาแก้แพ้กลุ่ม antihistamine เช่น atarax, chlorpheniramine (CPM) ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้อาการคัน และผื่นลมพิษ ทุเลาลงได้เร็ว ทั้งนี้การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และอ่านเอกสารกำกับยาทุกครั้ง หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน

การรักษาในกรณีฉุกเฉิน หรือกรณีแพ้อาหารรุนแรง

ในเด็กบางรายการแพ้แบบผื่นลมพิษ เป็นเพียงอาการเริ่มแรกของการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่า นอกจากอาการผื่นลมพิษแล้ว ลูกของคุณมีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจไม่ออกด้วยหรือไม่ มีอาการบวมมากขึ้น โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า รอบตา รอบปาก มีอาการพูดหรือหายใจไม่ได้ร่วมด้วยหรือไม่ มีคลื่นไส้อาเจียน และปวดท้องด้วยหรือเปล่า ถ้าพบอาการเหล่านี้แสดงว่าเป็นอาการแพ้แบบรุนแรง ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว ภาวะเช่นนี้เรียกว่า angioedema และที่รุนแรงกว่านั้นคือ anaphylaxis ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ถ้าทำการรักษาช้า ซึ่งอาการแพ้อย่างรุนแรงต้องให้การรักษาด้วยการฉีดยา adrenaline และการปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วน ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญและอุปกรณ์ที่พร้อม

หากลูกของคุณมีอาการแพ้อย่างรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้

  • อ่านรายการส่วนผสมที่นำมาประกอบอาหารให้น้องทานอย่างละเอียด
  • บอกสมาชิกในครอบครัวคนอื่นให้ทราบว่าน้องแพ้อาหารชนิดใด และทราบถึงวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีฉุกเฉินเมื่อน้องมีอาการแพ้
  • แจ้งให้พี่เลี้ยงและครูที่โรงเรียนทราบถึงชนิดของอาหารที่แพ้ และการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องเมื่อเกิดอาการ
  • พกเข็มฉีดยา adrenaline ติดตัวน้องไว้ เนื่องจากถ้าน้องมีอาการแพ้อาหารรุนแรงจะสามารถใช้ยาฉีดได้นี้ทันที อย่างไรก็ตาม ควรพาน้องไปโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อรับการรักษาต่อ และการดูแลอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาล
  • การทำ oral Immunotherapy คือ การสร้างภูมิต้านทานการแพ้อาหาร ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ต้องรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์ สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี

โดย : ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/