| โดย นพ.รณศักดิ์มงคลรังสฤษฎ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ อนุสาขาข้อเข่าและข้อสะโพก
ผ่าตัดข้อสะโพกเทียมคืออะไร?
การผ่าตัดข้อสะโพกเทียม (Total Hip Replacement) คือการเปลี่ยนข้อสะโพกที่สึกหรอหรือเสียหาย ด้วยข้อสะโพกเทียมที่ทำจากวัสดุพิเศษ เช่น โลหะ เซรามิก หรือพลาสติกคุณภาพสูง เพื่อทดแทนการทำงานของข้อสะโพกเดิม ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดิน นั่ง ยืน และทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น
การผ่าตัดนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งเทคนิคและวัสดุ ทำให้ปัจจุบันข้อสะโพกเทียมมีอายุการใช้งานยาวนาน และลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนลงมาก
ผ่าตัดข้อสะโพกเทียมเหมาะกับใคร?
- ผู้สูงอายุที่มี ข้อสะโพกเสื่อม จากอายุหรือการใช้งาน หรือ ความผิดปกติตั้งแต่เกิด
- ผู้ที่มี ข้อสะโพกเสื่อม จากอุบัติเหตุ
- ผู้ป่วยที่มี ข้อสะโพกเสื่อม จาก โรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์
- ผู้ที่รู้สึกว่า คุณภาพชีวิตลดลง จาก ข้อสะโพกเสื่อม เดินไม่ได้ไกลเหมือนเดิม ต้องใช้เครื่องช่วยเดิน
ข้อจำกัดของการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม
- ข้อสะโพกเทียมมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 15–20 ปี (แล้วแต่อายุการใช้งานและการดูแล)
- ยังต้องระวังการเคลื่อนไหวบางท่า เช่น นั่งไขว่ห้าง หรือ ก้มตัวลึกเกินไป หลังผ่าตัด
- การผ่าตัดมีความเสี่ยงเหมือนการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ หรือเส้นเลือดอุดตัน
ข้อดีของการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม
- บรรเทาอาการปวดเรื้อรังที่สะโพก
- เพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว เดินได้มั่นคงขึ้น ลดโอกาสหกล้มในผู้สูงอายุ
- ช่วยให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เกือบปกติ เช่น ขับรถ ท่องเที่ยว
- ลดการใช้ยาแก้ปวดเรื้อรังที่อาจมีผลข้างเคียงจากยา
ข้อเสียที่ควรรู้
- มีโอกาสเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน เช่น ข้อสะโพกหลุด หรือการติดเชื้อ แม้จะมีโอกาสน้อย
- ข้อสะโพกเทียมอาจสึกหรอได้เร็วกว่ากำหนด เมื่อใช้งานหนัก โดยเฉพาะในผู้ที่น้ำหนักตัวมาก
- บางปัญหาอาจต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมซ้ำ (Revision surgery) เช่น การติดเชื้อ
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึง X-ray ข้อสะโพก
- งดอาหารและน้ำก่อนการผ่าตัดตามคำแนะนำแพทย์
- หยุดยาบางชนิด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด(ตามแพทย์สั่ง)
- ปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะกับการพักฟื้น เช่น จัดที่นอนให้อยู่ชั้นล่าง ไม่ต้องขึ้นบันได, ติดราวจับในห้องน้ำ, ปรับทางเดินให้กว้าง เพื่อให้ใช้ไม้เท้า 4 ขา(walker) ได้สะดวก
- เตรียมไม้เท้า ไม้ค้ำยัน หรือวอล์กเกอร์ช่วยพยุงตัวหลังผ่าตัด
ขั้นตอนการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม
- ดมยาสลบ หรือ บล็อกหลัง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการพิจารณาของวิสัญญีแพทย์
- เปิดแผลผ่าตัด ที่บริเวณสะโพก ความยาวและตำแหน่งแผล ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่เลือกใช้
- นำข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมออก และใส่ข้อสะโพกเทียมเข้าไปแทนที่
- เย็บแผลและปิดแผลอย่างเรียบร้อย พร้อมวางแผนการฟื้นฟูทันทีหลังผ่าตัด
โดยปกติการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1.5–2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความซับซ้อน
การพักฟื้นหลังผ่าตัดข้อสะโพก
- 1-2 วันแรก: เริ่มลุกนั่งบนเตียงภายใต้การดูแลของทีมแพทย์
- 3-7 วัน: เริ่มฝึกเดินด้วยวอล์กเกอร์หรือไม้ค้ำยัน
- 2-6 สัปดาห์: ทำกายภาพบำบัดเพิ่มการเคลื่อนไหว
- หลัง 3 เดือน: สามารถเดินได้ใกล้เคียงปกติ และทำกิจกรรมเบาๆ ได้
- 6 เดือนขึ้นไป: ข้อสะโพกมีความแข็งแรงมากขึ้น สามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- การติดเชื้อ บริเวณแผลผ่าตัดหรือรอบข้อสะโพก
- ข้อสะโพกหลุด หากขยับผิดท่าในช่วงฟื้นตัว
- ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (DVT) จำเป็นต้องป้องกันด้วยการให้ยาและขยับตัวเร็วหลังผ่า
- การเสื่อมของข้อเทียม เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน
- เส้นประสาทบาดเจ็บ (พบได้น้อยมาก)
อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์และพยาบาล จะดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดข้อสะโพก
- อย่าไขว่ห้างหรืองอตัวเกิน 90 องศาในช่วงแรก
- ใช้วอล์กเกอร์หรือไม้ค้ำยันตามแพทย์แนะนำ
- ระวังการลื่นล้มในบ้าน
- กินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
- นัดตรวจตามกำหนดเพื่อดูความแข็งแรงของข้อสะโพก
การออกกำลังกายหลังผ่าตัดข้อสะโพก
หลังจากข้อสะโพกแข็งแรงดีแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เช่น
- เดินเบาๆ บนพื้นเรียบ
- ปั่นจักรยานอยู่กับที่ (หลัง 2-3 เดือน)
- ว่ายน้ำ หรือ แอโรบิกในน้ำ (หลังแผลหายสนิท)
- โยคะเบาๆ (ท่าไม่ก้มงอข้อสะโพกเกินไป)
ข้อควรระวัง: หลีกเลี่ยงการกระโดด หรือกีฬาที่มีแรงกระแทกสูง เช่น บาสเกตบอล วิ่งมาราธอน
สรุป
การผ่าตัดข้อสะโพกเทียม เป็นการรักษาที่ช่วยคืนชีวิตใหม่ให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อสะโพกเสื่อม หรือบาดเจ็บจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง การฟื้นตัวหลังผ่าตัดจึงสามารถเป็นไปอย่างปลอดภัย และให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
นพ.รณศักดิ์ มงคลรังสฤษฎ์ (ว 37226)
พร้อมให้การดูแลแบบใส่ใจ เพื่อพาคุณกลับมาใช้ชีวิตอย่างมั่นใจอีกครั้ง