นัดพบแพทย์

6 ปัญหาเท้าผิดรูปในเด็กเล็ก

31 Aug 2016 เปิดอ่าน 3163

เท้าเป็นอวัยวะหนึ่งที่ได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากการมีเท้าที่สมบูรณ์ไม่ผิดรูป อย่างน้อยคุณพ่อคุณแม่ก็อุ่นใจไปได้เปลาะหนึ่งว่า ลูกน่าจะไม่มีปัญหาในการเดิน แต่ในเด็กบางคนก็มีโอกาสมีปัญหาเรื่องเท้าผิดรูปตั้งแต่เกิดได้เหมือนกัน

เท้านั้นสำคัญไฉน
เท้าประกอบด้วยนิ้วเท้าและตัวเท้า นิ้วเท้าแต่ละเท้าจะเรียงจากใหญ่ไปเล็ก มีจำนวน 5 นิ้วเท่ากับนิ้วมือ ส่วนตัวเท้าจะมีรูปร่างรีๆ อาจมีความโค้งเล็กน้อยทางขอบเท้าด้านในหรือส่วนที่เรียกว่าอุ้งเท้า ส่วนขอบเท้าด้านนอกต้องตรง

เท้าของคนเราจะประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้นต่อกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นได้หลายทิศทาง ความยืดหยุ่นนี้เองทำให้เกิดความนุ่มนวลเวลาเดิน และแรงกระทบต่างๆ ที่เท้า จะกระจายได้สม่ำเสมอทั่วทั้งเท้า ไม่เป็นจุดกดเจ็บ ส่วนของเท้าต่อไปกับหน้าแข้งบริเวณข้อเท้า การทำงานของเท้าที่ดีจะต้องมีการเคลื่อนไหวที่ดีของข้อเท้าร่วมด้วย การเดินของคนเรา อาศัยการสั่งงานจากสมอง ส่วนของเท้าทั้งหมด จะทำหน้าที่เคลื่อนไหว และช่วยกันรับน้ำหนักตัวเวลายืน เดิน วิ่ง และกระโดด หากการเคลื่อนไหวของข้อต่างๆ ในเท้าและข้อเท้าไม่ดี มีข้อยึด แม้เท้าก็ยังพอจะช่วยรับน้ำหนักตัวได้ แต่ความนุ่มนวลในการเดินจะเสียไป ทำให้เดินได้ไม่สวย การกระจายของแรงมาที่ส่วนต่างๆ ของเท้าจะไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นที่มาของอาการเจ็บเท้าได้

เท้าผิดรูปในเด็กเล็ก
เรามาดูกันว่า มีความผิดปกติเกี่ยวกับเท้าอะไรบ้างที่สามารถพบได้ในเด็กเล็กช่วงแรกเกิด

1. นิ้วเท้ามีลักษณะเกหรือเอียงไป

นิ้วเกหรือนิ้วงุ้ม มักเกิดกับนิ้วนางและนิ้วก้อย ถ้าสังเกตดูเท้าของคุณพ่อคุณแม่ก็อาจพบลักษณะแบบเดียวกัน เนื่องจากมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยทั่วไปนิ้วจะงอค่อนข้างมากในช่วงแรกเกิด แต่จะค่อยๆ งอน้อยลงเมื่อโตขึ้น และมักไม่มีผลเสียอะไรชัดเจน

การรักษาเป็นการสังเกตอาการเป็นส่วนใหญ่ ไม่พบว่าการดามนิ้วจะทำให้นิ้วหายดีกว่าการค่อยๆ สังเกตอาการไป มีน้อยคนมากที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วนิ้วยังผิดรูปมาก และเดินเจ็บจนอาจจะต้องรักษาโดยการผ่าตัด

2. นิ้วเท้าอาจมีจำนวนมากหรือน้อยกว่าเท้าละ 5 นิ้ว

ปกตินิ้วที่ขาดไปมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร และสังเกตเห็นได้ยาก แต่นิ้วที่เกินอาจเบียดกันในรองเท้า และทำให้เจ็บนิ้วเท้าได้ ปัญหาเรื่องรองเท้าบีบแก้ไขโดยใส่รองเท้าที่หัวกว้าง แต่ในบางคนส่วนเกินมีมาก แม้ใส่รองเท้าหัวกว้างก็ยังเจ็บ อาจต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัดนิ้วส่วนที่เกินออก

3. นิ้วเท้าติดกัน

มักไม่เป็นปัญหาหากนิ้วเชื่อมติดกันตลอดทั้งนิ้ว แต่หากมีส่วนของนิ้วที่เป็นร่องระหว่างกันเหลืออยู่ ก็จะทำให้ทำความสะอาดร่องนิ้วเท้าลำบาก มีสิ่งสกปรกหมักหมมได้ การรักษาใช้การผ่าตัดแยกนิ้ว

