เวลาเราไปรักษากับแพทย์ มักจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น กล้ามเนื้ออักเสบ แต่หลายคนมักจะกังวล เพราะบางท่านอาการก็เป็นหนัก อาจถึงขนาดขยับไม่ได้ หรือบ้างก็มีอาการชา อย่างนี้จะมีโรคอะไรอย่างอื่น ซ่อนอยู่รึเปล่านะ
-------------------------------------
ก่อนอื่น เรามาดูลักษณะของกล้ามเนื้อกันก่อน กล้ามเนื้อนั้น เป็นกลุ่มเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียงตัวต่อเนื่องกัน เหมือนก้อนเส้นเชือกนุ่มๆ เมื่อมีการหดตัว ก็จะดึงรั้งอวัยวะ ให้เกิดการเคลื่อนไหว เช่นเวลาเราจะงอข้อศอก ก็จะมีการเกร็งกล้ามเนื้อต้นแขน (Biceps muscle) เพื่อดึงท่อนแขนงอศอกขึ้นมา
เมื่อเรามีการใช้งานมากๆ กล้ามเนื้อก็จะมีการใช้อาหารไปแล้วปล่อยของเสียออกมาในรูปของกรดแลกติก ถ้าเราใช้งานอย่างหนัก กรดตัวนี้ก็จะทำให้เรารู้สึกเมื่อยล้า และเมื่อใช้งานอย่างต่อเนื่อง กล้ามเนื้อก็จะเกิดการอักเสบ มีอาการปวดตามมาได้
นอกจากนี้ ถ้ากล้ามเนื้อเกร็งกระจุกตัวไม่คลาย เลือดจะเข้าไปเลี้ยงเซลล์ที่อยู่ด้านในสุดไม่ได้ เมื่อเซลล์ไม่ได้รับอาหารที่อยู่ในเลือด เซลล์ก็จะตายและทำให้มีอาการปวดเรื้อรังตามมา แม้กล้ามเนื้อนั้นจะได้รับการรักษาให้คลายออกแล้ว แต่อาการปวดอาจค่อยๆหายไป เมื่อร่างกายมีการสร้างเซลล์ มาทดแทน
ในบางครั้งเมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง หรืออาจไม่รุนแรงแต่มีความต่อเนื่องยาวนานพอ กล้ามเนื้อจะเกิดการฉีกขาดได้ อาการที่ตามมานอกจากจะปวดแล้ว จึงอาจถึงขนาดเจ็บสะดุ้งได้ด้วย
เมื่อร่างกายพบว่ามีอาการเจ็บปวดรุนแรง สมองก็จะสั่งการให้หยุดการเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนนั้นๆ กล้ามเนื้อรอบๆจะช่วยกันเกร็งตัวยึดอวัยวะส่วนนั้นไว้ เราจึงอาจพบว่าผู้ป่วยมีอาการแข็งเกร็ง เช่นคอแข็ง ขยับไม่ได้ เวลาหันหัว ต้องหมุนตัวตามไปด้วย หรืออาจก้มเงยไม่ได้ หลังยึด เส้นยึด เป็นต้น หรือในบางส่วนของร่างกาย อาจเกิดหยุดการทำงานไปเสียเฉยๆ เพื่อลดอาการเจ็บ เช่นบริเวณข้อไหล่ ข้อเข่า เมื่อมีอาการเจ็บ บางทีก็เข่าทรุดลงไป หรือยกแขนไม่ขึ้น ซึ่งในระยะยาว เมื่อร่างกายมีการสร้างพังผืดมาทดแทนกล้ามเนื้อส่วนที่บาดเจ็บอยู่เดิม ก็อาจจะทำการยึดอวัยวะนี้ให้อยู่กับที่อย่างถาวร ก็จะเป็นโรค ไหล่ติด เข่าติด ตามมา (Frozen shoulder, Stiff knee, Contracture joint)
อาการอักเสบ หรือบาดเจ็บของกล้ามเนื้อดังกล่าว ยังมักมีอาการบวมของกล้ามเนื้อร่วมด้วย หลายๆครั้งเมื่อมีการบวมของกล้ามเนื้อเกิดในพื้นที่แคบๆ เช่นเป็นการบวมของกล้ามเนื้อบริเวณร่องกระดูก หรือคอขอดของอวัยวะ ก็อาจจะไปกดเบียดเส้นเลือดเส้นประสาท ทำให้มีอาการชาร่วมด้วยได้ หรือถ้าเป็นบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ ก็อาจถึงหน้ามืด วิงเวียน อาเจียน ปวดตา ตาพร่าได้
--------------------------------------
จะเห็นได้ว่า กล้ามเนื้ออักเสบอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องมีอาการแค่ปวดเมื่อย แต่อาจมีอาการแสดงได้หลายๆอย่าง ความยากของแพทย์จึงอยู่ทำการพยายามซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคอันตรายอื่นๆ ที่อาจมีอาการแสดงคล้ายๆกันได้ เช่นกระดูกหัก ข้อเคลื่อน หมอนรองกระดูกกดทับ เป็นต้น
ซึ่งเมื่อแยกโรคต่างๆออกไปได้ แพทย์จะทำการรักษาเบื้องต้นให้ก่อน คือการแนะนำหลีกเลี่ยงสาเหตุ เพื่อรักษาที่ต้นเหตุ, ให้ยา แก้ไขอาการ ร่วมกับการทำกายภาพ การประคบ หรือการรักษาในส่วนของแพทย์แผนไทยประยุกต์
ระยะยาวจึงให้คำปรึกษาในการรักษาต่อเนื่อง การทำการบริหารยืดคลายกล้ามเนื้อ และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือถ้าไม่ดีขึ้นก็อาจมีการตรวจด้วยอุปกรณ์พิเศษต่อไป
--------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดบทความดีๆ มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจ โปรดกด Like และ Get notification เอาไว้นะครับ