นัดพบแพทย์

ไวรัสตับอักเสบบี

09 Jan 2017 เปิดอ่าน 2894

ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับในคนไทย  จากข้อมูลการสำรวจพบว่าประชากรไทยประมาณเกือบครึ่งเคยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย  แต่เพียงประมาณร้อยละ 5 คิดเป็นประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้นที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง  โดยที่ส่วนมากไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย  ในอดีตมักเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า เป็นพาหะของโรค  ความรู้ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่เรียกตนเองว่าเป็นพาหะของโรค เมื่อติดตามไปนาน ๆ พบว่าอัตราการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับจะเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นหลายเท่าตัว  โดยเฉพาะในเพศชายและคนที่มีประวัติญาติสายตรงในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ  โดยความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

เนื่องจากตับในภาวะปกติไม่ได้ทำงานเต็มสมรรถนะ มีการสำรองความสามารถในการทำหน้าที่ของตับไว้อย่างดี ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน หรือเพิ่งเริ่มเป็นตับแข็งจึงอาจไม่แสดงอาการได้  แต่เมื่อภาวะตับแข็งเป็นมากขึ้นจนตับไม่สามารถชดเชยการทำงานที่สูญเสียไปได้ ผู้ป่วยจึงแสดงอาการ เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง ท้องโตขึ้น เนื่องจากมีภาวะน้ำในช่องท้อง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น  การตรวจพบและรักษาภาวะตับอักเสบเรื้อรังตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้

ไวรัสตับอักเสบบีติดต่อได้หลายทาง ที่สำคัญคือ
1. ติดต่อจากมารดาสู่ทารก ขณะคลอด โดยเฉพาะมารดาที่ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ภายในร่างกาย หากการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในขวบปีแรกของทารก โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อเรื้อรังจะสูงมาก การติดต่อจากมารดาสู่ทารกเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

2. ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฝังเข็ม การฉีดหรือเจาะตามร่างกายที่ไม่ถูกวิธีและไม่ได้ทำโดยวิธีปลอดเชื้อ

3.ติดต่อทางการให้เลือด ฟอกไต การปลูกถ่ายอวัยวะ

4.ติดต่อจากบุคคลในบ้าน โดยการใช้ของใช้ที่อาจปนเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี


เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายเชื้อไวรัสจะเข้าไปฟักตัวในตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบบีเฉียบพลัน ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วย จะไม่แสดงอาการชัดเจน อาการที่พบ เช่น ไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ตามมาด้วยตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าได้รับการตรวจเลือดจะพบว่าค่าการทำงานของตับ (AST และ ALT) สูงขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ ผู้ป่วยส่วนน้อยจะกลายเป็นตับอักเสบบีเรื้อรังการตรวจเลือดของโรคไวรัสตับอักเสบบี
ในการตรวจกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาศัยการตรวจเลือดเป็นหลัก โดยการตรวจเลือดหาส่วนเปลือกนอกหรือผิวของไวรัสบี (HBsAg) ซึ่งจะพบได้ทั้งในผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลันและเรื้อรัง ตรวจเลือดหาภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Anti-HBs) และตรวจ Anti-HBc ซึ่งถ้าให้ผลบวกบ่งชี้ว่าเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน
นอกจากนั้นในรายที่ตรวจพบแล้วว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่อาจตรวจหาปริมาณของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV viral load) เพื่อช่วยประเมินและติดตามการรักษา

การรักษาไวรัสตับอักเสบบี
ในกรณีของไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง การจะกำจัดเชื้อไวรัสให้หมดจากร่างกายนั้นทำได้ยากมาก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือโอกาสหายขาดนั้นน้อยมาก จุดมุ่งหมายที่สำคัญการรักษา จึงเพื่อลดการอักเสบของตับเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ
ในปัจจุบันการรักษามีให้เลือกทั้งยาฉีดและยากิน

1.ยาฉีดกลุ่มอินเตอร์เฟอรอน (Interferon-based) ซึ่งออกฤทธิ์เสริมภูมิต้านทานและกดไวรัส ข้อดีของยาคือเป็นการรักษาที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน และไม่พบการดื้อยาหรือการกลายพันธุ์ของไวรัส ข้อเสียคือ ราคาแพง ผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึมเศร้าและในกรณีของผู้ที่มีการทำงานของตับลดลงมาก เช่น เป็นตับแข็งระยะสุดท้าย อาจเกิดภาวะตับวายได้ ซึ่งในกรณีหลังนี้ พบน้อยมาก

2.ยารับประทานต้านไวรัส (Antiviral therapy) ซึ่งมีหลายชนิด ผลข้างเคียงน้อยมาก ราคาถูกกว่ายาฉีด แต่ระยะเวลาการรักษายาวนานกว่ายาฉีด และในบางรายอาจต้องรับประทานยาเกือบตลอดชีวิต ยารับประทานต้านไวรัสอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์หรือการดื้อยา ซึ่งมีความแตกต่างกันตามชนิดของยา กรณีเกิดการดื้อยาหรือการกลายพันธุ์ ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชนิดทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นได้

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บีเรื้อรัง
1.รับประทานอาหารให้เหมาะสม ลดอาหารที่มีแป้งและไขมัน เพราะจะทำให้อ้วน  ซึ่งไขมันจะไปเกาะที่ตับ ทำให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้นได้ หลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วป่นและพริกแห้ง ซึ่งอาจมีสารอัลฟลาทอกซินปนเปื้อนอยู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

2.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3.หลีกเลี่ยงการกินยาสมุนไพรและอาหารเสริมเกินความจำเป็น

4.ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ  หากตรวจเลือดพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน

5.งดการบริจาคโลหิต

6.ตรวจเลือด และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ  ในกรณีที่มีภาวะตับแข็งแล้วควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน อย่างสม่ำเสมอทุก 6-12 เดือน เพื่อเฝ้าระวังมะเร็งตับ

ขอบคุณบทความจาก : http://healthnewsdaily.blogspot.com/2012/04/blog-post_4198.html