4. เท้ากระดกขึ้นและบิดออกข้าง

เป็นลักษณะของเท้าผิดรูปที่พบบ่อยที่สุด คือหลังเท้าจะวางแนบไปกับกระดูกหน้าแข้ง พบบ่อยในเด็กท้องแรก เชื่อว่าเป็นจากการที่มดลูกของแม่ยังไม่เคยขยายตัวมาก่อน เมื่อเด็กโตขึ้นการขยับตัวลำบากเพราะถูกเบียดอยู่ในมดลูก เท้าไปยันกับผนังมดลูกอยู่หลายเดือน เมื่อคลอดออกมาเท้าจึงมีการกระดกผิดรูปค้างอยู่ ความผิดปกตินี้ดูน่าตกใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่มาก แต่ยังโชคดีที่หลังคลอด เท้าได้มีโอกาสขยับได้เต็มที่ ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ก็จะค่อยๆ หายได้เอง

5. โรคเท้าปุก

เป็นโรคของเท้าที่พบบ่อย คือส้นเท้ามีลักษณะบิดเข้าใน ขอบข้างของเท้าโค้งมาก และเท้าอยู่ในท่าเขย่ง เมื่อจับเท้าขยับดูจะพบว่าขยับเท้าได้ยาก เพราะข้อต่างๆ จะยึดตั้งแต่ปลายเท้าถึงข้อเท้า โรคนี้อาจเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ดังนั้น เมื่อวินิจฉัยโรคนี้ได้แล้ว ควรมองหาว่ามีโรคอื่นเกิดร่วมด้วยหรือไม่

โชคดีที่ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโดยการค่อยๆ ดัดเท้าผู้ป่วยแล้วใส่เฝือก ได้ผลดีมาก ข้อสำคัญต้องเริ่มรักษาตั้งแต่อายุน้อยๆ เริ่มรักษาได้ตั้งแต่เกิดมาวันแรก บางคนเริ่มรักษาช้าก็ยังรักษาได้ แต่อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด โรคนี้มีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น หากพ่อแม่เคยเป็นโรคนี้ ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าเด็กทั่วไป

6. โรคเท้าโค้ง

เกิดจากส่วนครึ่งหน้าของเท้าโค้งเข้า เมื่อมองเท้าจากด้านฝ่าเท้า จะเห็นขอบข้างของเท้าโค้ง หากเป็นไม่มากนัก ลองเอามือดัดดู อาจพบว่าเท้าถูกดันไปอยู่ในแนวตรงได้ ในเด็กกลุ่มที่มีอาการไม่มาก เมื่อสังเกตอาการไป เท้าอาจค่อยๆ ตรงได้เองใน 6-12 เดือน แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงไม่สามารถดัดเท้าให้ตรงได้ควรรักษาโดยการใส่เฝือก เด็กที่ได้รับการรักษาตั้งแต่ยังเล็ก มักหายดีโดยไม่ต้องผ่าตัด

โรคนี้อาจพบร่วมกับข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด จึงมีความสำคัญที่จะต้องตรวจร่างกายส่วนสะโพกให้ละเอียด หากไม่แน่ใจผลการตรวจ อาจพิจารณาตรวจอัลตร้าซาวนด์ของสะโพกร่วมด้วย

เท้าผิดรูปบอกอะไรอีก

เนื่องจากสมองเป็นตัวที่ควบคุมการทำงานของเท้า ดังนั้น หากระบบประสาทและสมองผิดปกติ อาจเห็นได้จากความผิดรูปของเท้าได้ด้วย โรคทางสมองที่ทำให้เกิดการเขย่งของเท้าได้บ่อยคือโรคสมองพิการ ซึ่งพบบ่อยในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือคลอดลำบาก เด็กกลุ่มนี้มักจะเดินช้า ตัวเกร็ง และอาจมีอาการกระตุกหรือชัก หากมีอาการเช่นนี้ควรพบแพทย์ทางระบบประสาทเพื่อรักษาอาการทางสมองก่อน เพราะการแก้ไขปัญหาของเท้าสามารถทำได้ภายหลัง

จะเห็นว่าโรคของเท้ามีหลากหลาย โรคต่างๆ เหล่านี้ไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด ทำให้ป้องกันลำบาก แต่ก็ไม่ต้องกังวลใจครับ เพราะส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง หรือรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ข้อสำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ คุณพ่อคุณแม่ที่เคยป่วยเป็นโรคของเท้าตั้งแต่เด็ก ควรนำลูกมาตรวจเท้าตั้งแต่ช่วงแรกเกิด หากตรวจพบความผิดปกติ จะได้รีบให้การรักษาทันทีครับ

 

โดย: นพ.ปริยุทธิ์ เจียรพัฒนาคม
หัวหน้าหน่วยโรคกระดูกเด็ก ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://women.mthai.com/momandchildren/mom-child/83974.html